“สมศักดิ์” ดันร่างพ.ร.บ.คุ้มครองพยานคดีอาญา ผ่านสภาวาระแรก แก้เพิ่มความปลอดภัย-ค่าตอบแทน ปรับให้สอดคล้องการปฏิบัติงาน

ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายชวน หลีกภัย เป็นประธานในการประชุม มีวาระการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองพยานในคดีอาญา (ฉบับที่ …) พ.ศ…. ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม อภิปรายชี้แจงหลักการและเหตุผลว่า การแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.คุ้มครองพยานในคดีอาญา พ.ศ.2546 จะแก้ไขเพิ่มเติม คือ ในมาตรา 3 คือคำว่า พยาน ให้ครอบคลุมถึงผู้แจ้งเบาะแสในคดีอาญาและจำเลยในคดีอาญาให้ได้รับการคุ้มครอง มาตรา 6 เพิ่มให้หน่วยงานที่ทำหน้าที่คุ้มครองพยานมีการประเมินพฤติการณ์ความไม่ปลอดภัยของพยาน มาตรา 8 (2) และ(3) แก้ไขเพิ่มเติมมูลฐานความผิดฐานก่อการร้าย และความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ เป็นมูลฐานความผิดที่ร้องขอมาตรการพิเศษ มาตรา 10 ตัดอายุความการจ่ายค่าเลี้ยงชีพของพยาน และให้แก้ไขการเปลี่ยนแปลงข้อมูลทางทะเบียนราษฎรของพยานได้ มาตรา 12(6) เหตุสิ้นสุดในการคุ้มครองพยาน ให้สำนักงานคุ้มครองพยานเสนอเหตุสิ้นสุดในการคุ้มครองพยานได้ มาตรา 13 วรรคแรก ให้สำนักงานคุ้มครองพยานมีหน้าที่ในการฝึกอบรมเกี่ยวกับการปฏิบัติภารกิจคุ้มครองพยาน และเพิ่มมาตรา 13 วรรคสอง กำหนดให้มีการช่วยเหลือพยานที่ได้รับผลกระทบจากการมาเป็นพยาน ให้ได้รับการช่วยเหลือเยียวยาจากรัฐ มาตรา 13/1 เพิ่มอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานให้มีอำนาจหน้าที่ตรวจค้น ควบคุมบุคคลหรือยานพาหนะต้องสงสัยที่อาจก่ออันตรายต่อพยาน และมาตรา17 วรรคแรก ให้พยานมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายที่ได้เดินทางมาให้ข้อเท็จจริง

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า จากการบังคับใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองพยานในคดีอาญา พ.ศ.2546 มาช่วงระยะเวลาหนึ่ง พบว่าบทบัญญัติบางมาตราไม่สอดคล้องกับการปฏิบัติงาน สภาพเศรษฐกิจ ภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นกับพยานที่มาทำหน้าที่เป็นพยานในการพิจารณาคดีอาญา รวมทั้งยังไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของพนักงาน เจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงานตาม พ.ร.บ.คุ้มครองพยานในคดีอาญา พ.ศ.2546 กระทรวงยุติธรรมจึงได้เสนอร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองพยานฯ ที่ได้มีการปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้พยานได้รับการคุ้มครองความปลอดภัยอย่างมีประสิทธิภาพ การจ่ายค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายแแก่พยานที่มาทำหน้าที่พยานในคดีอาญา สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและไม่เป็นภาระแก่พยาน

จากนั้นสมาชิกได้อภิปรายอย่างกว้างขวาง และได้ลงมติรับหลักการด้วยคะแนนเอกฉันท์ 301 ต่อ 0 เสียง และตั้งกมธ.วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.คุ้มครองพยานฯ 25 คน ระยะเวลาแปรญัตติ 7 วัน

แสดงความเห็น