จับท่าที-อาการของ “ตู่ จตุพร พรหมพันธุ์ ประธานนปช.-แกนนำคนเสื้อแดง” บนเวที “ไทยไม่ทน สามัคคีประชาชน เพื่อประเทศไทย” ที่สวนสันติพร อนุสรณ์สถานพฤษภาประชาธรรม เมื่อหัวค่ำวันอาทิตย์ที่ 4 เม.ย.ที่เป็นกิจกรรมรวมพลคนไม่เอา “บิ๊กตู่-พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา”
พบว่าแม้ จตุพร พรหมพันธุ์ จะปราศรัยฟาดหนักๆ เข้าใส่ บิ๊กตู่ ร่วมชั่วโมง แต่ว่ากันตามจริง เนื้อหา-ลีลา ที่ถล่มบิ๊กตู่ ซึ่งเป็นนายกฯมาจะร่วมเจ็ดปี บางช่วงบางตอน ยังเบากว่า ตอนจตุพร ปราศรัยบนเวทีเสื้อแดง หน้าทำเนียบรัฐบาลตอนชุมนุมใหญ่นปช.ปี 2552 และที่สะพานผ่านฟ้า-สี่แยกราชประสงค์ ตอนปี 2553 ที่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกฯเสียอีก
หรือจะเป็นเพราะ จตุพร พอเห็นคนที่มาร่วมกิจกรรมวันแรกของการเคลื่อนไหวภายใต้รหัส 4/4/4 แม้คนจะมาระดับหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้มากชนิดมืดฟ้ามัวดิน แบบที่ จตุพร เคยโวเอาไว้ และส่วนใหญ่ก็เป็น คนเสื้อแดงรุ่นลุงๆ ป้าๆ ส่วน คนรุ่นใหม่-คนหนุ่มสาว-วัยนักศึกษา แบบที่เคยมาเบิ้มๆ ตอนม็อบสามนิ้ว พองาน จตุพร สื่อกลับรายงานกันว่า แทบไม่มีภาพของคนรุ่นใหม่เหล่านั้นปรากฏตัวในกิจกรรมดังกล่าว
ขณะเดียวกัน นักเคลื่อนไหวทางการเมือง-นักกิจกรรมทางการเมืองที่มาปรากฏตัวในงาน ก็ไม่ปัง-ไม่เปรี้ยง ไม่สามารถเรียกความสนใจจากสื่อมวลชนและสังคมได้ หลายคนก็หมดสภาพ-ตกยุคไปนานแล้ว บางส่วนโนเนมไม่พอ ขึ้นเวทีปราศรัย ยังแผ่นเสียงตกร่อง เพราะยังปราศรัยด่านายกฯย้อนไปถึงตอนเป็นผบ.ทบ. ชนิดขนาดกองเชียร์ จตุพร ยังเบือนหน้าหนี
แล้วที่มาปรากฏตัว หากไม่นับพวกก๊วน นปช.เสื้อแดงสาย จตุพร ที่แยกทางกับ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ-ธิดา ถาวรเศรษฐ์ มาหลายปีแล้ว หลายคนที่มาแจมก็พวกขาประจำ ที่มักไปร่วมวงเสวนาด่ารัฐบาลทุกเรื่อง ที่จัดโดยกลุ่ม “สภาที่3” ภายใต้การนำของ อดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 อาทิเช่น วีระ สมความคิด-สมบูรณ์ ทองบุราณ อดีตส.ว.
