สภาผู้บริโภคยื่นฟ้อง กสทช. เบรกประมูลคลื่น เพิกถอนประกาศฯและคุ้มครองชั่วคราว หวั่นผูกขาด-รัฐสูญเสียรายได้ ผู้บริโภคเสียประโยชน์

ที่ศาลปกครอง สภาผู้บริโภค นำโดย น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ ประธานคณะอนุกรรมการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาผู้บริโภคนายอิฐบูรณ์ อ้นวงษารองเลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค เดินทางมายื่นฟ้อง คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สำนักงาน กสทช. และเลขาธิการ กสทช.  ต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้ศาลพิพากษาสั่งเพิกถอนประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากลย่าน 850 MHz 1500 MHz 2100 MHz และ 2300 MHz เฉพาะในส่วนของ 2100 MHz และ 2300 MHz และ ประกาศสำนักงาน กสทช. เรื่อง การขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคม ย่าน 850 MHz 1500 MHz 2100 MHz และ 2300 MHz ลงวันที่ 29 เมษายน 2568 เฉพาะในส่วนของ MHz 2100 MHz และ 2300 MHz รวมทั้งให้  กสทช. สำนักงาน กสทช. และ เลขาธิการ กสทช.ดำเนินการแก้ไขประกาศฯทั้งสองฉบับในส่วนของการกำหนดราคาขั้นต่ำในการประมูลคลื่น MHz 2100 MHz และ 2300 MHz ให้มีความเหมาะสมและมีหลักเกณฑ์ในการคิดราคาขั้นต่ำไม่ต่ำกว่าสัญญาเช่าตลื่นความถี่ในอดีต และต้องเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันประมูลคลื่นความถี่อย่างเป็นธรรม ไม่ให้การผูกขาดคลื่นความถี่ นอกจาก สภาผู้บริโภคยังยื่นคำร้องขอให้ศาลพิจารณาไต่สวนฉุกเฉินออกมาตรการคุ้มครองชั่วคราว ให้มีการระงับการบังคับตามประกาศทั้งสองฉบับดังกล่าวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคดีถึงที่สุด

โดยนายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค เปิดเผยว่า การฟ้องร้องในครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อขอให้ศาลเพิกถอนประกาศของ กสทช. และให้มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์การประมูลใหม่ ให้เอื้อต่อการแข่งขันที่เป็นธรรม เปิดทางให้ผู้เล่นรายใหม่เข้าสู่ตลาด และมีกลไกควบคุมคุณภาพบริการหลังประมูลอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับบริการโทรคมนาคมที่มีคุณภาพ ในราคาที่เหมาะสม

ขณะที่ตลาดโทรคมนาคมในประเทศไทยขณะนี้เหลือผู้ประกอบการหลักเพียง 2 รายใหญ่คือ ทำให้การแข่งขันลดลงอย่างมาก แต่ประกาศของ กสทช. กลับไม่มีมาตรการที่เพียงพอในการรองรับความเสี่ยงจากโครงสร้างตลาดที่ผูกขาด เช่น ไม่กำหนดผู้มีอำนาจเหนือตลาดก่อนการประมูลเพื่อควบคุมราคาค่าบริการในอนาคต ไม่มีการกำหนดเพดานราคาค่าบริการในกรณีที่ผู้ชนะการประมูลมีอำนาจเหนือตลาด หรือไม่กำหนดให้ผู้เข้าร่วมประมูลต้องเสนอแผนคุ้มครองผู้บริโภคอย่างชัดเจน

อีกทั้งสถานการณ์ตลาดปัจจุบันหลังการควบรวมกิจการ ทำให้สองรายใหญ่ ครองส่วนแบ่งตลาดรวมกันกว่า 97.29% โดยไม่มีคู่แข่งรายใดสามารถต่อกรได้ อีกทั้งในการประมูลครั้งนี้ยังคาดว่าจะไม่มีผู้เข้าร่วมรายใหม่ โดยเฉพาะเมื่อ NT ไม่พร้อมเข้าร่วมประมูลตามที่เคยประกาศไว้ และไม่มีอุปกรณ์โครงข่ายรองรับการใช้งานคลื่น 2100 MHz และ 2300 MHz ขณะเดียวกันเอกชนต่างมีอุปกรณ์โครงข่ายรองรับคลื่นที่ตนถือสิทธิ์อยู่ ส่งผลให้โอกาสในการแข่งขันแทบไม่มี และเปิดทางให้กลุ่มทุนขนาดใหญ่ครองตลาดโดยไร้คู่แข่ง

