The Agenda : พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย และรองประธานคณะกรรมาธิการการสื่อสารโทรคมนาคม ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กมธ.ดีอีเอส) ให้สัมภาษณ์ถึงความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ว่า เป็นประเด็นที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า วิถีชีวิตของผู้คนเริ่มเปลี่ยนไปเพราะภัยคุกคามของโลกเปลี่ยนแปลงไป และประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน ประเด็นก็คือ คนในเมืองปรับตัวเข้าหาการทำงานด้วยระบบอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงมากขึ้น นักเรียนและนักศึกษาก็ปรับตัวที่จะเข้าสู่การเรียนแบบออนไลน์ ซึ่งอินเตอร์เน็ตก็จะกลายเป็นสิ่งจำเป็นขั้นพื้นฐานของชีวิต แต่ประเด็นคือผู้คนที่อยู่ตามต่างจังหวัดหรือชนบทยังไม่ได้รับบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงอย่างเท่าเทียม และอาจจะยังไม่สามารถปรับตัวเข้าหาความรู้และการทำงานรูปแบบใหม่ได้ นี่เองที่จะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำของสังคมมากขึ้น
“อย่างพวกเรา เข้าถึงอินเตอร์เน็ต YouTube และ Live ต่างๆ ซึ่งผมเชื่อว่า ตอนนี้กลุ่มคนที่เข้าถึงอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง มีไม่เกิน 50% ของประชากรของประเทศไทย แต่ที่เหลือเป็นเพียงอินเตอร์เน็ตธรรมดา ก็คือจะไม่เรียลไทม์ เข้าถึงข้อมูลได้ช้า นี่เองทำให้ต้องกลับมาดูการเตรียมการในอีก 2-3 ปีข้างหน้า เพราะเชื่อว่าเหตุการณ์แบบนี้จะเกิดขึ้นอีกและผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสทั้งหลาย หรือผู้เชี่ยวชาญทางด้านภัยคุกคามรูปแบบใหม่ก็พูดในทิศทางเดียวกันว่า ไม่ใช่เรื่องโรคภัยอย่างเดียว แต่น่าจะมีเรื่องสภาวะอากาศและสภาวะที่แปลกใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ภาครัฐจึงต้องกลับมาดูว่าโครงสร้างพื้นฐานที่ทำให้พวกเรายังมีชีวิตที่สามารถดำเนินต่อไปในระบบเศรษฐกิจใหม่ได้อย่างไร” พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าว
รองประธานกรรมาธิการ ดีอีเอส. กล่าวอีกว่า โครงสร้างพื้นฐานทางอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงขณะนี้ ถือว่า ยังไม่ครอบคลุม แม้โทรศัพท์มือถือจะครอบคลุมเกิน 90% ของจำนวนประชากร แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะเข้าถึงอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงได้ เพราะแม้จะเข้าถึงได้ แต่ก็อาจจะไม่มีเงินมาจ่ายค่าอินเตอร์เน็ต เพราะอินเตอร์เน็ตยิ่งเร็วก็ยิ่งแพง แม้แต่ค่าน้ำค่าไฟยังเป็นปัญหา แต่อินเตอร์เน็ตก็จะเหมือนค่าน้ำค่าไฟเข้าไปทุกวันแล้ว ผมเลยมองว่าภาครัฐต้องเตรียมการ อินเตอร์เน็ตเป็นโครงสร้างพื้นฐานปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ ที่ไม่สามารถคิดเงินได้ในราคาแพงแล้ว ทุกคนต้องมีสิทธิ์เข้าถึงในระดับหนึ่ง โดยที่ไม่ต้องเสียเงินเลยด้วยซ้ำ ถ้าเกินความจำเป็นจึงค่อยเสียเงินเอง ดังนั้นจึงต้องกลับมาดูว่าอินเตอร์เน็ตตามตำบลตามโรงเรียนต่างๆ โดยเฉพาะนอกเมืองตามจังหวัดต่างๆครอบคลุมหรือไม่ ซึ่งตอบได้เลยว่าไม่ครอบคลุม
