“พัชรวาท” ดันออกประกาศ  “หมู่เกาะสีชัง – เกาะสาหร่าย” เป็นพื้นที่คุ้มครองทางทะเล

“พัชรวาท” ดันออกประกาศกระทรวงพื้นที่คุ้มครองทางทะเล “หมู่เกาะสีชัง – เกาะสาหร่าย” ห้ามทำให้เกิดมลพิษ ทิ้งขยะ งดครีมกันแดดเป็นอันตรายต่อปะการัง วอนทุกภาคส่วนช่วยกันปกป้องทะเลให้ยั่งยืน พร้อมเกาะติดปัญหากัดเซาะชายฝั่ง เตรียมรายงานครม.ระบบนิเวศทางทะเลดีขึ้น 

พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ (กทช.) ได้เป็นประธานการประชุมฯ ครั้งที่ 2/2567 โดยมี นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง นายชิดชนก สุขมงคล รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และคณะกรรมการ เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมลำแพน ชั้น 9 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง 

ภายหลังจากการประชุม พล.ต.อ.พัชรวาท เปิดเผยว่า การประชุมครั้งนี้ คณะกรรมการฯ ได้ติดตามความคืบหน้าสถานการณ์เกี่ยวกับทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งและการกัดเซาะชายฝั่งที่สำคัญ ในรอบ 4 เดือน ก.พ.-พ.ค.67 จากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ได้แก่  1. หญ้าทะเลเสื่อมโทรมในพื้นที่จังหวัดตรังและกระบี่ 2. สถานการณ์ปะการังฟอกขาวในช่วงเดือนพ.ค.2567 พบว่าเกิดการฟอกขาวแล้ว ร้อยละ 86.6 ทช.จึงได้กำหนด  3 มาตรการ คือ ลดปัจจัยคุกคาม คือ ไม่ทิ้งขยะ ไม่ทิ้งมลพิษ ไม่ให้อาหารปลา ไม่ใช้ครีมกันแดดที่มีส่วนประกอบของสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อปะการัง งด คือ ปิดแหล่งท่องเที่ยวสำหรับประกอบกิจกรรมดำน้ำตื้น และดำน้ำลึกในพื้นที่ที่เกิดการฟอกขาวอย่างรุนแรง และช่วย คือ ช่วยเหลือปะการังฟอกขาวโดยการบังแสงบางส่วนเหนือแนวปะการัง และพิจารณาย้ายปะการังบางส่วนลงไปในพื้นที่ที่เหมาะสม 3.การปรับปรุงระเบียบกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งว่าด้วยการแบ่งปันคาร์บอนเครดิตที่ได้จากการปลูกและบำรุงป่าชายเลน สำหรับบุคคลภายนอกและสำหรับชุมชน พ.ศ. 2567 โดยประเด็นสำคัญคือการเพิ่มมาตรฐานโครงการภาคสมัครใจด้านป่าไม้ มาตรฐานของ Verra และ Gold standard รวมทั้งขยายระยะเวลาในการดำเนินงานให้มีความชัดเจน และเพิ่มวิสาหกิจ ชุมชน และสหกรณ์ ผู้ประกอบการเป็นผู้รับจ้างดูแลรักษาป่าชายเลน 4 .ได้กำหนดแนวทางบริหารจัดการพื้นที่ป่าชายเลนและป่าชายหาดออกเป็น 4 โชน โดยยึดหลักการของมิติความยั่งยืน 

พล.ต.อ.พัชรวาท กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบมอบให้ ทช. เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ (ร่าง) รายงานสถานการณ์ด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และการกัดเซาะชายฝั่งของประเทศ พ.ศ.2566 ซึ่งมีสาระสำคัญในด้านระบบนิเวศทางทะเล จากการเปรียบเทียบข้อมูลสถานภาพ ปี 2565 พบแนวปะการังจำนวน 149,182 ไร่ มีสถานภาพดีขึ้นเล็กน้อย หญ้าทะเล จำนวน 102,578 ไร่ มีแนวโน้มลดลง สัตว์ทะเลหายากมีสถานภาพดีขึ้น พื้นที่ป่าชายเลน คงสภาพ 1.73 ล้านไร่ คุณภาพน้ำทะเลส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ดี ขยะทะเลคิดเป็น 30,000 ตัน/ปี และปริมาณขยะลอยน้ำ พบ 5,665 ตัน มีแนวโน้มลดลงจากปี 2565 ส่วนน้ำมันรั่วไหลและก้อนน้ำมันดิน จำนวน 28 ครั้ง น้ำทะเลเปลี่ยนสี จำนวน 72 ครั้ง ในปีนี้พบมากขึ้น การกัดเซาะชายฝั่งยังมีพื้นที่ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขเหลือเพียงระยะทาง 76.42 กิโลเมตร 

ขณะเดียวกัน ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาการออกประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดแนวเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ตามมาตรา 22 ใน 2 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่หมู่เกาะสีชัง อำเภอเกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี และพื้นที่ตำบลเกาะสาหร่าย อำเภอเมือง จังหวัดสตูล ห้ามทำให้เกิดมลพิษ เททิ้งขยะ  ห้ามทิ้งสมอเรือ ห้ามสร้างสิ่งปลูกสร้างใดๆ บริเวณแนวปะการัง ห้ามนำและใช้ผลิตภัณฑ์กันแดดที่เป็นอันตรายต่อปะการัง ห้ามการขุด การถมทะเล หรือการขุดลอกร่องน้ำ รวมทั้งการจัดวางร่ม โต๊ะเตียง หรือที่นั่งบริเวณชายหาดเพื่อการค้าหรือการบริการ ห้ามการท่องเที่ยวโดยใช้เรือดำน้ำระยะตื้นหรือเรือท้องกระจก การทำประมงปลิงทะเลหรือปลิงลูกบอล ให้เก็บด้วยมือเท่านั้น การเดินเรือกำหนดให้มีความเร็วไม่เกิน 8 นอต และห้ามเก็บหรือขนย้ายเปลือกหอยทุกประเภทบนเกาะหอขาว 

อย่างไรก็ตาม ตนได้มอบหมายให้ ทช. และหน่วยงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลและ กทช. เป็นการเร่งด่วน พร้อมกำชับให้ติดตามความคืบหน้าอย่างใกล้ชิดรวมถึงส่งเสริมการทำงานร่วมกับเครือข่ายในพื้นที่ผสานการมีส่วนร่วมจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชนชายฝั่ง อาสาสมัครพิทักษ์ทะเล และภาคเอกชน ให้หันมาใส่ใจและร่วมกันปกป้อง คุ้มครองพื้นที่ทางทะเลให้สมบูรณ์อย่างยั่งยืนตลอดไป 

แสดงความเห็น