จับสัญญาณ พลังดูด พปชร. ยุบสภาฯ-เลือกตั้ง อีกไกล แต่ก็ไม่แน่!

การลาออกจากผู้ชำนาญการประจำตัว พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทยและส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ แล้วสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ พรรคแกนนำรัฐบาล ของ “เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ” เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา โดยได้เก้าอี้ กรรมาธิการงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2565 ที่แม้งานจะหนัก แต่ในทางการเมือง ต่างรู้กันดีว่า ถือเป็นกรรมาธิการเกรดเอ ที่นักการเมืองส่วนใหญ่อยากเป็น และเป็นการทำงานในสภาฯ ที่เรืองไกร โปรดปรานอยู่แล้ว อันเป็นการซื้อใจ ของพรรคพลังประชารัฐ กับเรืองไกร ทำนอง ถ้ากล้าเข้ามา พลังประชารัฐ ก็กล้าให้  

สิ่งที่เกิดขึ้นในทางการเมือง เลยทำให้แวดวงการเมือง อดคิดไม่ได้ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นว่า เป็นการขยับของ “พรรคพลังประชารัฐ” พรรคแกนนำรัฐบาลว่า ระหว่างนี้ ที่สภาฯ เหลืออายุขัยอยู่ไม่ถึงสองปี พลังประชารัฐ ได้เริ่มตระเตรียมกำลังพล ในทุกส่วนไว้แล้วแต่เนิ่นๆ หากในอนาคต เกิดอุบัติเหตุการเมืองหรือจังหวะบังคับ ทำให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และพลังประชารัฐ จำต้องยอมตัดสินใจ ยุบสภาฯ ก่อนครบวาระสี่ปี  

ต้องไม่ลืมว่า การเมืองเรื่อง “เลือกตั้ง-ยุบสภาฯ” พลังประชารัฐ ได้เปรียบทุกพรรคการเมือง เพราะอำนาจการยุบสภาฯอยู่ที่มือ พลเอกประยุทธ์ ที่ก็คือ ผู้นำรัฐบาลของพลังประชารัฐ 

ดังนั้น หากบิ๊กตู่ ครุ่นคิดหรือจะตัดสินใจทำอะไร แกนนำพลังประชารัฐ ย่อมจะรู้ก่อนล่วงหน้าพรรคการเมืองอื่น การที่ พลังประชารัฐ เริ่มมีการดึงคนจากฝ่ายต่าง ๆมาเข้าพรรคกันตั้งแต่ช่วงนี้ เลยทำให้ หลายพรรคการเมืองทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านจ้องตาเป็นมัน ว่าอาจเป็นสัญญาณที่ไม่ปกติ 

ยิ่งเมื่อมีข่าวว่า แกนนำพลังประชารัฐ ทั้งสายภาคเหนือ สายภาคกลาง ตะวันออก ภาคอีสาน และภาคใต้ เริ่มมีการเดินสาย เตรียมทาบทาม ใช้พลังดูด ส.ส.พรรคการเมืองอื่น ทั้งรัฐบาลด้วยกันเองและฝ่ายค้านให้มาเข้าพลังประชารัฐ โดยแกนนำพรรคอย่าง วิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาล ก็ยังออกมาระบุว่า กรณีของเรืองไกร ยังไม่น่าตกใจ เพราะหากมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น รับรอง มีเซอร์ไพรส์กว่านี้” 

สอดรับกับกระแสทางลึกที่ลือกันหนาหูในแวดวงการเมือง ว่าแกนนำพรรคพลังประชารัฐ ที่ร่วมหารือกับ พลเอกประวิตร มีการลิสต์รายชื่อส.ส.รัฐบาลและฝ่ายค้าน ร่วม 10 ชื่อ ที่จะย้ายเข้ามาอยู่กับพรรคพลังประชารัฐในการเลือกตั้งรอบหน้าเตรียมไว้รอแล้ว 

พอเกิดกระแสข่าวดังกล่าว แวดวงการเมือง เลยวิเคราะห์และหาข่าวกันหลายทาง โดยในส่วนของ ส.ส.พรรคฝ่ายรัฐบาล  มีการคาดหมายและประเมินกันว่า กลุ่มหนึ่งที่น่าจับตาคือพวก “อดีตส.ส.พรรคส้ม” หรือพวกอดีต ส.ส.อนาคตใหม่เดิม ที่ถูกกรรมการบริหารพรรคดีดออกจากอนาคตใหม่เพราะโหวตสวนมติพรรค กับอดีตส.ส.อนาคตใหม่ ที่ไม่ใช่พวกที่ย้ายไปอยู่กับพรรคภูมิใจไทยร่วมสิบคน ตอนอนาคตใหม่โดนยุบพรรค รวมถึงไม่ใช่พวก 4 ส.ส.พรรคก้าวไกล เวลานี้ ที่แหกมติพรรคซ้ำแล้วซ้ำเล่าที่นำโดย คารม พลพรกลาง ที่จะย้ายไปภูมิใจไทย 

