“สมศักดิ์” ชี้ กม.ไก่พื้นบ้านโดยปชช. เป็นตัวอย่างสะท้อนความต้องการวิถีชาวบ้าน

“สมศักดิ์” ชี้ กฎหมายไก่พื้นบ้านโดยประชาชน เป็นตัวอย่างสะท้อนความต้องการของวิถีชาวบ้าน หากสำเร็จมีฉบับอื่นๆตามมา ยันต้องไม่ใช้การเมืองนำ-ไม่แบ่งฝักแบ่งฝ่าย ชวนทุกฝ่ายเป็นเจ้าภาพร่วม เชื่อหากปชช.มีรายได้มั่นคงปัญหาอื่นๆจะแก้ได้หมด 

ที่รัฐสภา นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานเปิดการประชุมและบรรยายพิเศษ นโยบายไทยสร้างชาติกับการเสนอกฎหมายโดยประชาชน ร่างพ.ร.บ.อนุรักษ์และพัฒนาไก่พื้นเมือง พ.ศ…. โดยมี นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ ส.ส.สุโขทัย พรรคพลังประชารัฐ นายจินดา แสงโสภา ผู้ริเริ่มเสนอ ร่างพ.ร.บ.อนุรักษ์และพัฒนาไก่พื้นเมือง พ.ศ…. นายเลิศชาย หอบรรลือกิจ นายกสมาคมอนุรักษ์และพัฒนาไก่ไทย ตัวแทนเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ชนและไก่พื้นเมืองจากทุกภาคทั่วประเทศ ร่วมรับฟังและแลกเปลี่ยนความเห็น

โดยนายสมศักดิ์ กล่าวว่า การเสนอกฎหมายส่วนใหญ่จะเสนอผ่านพรรคการเมือง และเป็นกฎหมายระดับประเทศหรือความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่ในลักษณะของกฎหมายจากชาวบ้าน ร่างกฎหมายฉบับนี้จะเป็นฉบับแรก ซึ่งเป็นความต้องการของประชาชน ที่ผ่านมายังไม่มีเคยการรวบรวมรายชื่อและผลักดันให้เกิดอย่างแท้จริง ดังนั้นกฎหมายฉบับนี้จะเป็นประวัติศาสตร์ วันนี้เราส่งออกไก่หรือเนื้อวัวราคาถูก เพราะเราไม่มีข้อกำหนดต่างๆที่ชัดเจน มีกรมปศุสัตว์อยู่กรมเดียวแต่ทำทุกอย่าง แต่การเพิ่มมูลค่าไม่มี ซึ่งหากเราสามารถผลักดัน พ.ร.บ.ฉบับนี้ได้ คนไทยจะหันมามองพวกเราทุกคน เพราะเราสามารถสะท้อนปัญหาออกมา เรื่องการชนไก่ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ ประเด็นสำคัญคือการเพิ่มมูลค่า แต่จะทำอย่างไรให้เกิดความถาวรยั่งยืน ที่ผ่านมาประเทศไทยส่งออกไก่ชนไปยังต่างประเทศ แต่ต้องแอบส่งทางเรือแบบผิดกฎหมาย ดังนั้นการออกกฎหมายจะช่วยในเรื่องนี้ และการควบคุมโรคต้องทำให้ชัดเจน 

“นี่เป็นสิ่งที่น่าภูมิใจ ที่เราสามารถรวบรวมรายชื่อได้ 15,000 คนเพื่อเสนอกฎหมาย ซึ่งตอนนี้เราส่งให้กระทรวงมหาดไทยตรวจสอบรายชื่อแล้ว และเมื่อเสร็จเรียบร้อยจะเข้าสู่วาระการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเราจะเชิญทุกพรรคการเมืองเข้ามาเป็นเจ้าภาพร่วม ไม่มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย หากใช้การเมืองนำหน้าจะไม่จบ จากประสบการณ์ตนที่เป็นรัฐมนตรีมา 13 ครั้ง อะไรที่เป็นประโยชน์กับประชาชนอย่าไปแบ่งฝ่าย และเราต้องเข้าใจเข้าถึงและพัฒนา” นายสมศักดิ์ กล่าว

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า การกำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆในกฎหมายฉบับนี้ ต้องมีคณะกรรมการเพื่อกำกับติดตามดูว่าอะไรที่ล้าสมัยไปแล้ว หรือมีกองทุนเพื่อช่วยเหลือ ต้องช่วยกันคิดว่าจะพัฒนาได้อย่างไร เรามีโครงกฎหมายแล้วแต่รายละเอียดต่างๆเราต้องช่วยกันคิดตามมา และสุดท้ายราชการเขาจะเห็นความสำคัญ โดยมีไก่เป็นสัตว์นำร่อง หากวันข้างหน้าเราทำได้สำเร็จ สัตว์เศรษฐกิจอื่นๆ เช่น วัว จะตามมาอีก ไม่แน่ว่าวันข้างหน้า กรมปศุสัตว์อาจจะต้องยกฐานะเป็นกระทรวงก็ได้ สมัยที่ตนเป็นรมว.เกษตรและสหกรณ์ ตนมีแนวคิดโครงการ โคล้านตัว แม้จะไม่สำเร็จแต่ถือเป็นตัวอย่างที่ดี ตนไม่เคยโกรธที่โครงการนี้ไม่สำเร็จ หากเราหันมาทำปศุสัตว์ส่งออก โดยใช้เมล็ดพืชที่ปลูกได้ จะเป็นประโยชน์ถึงเกษตรกรได้อีกด้วย ตนเชื่อมั่นว่าหากประชาชนมั่นคงมีรายได้ มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ปัญหาทุกอย่างจะปรับแก้ได้หมด

จากนั้นเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของผู้เข้าร่วมกันอย่างหลากหลาย เช่น ปัญหาการควบคุมโรค ปัญหาการส่งออกไก่ไปยังต่างประเทศที่มีกฎระเบียบไม่ชัดเจน การสร้างสนามไก่เพื่อพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว และการเพิ่มมูลค่าไก่จะต้องเป็นไปในทิศทางใด

แสดงความเห็น