นอกจากนี้คณะรัฐมนตรียังไม่มีมติอนุมัติให้ NT เข้าร่วมประมูล และ NT เองก็ยังไม่มีความชัดเจนใด ๆในการเตรียมตัวเข้าร่วมแข่งขัน ทั้งที่การประมูลจะจัดขึ้นในเดือนมิถุนายนนี้ ทำให้โอกาสของ NT ในการถือครองคลื่นใช้งานในอนาคตริบหรี่ลง และลดโอกาสในการคงอยู่ของผู้เล่นที่ไม่ใช่ทุนขนาดใหญ่

รองเลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค ระบุว่า ยังไม่มีแนวทางสนับสนุนให้ผู้ประกอบการรายใหม่เข้าสู่ตลาด และกำหนดราคาขั้นต่ำของการประมูลไว้อย่างต่ำผิดปกติ เมื่อเปรียบเทียบกับรายได้จากการเช่าคลื่นความถี่ในอดีต เช่น คลื่น 2100 MHz มีราคาขั้นต่ำเพียง 4,500 ล้านบาทต่อ 15 ปี หากประมูลหมดทั้ง 3 ชุด รัฐจะมีรายได้เพียง 13,500 ล้านบาท ขณะที่NT เคยปล่อยเช่าในอัตราปีละ 3,900 ล้านบาท หากครบ 15 ปี จะสร้างรายได้ถึง 58,500 ล้านบาท

สำหรับคลื่น 2300 MHz กำหนดราคาขั้นต่ำไว้ที่2,596.15 ล้านบาทต่อ 15 ปี หากประมูลหมดทั้ง 6 ชุดจะนำรายได้เข้ารัฐเพียง 15,576 ล้านบาท ขณะที่ NT เคยปล่อยเช่าคลื่นนี้ปีละ 4,510 ล้านบาท หากรวม 15 ปีจะมีรายได้ถึง 67,650 ล้านบาท ซึ่งสภาผู้บริโภค ชี้ว่าการตั้งราคาประมูลต่ำขนาดนี้ไม่สอดคล้องกับผลประโยชน์ของรัฐ และอาจทำให้ผู้บริโภคไม่ได้รับผลประโยชน์จากต้นทุนที่ลดลง เช่น ค่าบริการที่ควรถูกลงแต่ไม่มีการบังคับหรือกลไกควบคุม+

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาสภาผู้บริโภค ได้ยื่นหนังสือถึง กสทช. คณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร และนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ทบทวนกระบวนการจัดประมูล แต่ไม่ได้รับการตอบสนองใด ๆทำให้เห็นว่าการปล่อยให้การประมูลดำเนินต่อไปโดยไม่มีการแก้ไข อาจสร้างความเสียหายต่อรัฐและผู้บริโภคในระยะยาว จึงต้องนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของศาลปกครองเพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ

สำหรับคำร้องที่ยื่นต่อศาลปกครองครั้งนี้ สภาผู้บริโภคขอให้ศาลมีคำสั่ง 5 ประการ ได้แก่

