“สมศักดิ์” ควง “วราเทพ” ประชุม คกก.ขับเคลื่อนไทย กำแพงเพชร สุโขทัย ตาก ย้ำนโยบายแก้จนหาวิธีสร้างงาน-เพิ่มรายได้ให้ชาวบ้าน แนะแต่ละจังหวัดทำความเข้าใจเกษตรกรเรื่อง GAP ยกระดับสินค้าเกษตร ชม 3 จังหวัดคุมโควิดได้ดี ชี้ทุกโครงการต้องทำให้คุ้มค่างบประมาณ-วางแผนระยะยาวทำให้สำเร็จ
ที่กระทรวงยุติธรรม นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันระดับพื้นที่ 3 จังหวัด (กำแพงเพชร สุโขทัย ตาก) โดยมีศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม นายวัลลภ นาคบัว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม นายวราเทพ รัตนากร ที่ปรึกษาคณะกรรมการ นายเรืองศักดิ์ สุวารี อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ผู้แทนจากกรมต่างๆและข้าราชการเข้าร่วมประชุม โดยมีการวีดีโอคอนเฟอเรนซ์กับ ส่วนราชการทั้ง 3 จังหวัดด้วย
โดยในช่วงแรกเป็นการรายงานความคืบหน้าของการขับเคลื่อนจากทั้ง 3 จังหวัด ซึ่งทาง จ.ตาก ได้รายงานปัญหาและอุปสรรคเกี่ยวกับทางด้านการเกษตร คือ เกษตรกรบางส่วนยังไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตร และไม่ให้ความสำคัญในการขอรับรองแหล่งผลิต การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) พืชเท่าที่ควร และมีปัญหาเกี่ยวกับที่ทำกิน ซึ่งทาง จ.สุโขทัย ก็มีปัญหาในลักษณะเดียวกัน ซึ่งในส่วนของด้านปศุสัตว์ เกษตรกรบางส่วนยังไม่มีเอกสารสิทธิในการรับรองมาตรฐาน GAP และเกษตรกรยังไม่ให้ความสำคัญกับมาตรฐาน นอกจากนี้ยังมีปัญหาด้านอุตสาหกรรมจากแรงงานในช่วงโควิด-19 สถานประกอบการบางแห่งมีความต้องการแรงงาน โดยพื้นที่ จ.ตากแรงงานไทยหายาก ต้องจ้างแรงงานต่างด้าว ซึ่งขณะนี้ขาดแคลนมาก และจากสถานการณ์โควิดยังส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวของทั้ง 3 จังหวัดด้วย
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า เราต้องดูว่าอะไรที่จะสามารถนำไปขับเคลื่อน แก้ปัญหาให้ประชาชนในพื้นที่ ปัญหาสำคัญในขณะนี้ที่นายกรัฐมนตรีให้ความสนใจอยู่คือ ปัญหาโควิด-19 ซึ่งทั้ง 3 จังหวัดถือว่ามีมาตรการที่ดีมาก และขอฝากถึงภาคเกษตรของแต่ละจังหวัดไปดำเนินการเกี่ยวกับ GAP ให้ความรู้กับเกษตรกรถึงผลดีผลเสีย เพื่อยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตรให้สูงขึ้นเพื่อเพิ่มรายได้ ส่วนการอำนวยการด้านความยุติธรรม ตรงนี้อาจจะต้องเพิ่มการขับเคลื่อน ซึ่งในอนาคตเราอาจจะต้องเจอปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจจากโควิด ดังนั้นการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทและหนี้สินต่างๆอาจจะมีมากขึ้น