ขณะที่ขาประจำ แขกรับเชิญของ “สภาที่ 3” หลายคน ที่ไม่เคยพลาดเวลาสภาที่ 3 ตั้งวงชำแหละรัฐบาล แต่รอบนี้ พอ “อดุลย์-จตุพร” ยกระดับจากเวทีเสวนาด่ารัฐบาลมาเป็นเวทีไล่ประยุทธ์ หลายคน ก็เลือกที่จะไม่มาปรากฏตัวให้เห็น
ไม่ว่าจะเป็น ปรีดา เตียสุวรรณ์ ประธานกรรมการ บริษัท แพรนด้า จิวเวลรี่ จำกัด (มหาชน)-ธีระชัย ภูวนารถนรานุบาล อดีตรมว.คลัง ยุครัฐบาลเพื่อไทย-พิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรมว.พลังงาน -พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต อาจารย์นิด้าและประธานครป. -ประสาร มฤคพิทักษ์ อดีตส.ว. -กษิต ภิรมย์ อดีต รมว.ต่างประเทศ-รสนา โตสิตระกูล อดีตส.ว.กทม. -น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา-โบว์ แกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง เป็นต้น ก็ไม่ได้มาร่วมปรากฏตัวเคลื่อนไหวในครั้งนี้ด้วยแต่อย่างใด ทั้งที่หลายคนเป็นขาประจำของสภาที่ 3 ในการวิพากษ์วิจารณ์พลเอกประยุทธ์มาหลายปีติดต่อกัน โดยหากบุคคลตามชื่อข้างต้น มาร่วมขึ้นเวทีปราศรัย ย่อมสร้างเสียงฮือฮา เรียกความสนใจจากสื่อและประชาชนในวงกว้างได้แน่นอน แต่ชื่อที่ถูกลิสต์ข้างต้น ก็ไม่ได้มาร่วมกิจกรรมดังกล่าวด้วยแต่อย่างใด ไม่ต้องนับรวมถึงระดับแกนนำ-ตัวจริงเสียงจริงในกลุ่มสีเสื้อแดงต่างๆ ทั้งพันธมิตรฯ เสื้อเหลือง-กปปส.นกหวีด -ม็อบปลดแอก คณะราษฎร 63 พบว่า แทบไม่ได้มาร่วมปรากฏตัวให้เห็น แม้ จตุพร-อดุลย์ จะพยายามเรียกร้องให้ออกมาร่วมกิจกรรมไล่พลเอกประยุทธ์
จะมีที่พอน่าสนใจบ้าง ก็มีแค่บางคนเช่น “ชินวัตร จันทร์กระจ่าง หรือ ไบรท์ แกนนำกลุ่มคนรุ่นใหม่นนทบุรี อดีตแกนนำเสื้อแดงนนทบุรี” ที่เป็นหนึ่งในแนวร่วมคนสำคัญของม็อบสามนิ้ว จนมีคดีติดตัวเป็นหางว่าว ที่มาร่วมกิจกรรมและขึ้นเวทีปราศรัยด้วย อย่างไรก็ตาม หลายคนไม่ได้แปลกใจมากนักที่ ไบร์ท-ชินวัตร มางานเพราะที่ผ่านมา ไบร์ท ก็คือแนวร่วมเสื้อแดงนนทบุรีมานานหลายปี จึงรู้จักมักคุ้นกับ เสื้อแดงหลายปีก โดยเฉพาะ จตุพร การมาร่วมงานของ ไบร์ท ชินวัตร จึงไม่ถูกมองว่า เป็นการมาในฐานะตัวแทนแกนนำม็อบสามนิ้วแต่อย่างใด ยิ่ง ไบร์ท ไม่ได้ปราศรัยเรื่องการยกเลิกมาตรา 112 -การปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ บนเวที ซึ่งเป็นเรื่อง ที่ จตุพร ขีดเส้นไว้แต่แรกแล้วว่า จะไม่แตะ ไม่เอ่ยถึง ทำให้ ยิ่งชัดเจนว่า เป็นการมาในฐานะคนเสื้อแดงด้วยกันเท่านั้น ไม่ได้หมายถึงม็อบสามนิ้ว จะมาร่วมวงกับ จตุพร ไล่พลเอกประยุทธ์เต็มตัวแต่อย่างใด