  1. เพิกถอนประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากลย่าน 850 MHz 1500 MHz 2100 MHz และ 2300 MHz เฉพาะในส่วนของ MHz 2100 MHz และ 2300 MHz และ ประกาศสำนักงานกสทช. เรื่อง การขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคม ย่าน 850 MHz 1500 MHz 2100 MHz และ 2300 MHz ลงวันที่ 29 เมษายน 2568 เฉพาะในส่วนของ MHz 2100 MHz และ 2300 MHz
  2. ขอศาลปกครองกลางได้โปรดมีคำสั่งให้ คณะกรรมการ กสทช. สำนักงาน กสทช. และ เลขาธิการกสทช.ทำหน้าที่ดำเนินการแก้ไขประกาศฯพิพาททั้งสองฉบับในส่วนของการกำหนดราคาขั้นต่ำในการประมูลคลื่น MHz 2100 MHz และ 2300 MHz ให้มีความเหมาะสมและมีหลักเกณฑ์ในการคิดราคาขั้นต่ำโดยอยู่บนพื้นฐานอ้างอิงจากค่าเช่าในสัญญาต่างตอบแทนที่บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติจำกัด(มหาชน) หรือเอ็นที ทำสัญญาต่างตอบแทนกับกลุ่มบริษัท ทรู และ บริษัทแอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด หรือ AWN  เพื่อให้เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ที่ต้องคำนึงถึงประโยชน์ของชาติและการคุ้มครองผู้บริโภคและเพื่อป้องกันการผูกขาดและให้เกิดการแข่งขันในธุรกิจโทรคมนาคมของประเทศไทย ตามมาตรา 60
  3. ขอให้ศาลปกครองกลางสั่งการให้คณะกรรมการ กสทช. สำนักงาน กสทช. และ เลขาธิการกสทช. ทำหน้าที่แก้ไขประกาศพิพาททั้งสองฉบับเฉพาะในส่วนของ MHz 2100 MHz และ 2300 MHz ให้มีการจัดประมูลแยกกันตามคลื่นความถี่โดยคำนึงถึงสภาพการแข่งขันของตลาดที่เหลือเพียงสองราย และให้มีการกำหนดเงื่อนไขหรือวิธีการประมูลที่ส่งเสริมให้เกิดผู้เข้าแข่งขันรายใหม่เพื่อเพิ่มการแข่งขันของตลาดตลอดจนมีการกำหนดเพิ่มเติมให้ผู้ประมูลมีการเสนอแผนในส่วนของการคุ้มครองผู้บริโภคให้ชัดเจน
  4. ขอให้ศาลปกครองกลางสั่งการให้ คณะกรรมการ กสทช. สำนักงาน กสทช. และ เลขาธิการกสทช. กำหนดใช้อำนาจตามมาตรา 42(2) แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติมกำหนดให้บริหารจัดการคลื่นโทรคมนาคมนำมาใช้ในการบริการสาธารณะแก่ประชาชน โดยผ่านบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือเอ็นที โดยให้บริษัทที่ชนะการประมูลทำสัญญาเช่ากับบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือเอ็นที และให้นำค่าเช่าส่งเป็นรายได้กลับเข้ารัฐ
  5. ขอให้ศาลปกครองกลางสั่งการให้ คณะกรรมการ กสทช. สำนักงาน กสทช. และ เลขาธิการกสทช. ทำหน้าที่กำหนดผู้มีอำนาจเหนือตลาดอย่างมีนัยสําคัญในตลาดที่เกี่ยวข้องในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ตามประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การพิจารณากำหนดผู้มีอำนาจเหนือตลาดอย่างมีนัยสําคัญในตลาดที่เกี่ยวข้องในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์และมาตรการเฉพาะเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน

เมื่อถามว่ามีการขอให้ศาลช่วยคุ้มครองชั่วคราวด้วยหรือไม่นั้น ด้าน นายวศิน พิพัฒนฉัตร ทนายความของสภาองค์กรของผู้บริโภค ระบุสั้นๆว่า มี

ถามต่อว่าอยากให้มีประมูลครั้งนี้ มีการพิจารณา อย่างรอบคอบ หรือไม่ เพราะหากประมูลไปแล้วคงหันกลับมาแก้ไขอะไรไม่ได้ นายวศิน ระบุว่า ต้องการให้รอบคอบเพราะเป็นประเด็นที่มีปัญหาเกิดขึ้นคือวิธีการประมูลทำให้เกิดการไม่แข่งขัน เพราะตัวของดีแทคมีโครงข่าย ที่เป็นเสาสัญญาณ 2300 MHz เรียบร้อยแต่พอรวบรวมกับทรูหมายความว่าตลาด 2300 MHz ก็ต้องเป็นของทรูกับดีแทคแน่นอน แต่ในส่วนของ 2100 MHz ตัวเอไอเอสกับดีแทคมีอยู่แล้ว ซึ่งเอไอเอสยังถือกับด้าน NT อยู่ เพราะฉะนั้นจึงไม่มายุ่งกับ 2300 MHz เป๋นประจักษ์ชัดเจนว่าจะมีบริษัทเดียวที่วิ่งเข้ามาในคลื่นของ2300 MHz

ด้วยกระบวนการที่มีการประมูลขึ้นร่วมกันหมดจะส่งผลให้ไม่มีการดันราคาเพราะราคาที่กำหนดต่ำมากเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาจึงทำให้ส่งผลต่อรายได้ในการจัดเก็บและตัวเงินประมูลเพื่อไปใช้ประโยชน์

น.ส.สุภิญญา กล่าวเสริมว่า อยากให้ กสทช.ตอบว่าการประมูลแบบนี้ใครได้ประโยชน์ใครเสียประโยชน์เพราะเราเห็นว่าประเทศชาติหรือประชาชนจะได้ประโยชน์เลย เนื่องจากมันจะไม่เกิดการแข่งขัน ตนมองว่าต้องมีทางเลือกอย่างเช่นต้องทำให้มากกว่าสองรายแข่งขัน กสทช. มีหลักประกันหรือไม่ถ้าไม่มีเหลือแค่สองรายจริงๆนั่นหมายความว่าราคาตั้งต้น ต้องเป็นธรรมต่อรัฐกว่านี้หรือไม่ หรือจะต้องมีเงื่อนไขในการคุ้มครองผู้บริโภค แต่มองไม่เห็นหลักประกันอะไรเลย มองว่ารัฐบาลไม่ควรจะเงียบเกินไปเนื่องจากรัฐบาลก็ดูแลกำกับ NT อยู่

