“สมศักดิ์” แจง ผลสอบบ่อบำบัดน้ำเสียรพ.ย่านรังสิต ได้มาตรฐาน

“สมศักดิ์” แจง ผลสอบบ่อบำบัดน้ำเสียโรงพยาบาลย่านรังสิต หลังชาวบ้านร้องเรียนปล่อยน้ำทิ้งเข้าโครงการหมู่บ้าน ยันได้มาตรฐานตามกฎหมายกำหนด พบสาเหตุหลักขยะอุดตัน ฝนตกน้ำเอ่อล้นท่วมขังส่งกลิ่นเหม็น พร้อมกำชับให้สแกนละเอียดยิบเพื่อความสบายใจประชาชน   

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีชาวบ้านในโครงการแห่งหนึ่งย่านรังสิต อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี ขอให้ตรวจสอบโรงพยาบาลในหมู่บ้านปล่อยน้ำทิ้งมายังท่อระบายน้ำในโครงการหมู่บ้าน จนเอ่อล้นถนนในโครงการ ทำให้น้ำท่วมขังเป็นสีเขียว ส่งกลิ่นเน่าเหม็นเกรงจะมีเชื้อโรค อาจทำให้เกิดโรคระบาดได้ ว่า หลังรับทราบกรณีดังกล่าว ได้สั่งการเร่งด่วนไปยังกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ให้ไปตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่ โดยบริเวณดังกล่าวมีโรงพยาบาลแพทย์รังสิตโรงพยาบาลทั่วไปขนาดใหญ่ตั้งอยู่ จึงได้จัดเจ้าหน้าที่ออกเป็น 2 ชุด ชุดแรกประกอบด้วย เจ้าหน้าที่กรมอนามัย พนักงานเจ้าหน้าที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เจ้าหน้าที่กลุ่มงานอนามัยสิ่งแวดล้อม สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปทุมธานี และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลไปตรวจบ่อบำบัดน้ำเสีย เบื้องต้นพบว่าได้มีมาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด ส่วนชุดที่ 2 นำโดย รองผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี ผู้อำนวยการกองกฎหมาย กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และพนักงานเจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปทุมธานี กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งตรวจบริเวณถนนรอบโรงพยาบาล พบว่า ถนนทุกส่วนมีนิติบุคคลเป็นผู้ดูแล การไหลเส้นทางของน้ำ มิใช่น้ำเสียจากโรงพยาบาล แต่เป็นการที่น้ำจากบ้านแต่ละหลัง ท่อระบายน้ำไม่สามารถเคลื่อนที่ได้อย่างสะดวก เนื่องจากติดเศษขยะและเศษซากใบไม้ทับถม จึงทำให้น้ำไม่สามารถไหลอย่างสะดวกจนเอ่อล้น ประกอบกับฝนที่ตกลงมามีปริมาณมากจนทำให้น้ำท่วมขัง และส่งกลิ่นเหม็น โดยพื้นที่ดังกล่าวไม่ได้อยู่บริเวณพื้นที่ของโรงพยาบาล อีกทั้ง ระบบท่อน้ำของโรงพยาบาล ก็มิได้มีการเชื่อมต่อกันกับบริเวณด้านนอกที่มีน้ำท่วมขังด้วย 

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ เพื่อให้เกิดความสบายใจของประชาชน ได้ให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบรายละเอียดของบ่อบำบัดน้ำเสียของโรงพยาบาล พบว่า มีจำนวน 7 บ่อ ประกอบด้วย บ่อดักขยะและบ่อเกรอะ บ่อเติมอากาศ บ่อตกตะกอน 1 บ่อตกตะกอน 2 บ่อสูบตะกอนส่วนเกิน บ่อเติมคลอรีนฆ่าเชื้อ บ่อสูบน้ำขาออก โดยระบบน้ำเสียจะอยู่ในอาคาร 2 บริเวณใต้ดินของพื้นที่จอดรถ บริเวณหน้าห้องฉุกเฉิน เป็นระบบบำบัดน้ำเสียด้วยจุลินทรีย์ แขวนลอยแบบใช้อากาศ น้ำเสียที่จะเข้าระบบด้วยวิธีการไหลล้นจะถูกบำบัดครั้งแรก ด้วยการดักขยะโดยตะแกรงในบ่อเกรอะ ซึ่งเมื่อบำบัดน้ำเสียเสร็จสิ้นแล้ว จะปล่อยออกตรงลำรางสาธารณะด้านหน้าโรงพยาบาลเท่านั้น โดยไม่ได้มีการปล่อยน้ำเสียที่บำบัดแล้วออกจากด้านหลังทางโรงพยาบาล โดยบ่อบำบัดโรงพยาบาล ได้ดูแลและตรวจสอบให้อยู่ในเกณฑ์ปกติอย่างสม่ำเสมอ และส่งน้ำในบ่อบำบัดตรวจวิเคราะห์กับกองห้องปฏิบัติการสาธารณสุข กรมอนามัยกระทรวงสาธารณสุข และบริษัทเอกชนเป็นระยะ ๆ  

“พร้อมกันนี้ได้มีข้อแนะนำให้โรงพยาบาล ช่วยเหลือชุมชน เพื่อการอยู่อาศัยร่วมกันแบบปกติสุข  โดยทางโรงพยาบาลรับประกันว่าจะดำเนินการดูแลสภาพแวดล้อมในสภาพชุมชนที่อยู่รายล้อมรอบให้สะอาด ปลอดภัย ถูกสุขลักษณะ จะช่วยเหลือชุมชนให้มีมิติ มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน และจะประสานงานกับเทศบาลเมืองคูคตให้นำเครื่องสูบน้ำและนำปฏิกูล พร้อมทั้งขยะ ที่ติดค้างในท่อมาดำเนินการเพื่อให้สังคมน่าอยู่ และเพื่อให้ชาวบ้านเกิดความสบายใจและความเชื่อมั่นทางโรงพยาบาลจะส่งน้ำในบ่อบำบัดน้ำเสียให้กับสำนักอนามัยสิ่งแวดล้อมเพื่อดำเนินการตรวจสอบตามลำดับเพื่อยืนยันมาตรฐานการบำบัดน้ำเสียเป็นไปตามกฎหมายต่อไป” นายสมศักดิ์ กล่าว  

แสดงความเห็น