รมว.ยธ.จ่อชงกม.กระท่อมเข้าครม.สัปดาห์หน้า มั่นใจ พืชกระท่อม สร้างรายได้ให้ปท.มหาศาล


“สมศักดิ์” เปิดเสวนา ’กระท่อมไทย วิถีไทย เพื่อเศรษฐกิจไทย’ รับฟังความเห็นการปลดพืชกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติด มั่นใจ พืชกระท่อมส่งออกจะสร้างรายได้ให้ประเทศมหาศาล เผย สภาฯบรรจุวาระร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษแล้ว จ่อชงกฎหมายลูกเข้า ครม.สัปดาห์หน้า

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเสวนาพืชกระท่อม ภายใต้แนวคิด “กระท่อมไทย วิถีไทย เพื่อเศรษฐกิจไทย” พร้อมย้ำเจตนารมณ์ว่า ในฐานะที่กระทรวงยุติธรรมและสำนักงาน ป.ป.ส. ดูแลเรื่องยาเสพติด ได้พยายามทำงานเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน สำหรับการปรับพืชกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติดนั้น ตนเองได้มีโอกาสพูดคุยกับพี่น้องประชาชน ที่หวังจะใช้ประโยชน์จากพืชกระท่อม ซึ่งพืชกระท่อมมีหลักฐานว่า มีการนำมาใช้เป็นสมุนไพรในครัวเรือนมาตั้งแต่อดีต โดยใช้บำรุงกำลังเป็นยาขยัน แก้ปวดท้องและแก้ปวดเมื่อย ดังนั้นในอนาคตรัฐบาลพยายามออกกฎหมายเพื่อปรับพืชกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติด ทั้งนี้ ในอดีตกระท่อม ถูกระบุว่า เป็นยาเสพติดตั้งแต่ปี พ.ศ.2486 เนื่องจากรัฐบาลขณะนั้นต้องการเก็บภาษี ซึ่งเป็นเหตุผลทางการค้าและการเมือง โดยจากผลการศึกษาของพืชกระท่อม พบว่า มีโทษน้อยมาก แต่กลับมีประโยชน์ทางการแพทย์ และสามารถนำไปปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจได้ ดังนั้น การปลดล็อกพืชกระท่อม จะเกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจและวิถีชีวิตชุมชน ซึ่งพืชกระท่อม มีสารมิตราไจนีน (Mitragynine) มีสรรพคุณช่วยระงับความเจ็บปวด ส่วนสารชนิดอื่นๆช่วยเพิ่มกำลังให้กับผู้บริโภค หากศึกษาอย่างถูกต้อง จะเป็นทางเลือกให้เกษตรกรส่งออกได้ ทำให้ประเทศและประชาชนได้ประโยชน์อย่างมาก จึงให้หน่วยงานของรัฐและสถาบันอุดมศึกษาที่มีพื้นที่ศึกษาวิจัย ได้เตรียมความพร้อมเพื่อศึกษาวิจัยการใช้ประโยชน์จากพืชกระท่อม ทั้งในเชิงการแพทย์ และเชิงเศรษฐกิจ รวมถึงต้องมีการศึกษาความต้องการและกลไกของตลาด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเหมือนพืชเศรษฐกิจอื่นๆที่ล้นตลาดและราคาตกต่ำบางช่วง รวมไปถึงจะต้องศึกษากฎหมายและกฎเกณฑ์ของต่างประเทศควบคู่ไปด้วย