ถามต่อว่าหากยุติการประมูลได้จริง ลูกค้า NT จะเป็นอย่างไร ร้องขอเยียวยาได้หรือไม่ นายอิฐบูรณ์ ย้ำว่า เราไม่ได้ขอให้เพิกถอนการประมูลแต่ขอให้กสทช. ไปดำเนินการแก้ไขโดยเฉพาะในเรื่องของคลื่น 2100 MHz กับ 2300 MHz เพราะตอนนี้ถ้าเปรียบเทียบมองว่าไม่ใช่การประมูลแต่เป็นลักษณะของการเข้าข่ายการประเคนคลื่นมากกว่า พอเป็นการประเคนคลื่นที่รัฐยอมรับรับต่ำๆมา จะทำให้เกิดการเอื้อประโยชน์กับเอกชนอย่างมหาศาลเพราะไม่มีเงื่อนไขที่ชัดเจนที่ผูกไว้ว่าราคาค่าบริการที่ผู้บริโภคใช้ในเรื่องของโทรศัพท์มือถือสำหรับการโทรอีกต่อไปแล้ว ส่วนใหญ่ใช้สำหรับเล่นอินเทอร์เน็ต ใช้คุยไลน์ต่างๆ แต่เมื่อไม่มีหลักประกันในเรื่องของราคา สิ่งที่เกิดขึ้นคือผู้บริโภคไม่มีอำนาจต่อรองในเรื่องของราคาหรือคุณภาพที่กำหนด

“ ถึงแม้ว่าจะมีการวางเงื่อนไขไว้แบบกว้างๆว่าเป็นไปตามประกาศต่างๆของ กสทช. แต่เราพบว่าที่ผ่านมาองค์กรแห่งนี้ขาดประสิทธิภาพและไร้ประสิทธิภาพเป็นอย่างยิ่งในการกำกับดูแลเพื่อความผลาสุขของพี่น้องประชาชน ในการเข้าใช้บริการโทรคมนาคมภายใต้ค่าบริการที่เหมาะสมและมีความเป็นธรรม” นายอิฐบูรณ์ กล่าว

ในขณะเดียวกันก็พบว่าตัวเลขของผลประกอบการที่มีอัตรา สูงมากขึ้นเรื่อยๆในขณะที่ฐานการใช้ไม่ได้เพิ่มสูงขึ้น ดังนั้นทำให้เห็นว่าฐานของผู้ใช้ลดลงแต่ฐานของผู้ประกอบการกับมีรายได้เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้มองว่า ในเรื่องของที่ล่าสุดสัญญาณอินเตอร์เน็ตล่ม ที่ผ่านมา ประมาณเกือบ 90% อยู่ในการถือครองของสองผู้ประกอบการ ซึ่งเมื่อเน็ตล่มแค่เจ้าเดียวก็ทำให้มีการเดือดร้อนไปค่อนประเทศ กว่าจะมีการกลับมาใช้ได้และกว่าจะมีมาตรการเยียวยามองว่ามันไม่ควรเป็นแบบนี้เหมือนกับเป็นการแก้ผ้าเอาหน้ารอด มันไม่ควรเป็นในระดับ กสทช. ที่มีงบประมาณจำนวนมหาศาลที่เรียกเก็บจากผู้รับใบอนุญาต

อย่างไรก็ตามการที่มายื่นให้ศาลพิจารณาทั้งหมดอย่างรอบคอบวันนี้ คาดว่าจะทันวันประมูลหรือไม่ นายวศิน ระบุว่า เป็นดุลยพินิจของศาลว่าศาลจะเมตตาพวกเราแค่ไหนในการปกป้องประชาชนเพราะมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญและ เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะชนและที่มาร้องขอวันนี้ยังไม่มีความเสียหายเกิดขึ้นเพราะส่วนหนึ่งเอกชนยังไม่ได้มีการยื่นขอเข้ามา ดังนั้นเราเห็นว่ารัฐกำลังเสียประโยชน์ “มองว่าเหมือนไฟที่กำลังจะไหม้บ้าน

แสดงความเห็น