ซึ่งทางกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพที่จะผลักดันให้มีศูนย์ไกล่เกลี่ยทุกจังหวัด และเงินช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียหายเหยื่อในคดีอาญา ขอให้ผู้เกี่ยวข้องช่วยดูแลให้ถึงประชาชน รวมทั้งเงินจากกองทุนยุติธรรมด้วย เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน และหากพบประชาชนเดือดร้อนก็ขอให้ช่วยแนะนำวิธีการการขอรับเงินเยียวยาอย่างถูกต้องด้วย
“ผมเน้นแนวทางแก้ปัญหาความยากจน เมื่อดูจากกองทุนหมู่บ้าน แต่ละหมู่บ้านมีอยู่ 3.5 ล้านบาท หากเราไม่ทำให้ประชาชนในหมู่บ้านมีโครงการมีรายได้ เมื่อไรจะใช้หนี้หมด ผมคิดว่ารัฐบาลก็อยากช่วยเหลือราคาสินค้าเกษตร ที่ผ่านมามีการประกันราคาสินค้า มีการจำนำ หากเราใช้ทรัพยากรต่างๆ ทั้งดินและน้ำไม่ประหยัดจะผลิตสินค้าต่างๆออกมาไม่ทันใช้ ซึ่งกระทรวงยุติธรรม โดยกรมราชทัณฑ์ มีเรือนจำ 143 แห่งทั่วประเทศ และเราได้ให้ทดลองปลูกผลไม้ เช่น ทุเรียน มังคุด หากที่ไหนปลูกแล้วมีผลผลิต เป็นพื้นที่ที่ไม่เคยปลูก จะถือเป็นการเปิดพื้นที่ปลูกใหม่ ประชาชนก็สามารถปลูกตามได้ และตนอยากให้ฝึกเทคนิคการปลูกพืชด้วย ทั้งนี้อยากให้แต่ละจังหวัดนำเสนอแนวทางมา นอกจากการช่วยเหลือจากรัฐบาลแล้ว เราควรคิดการช่วยเหลือเพิ่มตามงบประมาณที่มี ทรัพยากรที่มี เจ้าหน้าที่ที่มี ทำยังไงให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น มีอะไรทำได้บ้าง เราต้องมองแบบนักบริหาร เอาข้อมูลทั้งหมดมาเรียงลำดับกันแล้วช่วยกันคิด” นายสมศักดิ์ กล่าว
นายวราเทพ กล่าวว่า การทำโครงการต่างๆต้องจัดการให้ดีว่าเมื่อเรานำงบประมาณไปแล้วจะทำได้ต่อเนื่อง และคุ้มค่ากับการลงทุน ไม่ใช่ว่าเมื่อมีโครงการใหม่ขึ้นมาในวันข้างหน้าเราจะต้องมารื้อโครงการเดิมอีก ควรจะทำการสำรวจและจัดทำต่อเนื่องเพื่อให้โครงการสมบูรณ์ ส่วนการแก้ปัญหาความยากจนน่าจะมีหลายมิติต้องบูรณาการทั้งการเพิ่มรายได้และการลดหนี้สิ้น เช่น การลดภาระหนี้สินจากสถาบันการเงินต่างๆ การให้ความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆทั้ง เอกชน รัฐและภาคสังคม ซึ่งการทำงานต้องมีการบูรณาการร่วมกันทั้งจังหวัด ไม่ใช่ดูที่งบประมาณเพียงอย่างเดียว อาจจะมีโครงการลักษณะอื่นๆเข้ามาด้วย การแก้ปัญหาความจนเราพยายามแก้กันมานานแล้ว จังหวัดมีศักยภาพในการคิดและวางแผนอยู่แล้วแต่อาจจะขาดงบประมาณ ดังนั้นต้องมีการบูรณาการและของบประมาณให้เป็น ซึ่งประเด็นหลักๆของ 3 หวัด คือ 1.ผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัย สร้างแหล่งน้ำและพัฒนาดินให้เหมาะสมกับการปลูกพืช เพราะประชากรส่วนใหญ่เป็นเกษตกร 2. ส่งเสริมการท่องเที่ยว และ 3. การพัฒนาชีวิตและความมั่นคงของสังคม