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า กระบวนการนำพืชกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติดนั้น ทางกระทรวงยุติธรรมได้เริ่มการร่างพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่… พ.ศ…. ตั้งแต่เดือนมกราคม 2563 มีการกำหนดขั้นตอน 12 ขั้นตอน และเร่งดำเนินการเรื่อยมาจนถึงวันที่ 11 มีนาคม 2563 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวและส่งต่อให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา แต่เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้กระบวนการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่เป็นไปตามกำหนดเวลา อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวได้เสร็จสมบูรณ์แล้ว ซึ่งเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2563 ตนเองได้ไปชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ให้ได้รับทราบถึงประโยชน์ของการปรับพืชกระท่อมออกจากยาเสพติด ซึ่งกรรมาธิการส่วนใหญ่เห็นด้วยกับแนวทางการปลดล็อกพืชกระท่อมออกจากยาเสพติดและขณะนี้ วิปรัฐบาล ได้ส่งร่างดังกล่าวไปยังประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระ คาดว่า จะเข้าสู่การพิจารณาได้ในเร็ววันนี้ ในเรื่องของการพิจารณาในสภา ความจริงระเบียบวาระไปถึงแล้ว แต่คงไม่ทันพิจารณาในสมัยประชุมนี้ ยืนยันว่า คงไม่มีปัญหา เพราะพืชกระท่อมไม่ได้จบในฉบับเดียว จำเป็นที่จะต้องมีกฎหมายคู่ขนานหรือกฎหมายลูกที่จะเขียนรายละเอียดอีกฉบับหนึ่งตามมาซึ่งตัวร่างของกฎหมายลูกนั้น มีทั้งหมดแล้วและจะเสนอเข้าคณะรัฐมนตรีในสัปดาห์หน้า เชื่อว่า จะพิจารณาทันกัน 

ทั้งนี้ ในร่างพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษฉบับดังกล่าวที่ยังพิจารณาไม่ทัน ก็ยังมีประมวลกฎหมายยาเสพติดรองรับไว้อีกชั้นหนึ่ง และประมวลกฎหมายยาเสพติดนั้น กำลังพิจารณาในคณะกรรมาธิการร่วมรัฐสภา เนื่องจากเป็นกฎหมายปฏิรูปประเทศตนเชื่อมั่นว่า กฎหมายดังกล่าวนั้นจะสัมฤทธิ์ผลได้เร็ว ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาก็มีความห่วงใย การป้องกันไม่ให้เยาวชนไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับพืชกระท่อม แต่ขอยืนยันว่า จะมีการกำหนดมาตรการควบคุม ไม่ให้เด็กและเยาวชนเข้าไปยุ่งเกี่ยว และไม่ให้นำพืชกระท่อมไปใช้ในทางที่ผิด ส่วนการแปรรูปเป็น 4×100 นั้น  ถือว่าผิดวัตถุประสงค์ หากใครจะนำไปเป็นผลิตภัณฑ์ ต้องขออนุญาตจาก อย. ส่วนที่มีข้อกังวลว่าพืชกระท่อมจะส่งผลต่อการขับขี่ยวดยานพาหนะ จากการศึกษาพบข้อมูลว่า ยังไม่มีผู้กระทำผิดเกี่ยวกับการขับขี่แม้แต่รายเดียว นอกจากนี้ที่หลายคนมีความกังวลว่า หากปลดพืชกระท่อมออกจากยาเสพติดแล้วจะควบคุมอย่างไรนั้น ย้ำว่า จะต้องมีกฎหมายเพื่อควบคุมต่อไป และ เพื่อให้ร่างพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษมีประโยชน์และมีความสมบูรณ์ กระทรวงยุติธรรม โดย ป.ป.ส. จึงขอให้มีการเสวนาเพื่อสร้างการรับรู้และรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน

