คำนูณ การันตี ครม. ออกพ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้าน ไม่ขัด รธน.- “ส.ส.-ส.ว.” มีสิทธิยื่นตีความ

นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.  ให้ความเห็นต่อการมีผลบังคับใช้ พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ.2564 วงเงินไม่เกิน 5 แสนล้านบาท ในวันนี้ (25 พฤษภาคม) ว่า  การออก พ.ร.ก. ฉบับดังกล่าว ไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นการใช้อำนาจของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 และ มาตรา 140  ประกอบพ.ร.บ.ว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561  มาตรา 53  ที่กำหนดให้รัฐบาลสามารถกู้เงินได้โดยให้กระทรวงการคลังดำเนินการ ทั้งนี้กำหนดให้ดำเนินการเฉพาะกรณีที่มีความจําเป็นที่จะต้องดําเนินการโดยเร่งด่วนและอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตของประเทศ โดยไม่อาจตั้งงบประมาณรายจ่ายประจําปีได้ทัน  ส่วนที่หลายฝ่ายมองว่าควรรอการพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบฯ 65 นั้น แต่ข้อเท็จจริงพบว่า การเบิกจ่ายงบฯ ปี 65 จะเกินขึ้นวันที่ 1 ตุลาคม 2564 และหากจะะให้กู้เงิน ผ่าน พ.ร.บ.งบฯ65 ไม่สามารถทำได้เช่นกัน เนื่องจากเป็นงบประมาณขาดดุล และการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล นั้นใกล้เต็มวงเงินที่ พ.ร.บ.ว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 อนุญาตให้ทำ

นายคำนูณ ระบุด้วยว่า ตนไม่ทราบว่าพ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาทจะเข้าสภาฯ เมื่อใด แต่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 173  ส.ส. หรือ ส.ว. มีสิทธิเสนอความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ แต่เชื่อว่าศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยได้เพียงว่ากรณีดังกล่าวเป็นไปเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือปกป้องภัยพิบัติสาธารณะ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 172 วรรคหนึ่ง หรือไม่เท่านั้น ไม่มีอำนาจวินิจฉัยว่าเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 วรรคสอง 

แสดงความเห็น