แต่เป็นพวกอดีต ส.ส.พรรคส้ม ที่ตอนนี้ส่วนใหญ่จะอยู่กับพวกพรรคขนาดเล็ก ที่มีส.ส.ไม่เกินสิบเสียง ซึ่งหากไปไล่เรียงกันดู ก็จะเดาได้ไม่ยาก 

ท่ามกลางข่าวว่า บางคน พอไปอยู่กับพรรคขนาดเล็กแล้ว เห็นว่าโอกาสเติบโตยาก ทำงานในสภาฯก็ไม่ค่อยมีบทบาทอะไร รวมถึงการทำงานในพื้นที่ก็ลำบากเพราะอยู่พรรคเล็ก คนไม่ค่อยรู้จัก  อีกทั้งเลือกตั้งรอบหน้า ไม่สามารถโหนกระแส อนาคตใหม่ แบบเดิมเข้าสภาฯได้แล้ว ดังนั้น จำเป็นต้องมีทุน-กระสุนดินดำ ไว้สู้ศึกเลือกตั้ง ซึ่งการอยู่พรรคใหญ่ มีโอกาสมากกว่า 

อาจเพราะด้วยเหตุทำนองนี้ เลยทำให้ หลายคนจับจ้องไปที่ กลุ่มอดีตส.ส.พรรคส้ม ที่อยู่ตามพรรคการเมืองขนาดเล็ก อาจเข้าพรรคพลังประชารัฐ ยามเมื่อโอกาสมาถึง หลังเกิดกรณี “เรืองไกร” ย้ายข้างสลับขั้ว  

นอกจากนี้ ยังน่าจับตา พวกพรรคการเมืองขนาดเล็ก พวกที่มีส.ส.1-5 คน 

เพราะก่อนหน้านี้ ก็มีกระแสข่าว กระเซ็นกระสาย ว่า พรรคขนาดเล็กบางพรรค  เริ่มถอดใจ เพราะมองดูแล้ว เลือกตั้งรอบหน้า โอกาสกลับเข้าสภาฯ เหนื่อยไม่ใช่น้อย ไม่ว่าจะเป็นกติกาเลือกตั้ง แบบปัจจุบัน บัตรใบเดียว หรือหากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เปลี่ยนระบบเลือกตั้งเป็นบัตรสองใบอย่างที่พลังประชารัฐเสนอ ทั้งสองระบบ พรรคเล็กก็เหนื่อยหมด 

เพราะหากแก้ไขรธน.เปลี่ยนระบบเลือกตั้งไม่สำเร็จ เลือกตั้งรอบหน้า ก็ต้องเจอกับการที่พรรคการเมืองต้องทำไพรมารีโหวต ผู้สมัครทั่วประเทศ ทำให้พรรคขนาดเล็ก สู้ลำบาก แต่หากแก้ไขรธน.สำเร็จ ระบบที่พลังประชารัฐ เสนอแก้ไขรธน.เอาไว้ ก็ไม่เอื้อกับพรรคขนาดเล็กอีกเช่นกัน 

จึงทำให้ก่อนหน้านี้ ช่วงพรรคพลังประชารัฐ กำลังเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา เมื่อช่วงเมษายนที่ผ่านมา เลยมีข่าวทำนอง พรรคเล็กบางพรรค  กำลังคิดจะยุติบทบาทแล้วขอย้ายเข้าพลังประชารัฐ หลังหลายคนเห็นโมเดล ไพบูลย์ นิติตะวัน ยังยอมทิ้ง พรรคประชาชนปฏิรูปของตัวเอง ไปอยู่กับพลังประชารัฐ แล้วได้ดิบได้ดี ได้มีบทบาทในพรรคพลังประชารัฐและในสภาฯ ทำให้มีข่าวก่อนหน้านี้ทำนองว่า  พรรคเล็กบางพรรคก็เริ่มคิดจะเดินรอยตาม อาจเอาแบบ ไพบูลย์ ขอเข้าร่วมพลังประชารัฐด้วยเช่นกัน ยามเมื่อโอกาสอำนวย 