“ทางกรรมาธิการดีอีเอส ดูแลและสนับสนุนและติดตามตรวจสอบการทำงานของสำนักงาน กสทช.อยู่เสมอ ซึ่งพบว่า มีโครงการที่จำเป็นเร่งด่วนและต้องผลักดันในเรื่องงบประมาณให้ครอบคลุมทั่วประเทศ คือ ศูนย์ USO NET หรืออินเตอร์เน็ตความเร็วสูงในชุมชนต่างๆ ซึ่งกรรมาธิการดีอีเอสให้ความสำคัญเป็นอย่างมากและคิดว่า ภาครัฐจะต้องมาช่วยสนับสนุนส่งเสริมในเรื่องนี้ให้เกิดขึ้น เพราะอนาคตเราจะเห็นความเปลี่ยนแปลงมากกว่าวันนี้ คือโรงเรียนที่เข้าไม่ถึงอินเตอร์เน็ตจะกลายเป็นว่า นักเรียนจะเทียบชั้นการสอบในข้อสอบเดียวกันไม่ได้ เพราะนักเรียนในเมืองมีโอกาสมากกว่า และนี่เองจึงทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคม ทั้งด้านการศึกษา การทำงานในชีวิตประจำวันรวมถึง Telemedicine และการศึกษาทางไกล” พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าว
พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าวว่า อินเตอร์เน็ตความเร็วสูงเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นอย่างยิ่ง แทบจะใกล้เคียงปัจจัย 4 เข้าทุกวัน แทบจะเป็นปัจจัยที่ห้าแล้ว ซึ่งอินเตอร์เน็ตในชุมชนขณะนี้ ความเร็วยังไม่เพียงพอและครอบคลุมได้ทุกที ยังไปไม่ครบโรงเรียนอยู่ทุกชุมชน จำนวนหมู่บ้านที่มีอยู่กว่า 40,000 กว่าหมู่บ้าน ตอนนี้ที่ทำอยู่ก็ยังไม่ครบ จึงมองว่าทางสำนักงาน กสทช. ซึ่งมีกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ ( กทปส.) ซึ่งเป็นกองทุนที่พัฒนาส่งเสริมเรื่องของอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง จะต้องมากำหนดในเรื่องของโครงการต่างๆในอนาคตที่จะต้องเร่งดำเนินการ
พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าวว่า สำนักงาน กสทช. ต้องมองแผนระยะ 3-5 ปี ว่าจะทำอย่างไรให้ครอบคลุมทั้งประเทศและให้มีคุณภาพใกล้เคียงกัน และที่สำคัญคือต้องใช้ได้ฟรีในระดับหนึ่งด้วย ไม่ใช่มีแล้วต้องไปจ่ายเงินเองประชาชนทั่วไปรวมถึงนักเรียนตามชนบทคงจ่ายเองไม่ไหว ทั้งนี้ ทราบว่า กสทช. ก็สนับสนุนเงินงบประมาณในส่วนของการเข้าถึงเช่นกัน เชื่อว่า ต้องมีการเตรียมการ เนื่องจากงบประมาณเหล่านี้ มาจากการเก็บเงินค่าธรรมเนียมจากโอเปอเรเตอร์หรือผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตและโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่รู้จักกันดี จากนั้นก็นำเงินเหล่านั้นมาคืนสู่ประชาชน เชื่อว่าเป็นประโยชน์ต่อประชาชนโดยตรง จึงอยากเรียกร้องให้สังคมหันมาดูความจำเป็นในเรื่องดังกล่าว อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้กรรมาธิการก็จะติดตามโครงการดังกล่าวอย่างใกล้ชิด เพื่อทำให้สามารถเกิดได้จริงอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะถือเป็นหน้าที่หลักของกรรมาธิการดีอีเอส.