“ถ้าเราหายไป คิดว่า มันผ่านแน่ๆแล้วถ้าอยู่ๆมันเกิดไม่ผ่านขึ้นมา ดังนั้น เราจึงต้องกระทุ้งอยู่เรื่อยๆในเรื่องของการพูดคุยและให้สื่อช่วยแสดงความคิดเห็นต่างๆออกไปตลอดเวลา หลายท่านที่ต่อสู้กันมาตลอดยาวนานแล้วมันไม่สำเร็จเพราะอะไร เพราะเป็นปัญหาที่คนยังมองต่างมุมอยู่ และมองไม่เข้าใจในพื้นเพหรือความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนในชนบทที่เคยเกี่ยวข้องกับพืชกระท่อม ผมเคยทำนโยบายด้านการเกษตร เรื่องวัว หลายคนเป็นสื่อมวลชนในกรุงเทพไม่เข้าใจเรื่องวัว ถ้าให้เกษตรกรได้ยืมไปเลี้ยง วันนี้ประเทศไทย คงไม่มีหนี้ เกษตรกรคงไม่เป็นหนี้ เพราะพอสื่อไม่เข้าใจ ก็ไม่สามารถที่จะทำรายได้ให้เกษตรกรมีเงินเก็บได้ ทำเกษตรอย่างเดียวแค่มีกินมีใช้ แต่ถ้าเราทำปศุสัตว์ เลี้ยงสัตว์ เราก็จะมีเงินเก็บ เช่นเดียวกับพืชกระท่อม ถ้ามองผิวเผินเหมือนว่าจะเอาไว้เสพอย่างเดียว ใครจะมองว่าเป็นสินค้าส่งออก ถ้าเราคิดได้ก่อน ทำได้ก่อน ให้เป็นสินค้าส่งออก ก็จะทำรายได้มหาศาล มอร์ฟีนปีหนึ่ง 5 แสนล้านบาท แต่กระท่อมนี้มีฤทธิ์เดชดีกว่ามอร์ฟีนอีก จึงต้องสัมมนาให้เกิดความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชน โอกาสที่กฎหมายจะผ่านก็ง่ายขึ้น” นายสมศักดิ์ กล่าว

ขณะที่นักวิชาการ ทั้งรศ.ดร.วิเชียร กีรตินิจกาล ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษของภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ,ศ.นพ.ดร.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และนายกสมาคมเวชศาสตร์ป้องกันแห่งประเทศไทย และรศ. สมสมร ชิตตระการ อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวย้ำเป็นไปทิศทางเดียวกันถึงประโยชน์ทางการแพทย์ของพืชกระท่อมว่า สามารถใช้ลดการเจ็บปวดและต้านการอักเสบ รวมทั้งกระตุ้นระบบประสาท ต้านการซึมเศร้าได้

ด้านนายคฑาวุธ ทองไทย หรือ อาจารย์ไข่ ศิลปินจากวงมาลีฮวนน่า มองว่า ตนเกิดในยุคสุดท้ายของการทำไร่เลื่อนลอย มนุษย์ใกล้ชิด ได้ใช้และเข้าใจในวิถีของธรรมชาติมากที่สุด ตนเติบโตมาท่ามกลางการผลิตยาสมุนไพร เนื่องจากมีบิดาเป็นหมอยาสมุนไพร และพบการนำกัญชามาใช้ รวมถึงพบวิถีชีวิตชาวนาที่ต้องเคี้ยวใบกระท่อมระหว่างทำนา ให้สู้แดดสู้นา  จึงเชื่อว่า เมื่อหมดโควิด-19 แล้ว ทั้งกัญชา กับใบกระท่อมจะฟื้นฟูประเทศชาติได้มหาศาล

ขณะที่ นายสงคราม บัวทอง กำนัน ต.น้ำพุ จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นพื้นที่นำร่องแห่งแรกของประเทศไทยที่ครอบครองกระท่อมได้โดยไม่ผิดกฎหมาย เปิดเผยว่า ที่ ต.น้ำพุ มีโครงการวิจัยเก็บเลือดตัวอย่างของประชาชนที่ใช้พืชกระท่อมทั้งหมดว่า มีผลกระทบต่อไตและตับหรือไม่ เพื่อส่งกลับไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป นอกจากนี้ ยังมีการทดสอบคลื่นสมองของผู้ใช้พืชกระท่อมเปรียบเทียบกับผู้ไม่ใช้พืชกระท่อมว่ามีผลกระทบอย่างไร และพบว่า พืชกระท่อมไม่ได้ทำลายสมอง 

แสดงความเห็น