ทั้งหมดคือข้อมูล ความเคลื่อนไหว ที่เกิดขึ้น หลังเกิดกรณี เรืองไกร เข้าพลังประชารัฐ และมีข่าวว่า แกนนำพรรคพลังประชารัฐ เตรียมแผนจะดูดส.ส.ทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้าน เข้าพรรคในการเลือกตั้งรอบหน้าหลายคน โดยเฉพาะส.ส.ฝ่ายค้าน “พรรคเพื่อไทย” ที่ข่าวว่า แกนนำพลังประชารัฐ มีชื่ออยู่ในลิสต์จ้องจะทาบทามนับสิบคน ทั้งส.ส.เหนือ-อีสาน-กลาง 

จนต่อมา “ศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ ส.ส.อุตรดิตถ์ พรรคเพื่อไทย” ออกมายอมรับว่า มีผู้ใหญ่ของพรรคพลังประชารัฐติดต่อมาจริง และหลายครั้ง พร้อมโน้มน้าวว่า อีกไม่นานจะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง อาจมีการยุบสภาในปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า แต่ยืนยันจะยืนข้างประชาธิปไตยอย่างชัดเจน ไม่ย้ายข้างไปซบฝ่ายเผด็จการอย่างแน่นอน

โดยหากถอดความระหว่างบรรทัดที่ ศรัณย์วุฒิ ระบุไว้ว่า “มีผู้ใหญ่ของพรรคพลังประชารัฐติดต่อมาจริง และหลายครั้ง พร้อมโน้มน้าวว่า อีกไม่นานจะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง อาจมีการยุบสภาในปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า” 

ประโยคแบบนี้ มันก็น่าคิด ไม่ใช่น้อย เพราะที่ผ่านมา แวดวงการเมือง ก็มีการมองกันว่า หากสถานการณ์ต่างๆ ดูแล้ว ยากที่ พลเอกประยุทธ์ จะอยู่ครบเทอม และปัจจัยต่างๆ เอื้อให้ควรยุบสภาฯ เช่น ร่างพ.ร.บ.งบฯ 65 ผ่านสภาฯ ประกาศใช้เรียบร้อยแล้ว -การแก้ไขรธน.รายมาตรา เปลี่ยนระบบการเลือกตั้ง เป็นบัตรสองใบ ทำได้สำเร็จภายในปลายปีนี้ อันเป็นระบบเลือกตั้งที่จะเอื้อต่อพลังประชารัฐ อย่างมากให้ได้ส.ส.มากขึ้น -รัฐบาลแก้ปัญหาโควิดได้ลุล่วง คนฉีดวัคซีนได้ครบเกือบทั่วประเทศ และเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว มีการเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาได้  

การยุบสภาฯ เพื่อไปเลือกตั้งกันใหม่ภายใต้ความได้เปรียบของพลังประชารัฐ ในฐานะกุมอำนาจรัฐและมีส.ว.ในมือ 250 คนคอยโหวตนายกฯ ก็อาจเป็นทางเลือก ที่ทำให้ พลเอกประยุทธ์และพลังประชารัฐ อาจต้องยอมมาทางนี้ ดีกว่าลากยาว หวังอยู่ครบเทอม แล้วกระแสบิ๊กตู่เริ่มตก จนทำให้ พลังประชารัฐ ได้ส.ส.หลังเลือกตั้งน้อย จนตั้งรัฐบาลได้ยาก 

อาจเพราะด้วยแนววิเคราะห์ดังกล่าว เลยทำให้เริ่มเห็นการขยับของพลังประชารัฐ ทั้งการจะเร่งเสนอแก้ไขรธน.รายมาตราให้เสร็จโดยเร็ว -การวางแผนเตรียมดูดส.ส. เข้าพรรค แต่เนิ่นๆ หรือข่าวการตั้งพรรคการเมืองใหม่ให้มาเป็นพรรคพันธมิตรฯเพื่อไว้จัดตั้งรัฐบาลร่วมกันหลังเลือกตั้ง อย่าง พรรครวมไทยสร้างชาติ 

ทั้งหมดล้วนเป็นสัญญาณการเมือง ที่แสดงให้เห็นว่า พรรคพลังประชารัฐ ก็ไม่ประมาท พรรคมีการเตรียมพร้อมเข้าสู่สนามเลือกตั้งทุกเมื่อ หากจำเป็น 

Exit mobile version