สรุปยอด อุบัติเหตุเทศกาลสงกรานต์ 64 เกิดเหตุ 2,365 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 277 ราย

นิพนธ์ สรุปยอด อุบัติเหตุเทศกาลสงกรานต์ 64 ช่วงควบคุมเข้มข้น(10-16 เม.ย.) เกิดเหตุ 2,365 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 277 ราย ปทุมฯยอดเสียชีวิตอันดับหนึ่ง 10 ราย ส่วนนครศรีฯเกิดอุบัติเหตุและบาดเจ็บมากสุด

นายนิพนธ์ บุญญามณี  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย  เปิดเผยว่า  สถิติอุบัติเหตุทางถนน ประจำวันที่ 17 เมษายน 2564 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการรณรงค์ของการควบคุมเข้มข้นเทศกาลสงกรานต์ปีใหม่ไทย 2564 ภายใต้แนวคิด “สงกรานต์สุขใจ ขับขี่ปลอดภัย ห่างไกลโควิด”  เกิดอุบัติเหตุ 253 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 26 ราย ผู้บาดเจ็บ 255 คน  จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุดของวันที่ 16 เม.ย.ที่ผ่านมา ได้แก่ นครศรีธรรมราช (15 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุดวันนี้ ได้แก่ นครศรีธรรมราช (14 คน)  จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ อุบลราชธานี (3 ราย) จันทบุรี เพชรบูรณ์ (2 ราย)

ขณะที่สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 7 วันของการรณรงค์ (10- 16 เม.ย. 64) เกิดอุบัติเหตุรวม  2,365 ครั้ง ผู้เสียชีวิตรวม 277 ราย  ผู้บาดเจ็บรวม 2,357 คน  จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช 106 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช 109 คน  จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ ปทุมธานี 10 ราย กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ 9 ราย

จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 5 จังหวัด   ส่วนสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว  ดื่มแล้วขับ  ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์   ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 16.01-20.00 น.

นายนิพนธ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากสถิติอุบัติเหตุทางถนนช่วงสงกรานต์ 2564 เปรียบเทียบอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับปี 2562  การเกิดอุบัติเหตุ ลดลง 20 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ ลดลง 22 คน  ผู้เสียชีวิตลดลง  4 ราย  โดยสาเหตุหลักของอุบัติเหตุทางถนนยังคงเกิดจากการขับรถเร็วเกินกฎหมายกำหนด และดื่มแล้วขับ รวมถึงผู้ใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะที่มีสถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนนสูงสุด ทั้งนี้จะนำไปวิเคราะห์ข้อมูลสถิติอุบัติเหตุทางถนน เพื่อให้ทราบถึงสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงอุบัติเหตุในเชิงลึก รวมทั้งเน้นย้ำให้ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนอำเภอ(ศปถ.)และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)ร่วมกับเจ้าหน้าที่ ภาคประชาชน จิตอาสา และอาสาสมัคร ขับเคลื่อนการลดอุบัติเหตุทางถนนในชุมชนและหมู่บ้าน ใช้กฎหมายจราจรอย่างเคร่งครัด เพื่อคุมเข้มพฤติกรรมเสี่ยงที่เป็นปัจจัยทำให้เกิดอุบัติเหตุ ควบคู่กับการรณรงค์ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ ความตระหนักในการใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย สร้างจิตสำนึกความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งจะเป็นรากฐานในการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนน นำไปสู่การบรรลุเป้าหมายระดับประเทศในการลดอัตราผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน ให้ได้ร้อยละ 5 เมื่อเทียบ โดยตั้งความหวังว่าในอีก 10 ปีข้างหน้าจะมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนต่ำกว่า 10,000 รายต่อปี ซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม

แสดงความเห็น