ไพบูลย์ ไม่พอใจ ส.ว. อภิปรายให้ร้าย พปชร. ส่อเจตนาทุจริต

นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ฐานะผู้เสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งผลการลงมติ พบว่า ส.ว. ไม่มีผู้ใดที่ลงมติรับหลักการ  ทำให้ญัตติดังกล่าวตกไป ว่า ตนคาดการณ์ไว้ตั้งแต่เที่ยง วันที่ 24 มิถุนายน ว่า ส.ว. จะไม่รับหลักการ ทั้งนี้ไม่รู้สึกอะไร แต่ที่ไม่สบายใจ คือ การอภิปรายของส.ว.ที่อภิปรายพาดพิงกลุ่มผู้เสนอญัตติและพรรคพลังประชารัฐในเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม และตั้งประเด็นความต้องการทุจริต คอร์รัปชั่น แบบคิดไปเองและให้ร้าย ทั้งที่เนื้อหาที่เสนอแก้ไข มาตรา 144 ว่าด้วยงบประมาณ และ  มาตรา 185 ว่าด้วยการทำหน้าที่ของนักการเมืองต่อข้าราชการ ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ถูกยกมาจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550  และเป็นผลศึกษาของคณะกรรมาธิการฯ ชุดที่มีนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นประธานและไม่มีเจตนาจะทำให้เป็นเงื่อนไขที่นำไปสู่การทุจริต คอร์รัปชั่น อย่างไรก็ดีการลงมติ ส.ว. รวมถึงการอภิปราย เป็นเอกสิทธิ์ที่ทำได้ และต่อไปหากมีประเด็นใดที่เกี่ยวกับส.ว. ตนจะขอใช้เอกสิทธิ์ของตน เพื่ออภิปรายในประเด็นที่ไม่เห็นด้วย

นายไพบูลย์ ฐานะกรรมาธิการพิจารราร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 และ มาตรา 91 กล่าวด้วยว่า สำหรับเนื้อหาที่เสนอมีเพียง 2 มาตรา แต่เมื่อดูรายละเอียดเกี่ยวกับการเลือกตั้ง พบว่ายังมีมาตราอื่นของรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้อง อีก 6 มาตรา ซึ่งตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ให้สิทธิกรรมาธิการ แก้ไขในมาตราที่เกี่ยวข้องได้ แม้ไม่ได้เสนอร่างแก้ไข ดังนั้นเชื่อว่าจะไม่มีปัญหาในการพิจารณาชั้นกรรมาธิการ และกำหนดเวลาพิจารณา จะใช้ประมาณ 30 วัน จากนั้นจะเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภา ในวาระสอง ช่วงต้นเดือนสิงหาคม

แสดงความเห็น