รมว.ยุติธรรม นั่ง ปธ.ประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการร่วมกับอาสาสมัครภาคประชาชน ลุยงานเชิงรุก นำปัญหาเปลี่ยนเป็นนโยบายเน้นพัฒนาระบบเฝ้าระวังกระทำผิดซ้ำคดีสะเทือนขวัญ เร่ง ผลักดันศูนย์ JSOC ไว้ติดตามผู้พ้นโทษเพื่อความปลอดภัยของปชช.
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานพิธีเปิดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง “การพัฒนาระบบเฝ้าระวังการกระทำผิดซ้ำเพื่อความปลอดภัยในชุมชน” ผ่านระบบวีดีโอคอนเฟอเรนซ์ ร่วมกับ นางสาวณัฐธ์ภัสส์ ยงใจยุทธ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม นายวิตถวัลย์ สุนทรขจิต อธิบดีกรมคุมประพฤติ อาสาสมัครภาคประชาชน และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง
นายสมศักดิ์ ระบุว่า จากกรณีสะเทือนขวัญต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงระยะที่ผ่านมาหลายกรณีได้สร้างความกังวลใจแก่ประชาชนเกี่ยวกับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า ผู้ที่กระทำผิดในลักษณะสะเทือนขวัญดังกล่าว มักจะเป็นผู้ที่เคยต้องโทษจนได้รับการปล่อยตัว โดยไม่มีการเฝ้าระวังหรือติดตามพฤติกรรมภายหลังพ้นโทษจนกลับไปใช้ชีวิตอยู่ในชุมชน ซึ่งกระทรวงยุติธรรมมีความห่วงใยประชาชนเรื่องความปลอดภัย โดยได้นำสภาพปัญหาและความต้องการไปกำหนดแผนและกลไกต่าง ๆ โดยมีการผลักดันร่างพระราชบัญญัติป้องกันการกระทำผิดซ้ำของผู้กระทำผิดอุกฉกรรจ์ ซึ่งปัจจุบันได้ผ่านการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีและอยู่ในขั้นตอนของคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา ซึ่งต้องให้เหมาะสมกับสถานการณ์และสภาพความรุนแรง แต่กระบวนการทางกฎหมายยังต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง
นายสมศักดิ์ ระบุอีกว่า กระทรวงยุติธรรม ได้ดำเนินการควบคู่เป็นการเร่งด่วนโดยจัดตั้ง “ศูนย์เฉพาะกิจเฝ้าระวังความปลอดภัยให้กับประชาชน” หรือ JSOC เพื่อทำหน้าที่เฝ้าระวังและติดตามผู้พ้นโทษในคดีสะเทือนขวัญด้วยกลไกทางสังคมและความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งที่ผ่านมา JSOC ปฏิบัติงานได้ผลอย่างดี เพราะผู้กระทำผิดที่พ้นโทษคดีสะเทือนขวัญไม่หวนกลับไปทำผิดซ้ำอีก ที่สำคัญยังมีอาชีพเป็นกิจจะลักษณะ โดยปัจจุบันเราเรียกเคสเหล่านี้ว่า ว้อชลิสต์ 1
“การพิจารณาจากแนวคิดตัวอย่างของต่างประเทศที่ว่า “หากชุมชนรู้ถึงอันตรายในชุมชุนจะไม่มีผู้ได้รับอันตราย” กระทรวงฯจึงหาวิธีการเพื่อกำหนดเป็นนโยบายเฝ้าระวังติดตามพฤติกรรมผู้กระทำผิดที่เคยก่อเหตุสะเทือนขวัญ ด้วยการพักการลงโทษให้ออกมาปรับตัวใช้ชีวิตร่วมกับประชาชนระยะหนึ่งแต่ต้องสวมใส่กำไล EM เพื่อเฝ้าระวังพฤติกรรม โดยมีเจ้าหน้าที่ อาสาสมัคร ตลอดจนภาคีเครือข่ายภาคประชาชนช่วยกันสอดส่อง และผ่านการดูแลของ JSOC จะทำให้สังคมสร้างการรับรู้ว่ามีบุคคลอันตรายอยู่ในพื้นที่ ดีกว่าสังคมไม่รู้อะไรเลย” นายสมศักดิ์ กล่าว