“สมศักดิ์” แจง คืบหน้าปลดล็อกกระท่อม รอกฤษฎีกาปรับแก้ ยัน ห้ามใช้ผิดวัตถุประสงค์

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงความคืบหน้าการปลดล็อกพืชกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติดว่า กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปลดล็อกพืชกระท่อม ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว ขณะนี้ อยู่ในขั้นตอนคณะกรรมการกฤษฎีกากำลังปรับแก้ แต่ติดช่วงสถานการณ์โควิด-19 จึงทำให้กฤษฎีกาทำงานได้ไม่เต็มที่ 

นายสมศักดิ์ ยังกล่าวว่า การปลดล็อกพืชกระท่อม ถึงแม้จะผ่านคณะรัฐมนตรีแล้ว แต่ยังมีข้อคิดเห็น 3 ประเด็นคือ 1.การป้องกันไม่ให้เยาวชนเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับพืชกระท่อม ซึ่งเรื่องนี้ ขอย้ำว่า จะใช้พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กปี 2546 มาควบคุม  2.การป้องกันไม่ให้มีการนำพืชกระท่อมไปเป็นส่วนผสมของสารเสพติด หรือ เครื่องดื่มชูกำลัง เช่น  4 คูณ100 ซึ่งถือว่าผิดวัตถุประสงค์ โดยหากใครจะนำไปเป็นผลิตภัณฑ์ต้องมีการขออนุญาตที่อย.ก่อน  และ 3.พืชกระท่อมส่งผลต่อการขับขี่ยานพาหนะหรือไม่ ซึ่งประเด็นนี้ ขอให้สบายใจได้ เพราะในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา สถิติบ่งชี้ว่า ยังไม่มีผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับการขับขี่ยานพาหนะจากพืชกระท่อมเลยแม้แต่คดีเดียว

นายสมศักดิ์ ยังกล่าวถึงกรณีหากปลดพืชกระท่อมพ้นบัญชียาเสพติดแล้ว จะมีการควบคุมอย่างไร ไม่ให้นำไปใช้ในทางที่ผิด ว่า ขั้นตอนที่ต้องดำเนินการ ถ้าเป็นภาษาชาวบ้านเรียกไข่แล้วทิ้ง หมายความว่า ออกกฎหมายแล้วทิ้งไว้เลย โดยไม่หาทางออก หรือ หาทางแก้ไขให้ แต่ในพ.ร.บ.ยาเสพติดปี 2522 มาตรา 58/2 ในขั้นตอนของการมีและใช้ ซึ่งป.ป.ส.ได้ทำการสำรวจข้อมูลส่งเรื่องไปยัง อย. เพื่อกำหนดวิธีการใช้อย่างไร ไม่ให้ผิดวัตถุประสงค์ โดยสรุปง่ายๆคือ ให้นำมาเคี้ยวอย่างเดียว ห้ามทำ 3 คูณ 100 หรือ 4คูณ100 ซึ่งถ้าเคี้ยวอย่างเดียวจะเป็นยาขยัน แก้ปวดท้อง แก้ปวดเมื่อย เป็นการเสพแบบวิถีไทย

เมื่อถามว่า หากปลดล็อกพืชกระท่อมแล้ว จะเกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และวิถีชีวิตชุมชนอย่างไร นายสมศักดิ์ กล่าวว่า พืชกระท่อมมีสาร 2 ชนิด ประกอบด้วย ไมทราไจนีน มีสรรพคุณช่วยระงับความเจ็บปวดได้ดีกว่ามอร์ฟีน ซึ่งประเทศมหาอำนาจผลิตมอร์ฟีนขายสร้างรายได้ปีละเกือบ 5 แสนล้านบาท ส่วนสารอีกชนิด คือ เซเว่นไฮดรอกซี เป็นยาชูกำลัง ถ้าทุกคนหันมาผลิตต้องใช้อีกเท่าไร ดังนั้น​ต้องศึกษาเพิ่มเติม โดยจะเปิดให้มหาวิทยาลัยที่มีความรู้และสนใจศึกษาวิจัยพืชกระท่อมเตรียมความพร้อม ไม่อย่างนั้น จะเหมือนยางพารา และปาล์ม ที่ล้นตลาด เพราะไม่ได้กำหนดพื้นที่ปลูก และสำรวจกลไกตลาด

แสดงความเห็น