

คดี “ชั้น 14” ที่แพทยสภามีมติลงโทษแพทย์ 3 ราย จากกรณีเกี่ยวข้องกับการรักษานายทักษิณ ชินวัตร ดูเหมือนจะกลายเป็นมากกว่าคดีธรรมดาในวิชาชีพ
และมติของแพทยสภาได้นำไปสู่การจุดชนวนกระแสคัดค้าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ทั้งที่เจ้าตัวเพียงใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 ในการวีโต้มติดังกล่าว
ส่วนแพทยสภากลับนิ่งเฉย ปล่อยให้กระแสในวิชาชีพแพทย์ไหลแรง ราวกับเป็นฝ่าย “ถูกคุกคาม” ทั้งที่อีกฝ่ายกำลังรักษาหลักการของกระบวนการยุติธรรม
หรือจริงๆ แล้ว… แพทยสภากำลังใช้คดีนี้เป็นเครื่องมือ?
เพราะในหลายกรณีก่อนหน้า ที่มีประชาชนร้องเรียนพฤติกรรมแพทย์อย่างร้ายแรง ไม่เห็นแพทยสภา “เอาจริงเอาจัง” หรือมีท่าทีปรากฏต่อสาธารณะเหมือนกรณีนี้
ไม่เห็นมีแถลงการณ์ ไม่เห็นมีการเคลื่อนไหวของหมอ แล้วเหตุใดคราวนี้ถึงร้อนรนผิดปกติ?
หรือเพราะผู้ที่เกี่ยวข้องในคดีไม่ใช่ “คนธรรมดา” และมตินี้อาจถูกมองว่าเกี่ยวพันกับ “ความเชื่อมั่น” ที่มีเดิมพันมากกว่าคุณธรรม?
สิ่งที่สังคมควรตั้งคำถามกลับไปยังแพทยสภา ไม่ใช่แค่เรื่องความถูกต้องของมติ แต่คือการ สร้างกระแสกดดันรัฐมนตรี โดยไม่ทำหน้าที่อธิบายกฎหมายกับบุคลากรในวิชาชีพของตัวเอง ให้เข้าใจถึงอำนาจตามกฎหมายอย่างชัดเจน
กลับปล่อยให้หมอบางกลุ่มเคลื่อนไหวขับไล่รัฐมนตรี ทั้งที่ควรรอฟัง “คำอธิบาย” และ “คำตัดสินของศาล” ให้สิ้นกระบวนการก่อน
แพทยสภาควรเป็นหลักแห่งคุณธรรม ไม่ใช่เวทีการเมืองในเสื้อกราวน์ หมอควรฟังเสียงคนไข้ ไม่ใช่เสียงกระซิบจากห้องประชุมลับ
รัฐมนตรีผู้ใช้อำนาจตามกฎหมาย ไม่ควรกลายเป็นแพะของเกมอำนาจในวงวิชาชีพ
เพราะหากแตะต้องแพทยสภาไม่ได้ ไม่ว่าด้วยเหตุผลใด แล้วสังคมจะตรวจสอบใครได้?
หรือว่าทุกวันนี้… กระทรวงนี้มีหมอการเมือง มากกว่าหมอที่มีคุณธรรม?
โปรดอย่าเอาเสื้อกราวน์มาพราง จนแยกไม่ออกว่า เป็นหมอรักษาคน หรือรักษาอำนาจ!
แสดงความเห็น