เพราะความที่เปิดหัวนัดแรก 4 เม.ย.ของแนวรุกไล่พลเอกประยุทธ์ ในรหัสเคลื่อนไหว 4/4/4 ยังไม่เปรี้ยงปร้างเท่าที่ควร มีหรือที่ นักทำม็อบมืออาชีพ อย่าง จตุพร แค่ปราดสายตา เห็นคนมาร่วมงานแค่หลักเฉียดพัน และคนมาร่วมงานไม่ใช่ระดับบิ๊กเนม จตุพร ก็ย่อมอ่านสถานการณ์ออกในทันทีว่า ศึกนี้ หากไม่ถอดใจเสียก่อน รบกันยาว แต่ให้ดี ยังไง ก่อนพักยาวสงกรานต์ มันต้องมีฟอร์มกันหน่อยว่า ม็อบไม่แป๊ก เลยใช้วิธี นัดหมายชุมนุมอีก 2 วัน คือวันจันทร์ที่ 5 เม.ย.และพุธที่ 7 เม.ย. ณ สวนสันติพร อนุสรณ์สถานพฤษภาประชาธรรมเช่นเดิม
ส่วนหลัง 7 เม.ย. กลุ่ม “ไทยไม่ทนฯ” จะเอาอย่างไรต่อไป ข่าวบอกว่า แกนนำทั้ง “อดุลย์-จตุพร-วีระ สมความคิด” ขอประเมินสถานการณ์อีกทีในช่วงค่ำ 7 เม.ย.ว่าจะเดินต่อไปอย่างไร แต่หลัก ๆคือ น่าจะกลับมาอีกที ก็หลังเทศกาลสงกรานต์
ทั้งนี้หากประเมินสถานการณ์ โดยไม่ได้ปรามาส จตุพร-อดุลย์ และกลุ่ม “ไทยไม่ทนฯ” แต่ว่ากันตามจริง จากที่ build กันมาเต็มที่ร่วมสองสัปดาห์ก่อนหน้านี้เพื่อนัดรวมพลไล่พลเอกประยุทธ์ แล้วคนมาเท่าที่เห็นวันที่ 4 เม.ย. ถ้ากลุ่มไทยไม่ทน ยังลากกันไปอย่างนี้ กระแสสังคมไม่ขานรับ ที่สำคัญ ไม่มีแนวร่วมมาเติม โดยเฉพาะกลุ่มคนกรุงเทพฯ -ชนชั้นกลาง-นักศึกษา-คนรุ่นใหม่ มีหวังม็อบรหัส 4/4/4 กร่อยแน่ ยิ่งหากไม่มีประเด็นอะไรที่แหลมคมมาเรียกมวลชนให้ออกมาสนับสนุนการเคลื่อนไหวได้ จนชุมนุมแต่ละครั้ง เอาแค่ให้มาถึงพันยังเหนื่อย ถ้าเป็นแบบนี้ เชื่อได้ว่า กลุ่มไทยไม่ทนฯ สุดท้าย อาจทนไม่ไหว ต้องเลิกรากันไปเอง !
ส่วนที่บางฝ่าย โดยเฉพาะหน่วยงานด้านการข่าวของรัฐบาล ประเมินว่า หาก กลุ่ม “ไทยไม่ทนฯ” ลากยาวการเคลื่อนไหวให้ไปถึงช่วง 22 พ.ค. ที่ครบรอบ 7 ปีรัฐประหาร คสช. ที่คนเชื่อกันว่า หากม็อบไล่พลเอกประยุทธ์ ลากไปได้ถึงตอนนั้น โดยที่แกนนำม็อบสามนิ้ว ก็ยังไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว อาจทำให้ ถ้ามีการนัดชุมนุม 22 พ.ค.วันนั้น คนน่าจะมาร่วมชุมนุมเยอะที่สุดในรอบปีนี้เลยก็ว่าได้ แต่ก็ไม่น่าจะทำให้ พลเอกประยุทธ์ถึงทางตัน จนต้องลาออกหรือยุบสภาฯได้ แต่น่าจะทำให้รัฐบาลต้องเครียดกับการรับมือการชุมนุมใหญ่ 22 พ.ค. แน่นอน
สำคัญก็แค่ว่ากว่าจะไปถึง22 พ.ค. ได้ “อดุลย์-จตุพร” จะตรึงสถานการณ์ ลากยาวไปได้ไกลแค่ไหน เพราะหากถอดใจเสียก่อน เพราะเห็นว่า ชุมนุมไป ไม่มีเสียงตอบรับ เลยเลิกเอาดื้อ ๆ หากเป็นแบบนี้ ก็เป็นไปได้ว่า ม็อบสามนิ้ว ที่คงนัดหมายรวมตัวกันแน่นอนวันที่ 22 พ.ค. อาจเป็นม็อบกลุ่มเดียว ที่จะกวนใจ พลเอกประยุทธ์และพี่น้อง 3 ป. โดยไม่มีกลุ่ม “ไทยไม่ทนฯ” มาแจมด้วย เพราะคนในกลุ่ม ทางใครทางมันเสียก่อนจากเหตุ ปลุกกระแส ไล่พลเอกประยุทธ์ ไม่สำเร็จ