ประเมินตัวเลขติดเชื้อ 15 วัน ค่อยตัดสินใจต้องถึงขั้นล็อกดาวน์หรือไม่​

ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความแห่งชาติ(สมช.)ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการบริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.)​ กล่าวถึงข้อเสนอให้ศบค.ล็อกดาวน์ เนื่องจากตัวเลขผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตสูงขึ้นต่อเนื่อง ว่า ได้ยินอย่างนั้นเหมือนกัน แต่ตอนนี้รอข้อเสนออย่างเป็นทางการ และรับฟังความเห็นจากทางกระทรวงสาธารณสุขก่อนเป็นลำดับแรก โดย ศบค.พร้อมรับไว้พิจารณาอยู่แล้ว จากนั้นจะหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป ขณะนี้ตัวเลขผู้ติดเชื้อยังทรงตัวอยู่ แต่ตัวเลขจะถึงขั้นไหนค่อยมาว่ากันอีกที อยากให้สื่อทำความเข้าใจกับคำว่าล็อกดาวน์ ว่าหมายความว่าอย่างไร ถ้าเป็นเหมือนตอนเดือน เม.ย.63 คือการล็อกดาวน์จริง เพราะรวมถึงการเคอร์ฟิวส์ด้วย แต่หลังจากนั้นไม่ใช่ล็อกดาวน์แต่เป็นการปิดกิจการและจำกัดการเคลื่อนย้าย ฉะนั้นถ้าใช้คำว่าล็อกดาวน์ ในขณะนี้ที่เป็นการปิดบางกิจการ คนจะเข้าเข้าใจว่าเหมือนเดือนเม.ย.63ซึ่งความหมายจะผิดเพี้ยนไป

ผู้สื่อข่าวถ้าถามว่าจะพิจารณาเรื่องนี้ ในวันที่ 12 ก.ค.นี้ หรือไม่ พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า ถ้าตัวเลขเพิ่มขึ้นก็อาจจะเร็วกว่านั้น แต่ถ้ายังเป็นลักษณะขึ้นลงแบบนี้ อาจรอดูสถานการณ์ให้ครบ 15 วัน เพื่อประเมินทีเดียวแล้วดูให้ครบถ้วน โดยเราทำอย่างอื่นไปด้วยเช่น ควบคุมการเคลื่อนย้าย การแก้ปัญหารักษาพยาบาลเรื่องเตียงไม่พอ ไม่ใช่ว่าจะนั่งรอดูตัวเลขเฉยๆ

เมื่อถามวาหากจะประกาศล็อกดาวน์ จะประกาศเฉพาะพื้นที่พบการแพร่ระบาดของเชื้อสายพันธุ์เดลต้ามากที่สุด หรือจะประกาศในภาพรวมทั้งหมด พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า จะเน้นเข้มข้นในพื้นที่แพร่ระบาดทั้งในกทม.และปริมณฑล หรือ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนพื้นที่อื่นจะมีมาตรการเสริม หากล็อกดาวน์หรือเซมิล็อกดาวน์ หรืออะไรก็ตาม ถ้าทำเฉพาะกทม.หรือปริมณฑล แต่พื้นที่อื่นไม่ทำจะไม่สอดคล้องกัน ฉะนั้นต้องลดหลั่นไปตามเหมาะสม

เมื่อถามว่าเหตุใดรัฐบาลถึงเลี่ยงคำว่าล็อกดาวน์ พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า ไม่ได้หลีกเลี่ยง แต่ความหมายต้องชัดเจน คำว่าล็อกคือไม่ให้ไปไหน แต่ช่วงหลังให้ไปไหนมาไหนได้ เมื่อใดที่ต้องใช้คำว่าล็อกดาวน์ หรือทำบางช่วงเวลาและบางพื้นที่ต้องระบุให้ชัดเจน

เมื่อถามว่าการล็อกดาวช่วงเดือนเม.ย.63 ได้ผลจึงมีข้อเสนอให้ล็อกดาวน์ขึ้นมาอีกครั้ง พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า ต้องยอมรับความจริงว่าผู้ประกอบการหาเช้ากินค่ำ หรือผู้ที่ไม่มีรายได้ประจำเดือดร้อนมาก ถ้าทำอย่างนั้นคนจะเดือดร้อนจำนวนมาก ทั้งนี้การทรวงการคลัง ได้แจ้งข้อมูลในช่วงเม.ย.63 ว่าใช้งบประมาณเยียวยา เดือนละเกือบ 3 แสนล้าน ถ้าเราทำอีกจะต้องหางบประมาณมาเยียวยาประชาชนอีกมาก ซึ่งในข้อเท็จจริงแม้จะใช้งบถึงเดือนละ3 แสนล้านบาทก็ยังไม่สามารถเยียวยาประชาชนได้ทั่วถึง ทาง ศบค.คำนึงผลกระทบตรงนี้ที่มีต่อประชาชน จึงให้บางส่วนยังหากินได้ ไม่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดคือสิ่งที่ดีที่สุด และหากจะทำต้องวิเคราะห์ปัจจัยที่เป็นสาเหตุทั้งหมด ถ้ากระทรวงสาธารณสุข เห็นว่าต้นเหตุคือทั้งหมดทุกส่วนก็จำเป็นต้องล็อกดาวน์

เมื่อถามถึงมาตรการขอความร่วมมือเวิร์กฟอร์มโฮม แต่ยังไม่ถึง 75 เปอร์เซ็นต์ ศบค.จะมีมาตรการเพิ่มเติมหรือไม่ พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า ข้อกำหนดทุกฉบับที่ออกมาจะเน้นว่าให้ทำงานที่บ้านสูงสุด แต่ส่วนราชการบางส่วนมีภารกิจบริการประชาชน บางส่วนมีความสำคัญต่อการบริหารราชการแผ่นดิน บางส่วนมีหน้าที่ด้านความมั่นคง ที่จำเป็นต้องมาทำงาน โดยรัฐบาลและศบค.ย้ำเสมอว่าเมื่อมาทำงานต้องระวัง และที่ผ่านมาหน่วยงานที่ขอความร่วมมือแต่ยังปฏิบัติไม่เต็มที่คือภาคเอกชน

แสดงความเห็น