

“สมศักดิ์” แถลงข่าว “พัฒนาระบบดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะท้าย” ชี้ สปสช.ได้ยกระดับออกหลักเกณฑ์ฉบับใหม่ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการล้างไต ที่เหมาะสมที่สุด ขณะที่ เลขาธิการ สปสช. เผย ปัจจุบันมีผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายในระบบ 84,750 ราย เป็นผู้ป่วยรับการฟอกเลือดผ่านเครื่องไตเทียม 64,515 ราย และการล้างไตผ่านช่องท้อง 20,235 ราย เร่งเดินหน้าดันการล้างไตทางช่องท้องเป็นทางเลือกแรก
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ นายแพทย์วุฒิเดช โอภาศเจริญสุข นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย และนายธนพลธ์ ดอกแก้ว นายกสมาคมเพื่อนโรคไต ได้แถลงข่าวการพัฒนาระบบมาตรฐานและคุณภาพดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายสิทธิบัตรทอง ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ชั้น 2 ศูนย์ราชการฯ อาคารบี เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ประเทศไทยในอดีตนั้น เคยมีผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายจำนวนหนึ่ง ที่ต้องเสียชีวิตเพราะเข้าไม่ถึงการรักษา แต่หลังจากปี 2551 ได้มีการบรรจุการดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย เป็นสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทำให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างมีมาตรฐานมากขึ้น และในวันนี้ การดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง จะถูกยกระดับขึ้นอีกครั้งโดย สปสช. ได้ออกประกาศหลักเกณฑ์กรณีบริการผู้ป่วยไตวายเรื้อรังฉบับใหม่ ซึ่งเป็นไปตาม มติบอร์ด สปสช. เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2567 ที่เห็นด้วยตามนโยบาย PD First หรือการล้างไตทางช่องท้อง เป็นทางเลือกแรก ซึ่งยืดหลักการสำคัญ คือ ผู้ป่วยต้องได้รับการบำบัดทดแทนไตด้วยวิธีที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็น การปลูกถ่ายไต การล้างไตผ่านช่องท้อง การล้างไตผ่านช่องท้องด้วยเครื่องล้างไตอัตโนมัติ การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม และการดูแลด้วยวิธีการประคับประคอง

“นอกจากนี้ ยังได้ร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ กำหนดให้มีระบบตรวจสอบความเหมาะสมของผู้ป่วย ก่อนรับการบำบัดทดแทนไต เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการล้างไต ที่เหมาะสมที่สุด ควบคู่ไปกับมาตรการ ลดผู้ป่วยรายใหม่ เช่น การส่งเสริมป้องกัน การคัดกรองให้รู้ค่าความเสี่ยงโรคไต ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยง การเกิดโรคไตเรื้อรังและลดค่าใช้จ่ายในระยะยาวอีกด้วย ผมหวังว่า ประกาศหลักเกณฑ์ฉบับนี้ จะช่วยยกระดับการดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง และทำให้ผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน” รมว.สาธารณสุข กล่าว
ขณะที่ นายแพทย์จเด็จ กล่าวว่า การดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำหรับผู้ป่วยสิทธิบัตรทองหรือ 30 บาทรักษาทุกโรคนั้น ปัจจุบันได้พัฒนาและมีสิทธิประโยชน์ที่ครอบคลุม ทั้งการล้างไตผ่านช่องท้อง ซึ่งรวมถึงการล้างไตผ่านช่องท้องโดยใช้เครื่องล้างไตอัตโนมัติ หรือ APD การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม การปลูกถ่ายไต และการดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายด้วยการรักษาแบบประคับประคอง โดยปัจจุบัน มีผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายในระบบทั้งสิ้นจำนวน 84,750 ราย ในจำนวนนี้ เป็นผู้ป่วยรับการฟอกเลือดผ่านเครื่องไตเทียมจำนวน 64,515 ราย และการล้างไตผ่านช่องท้องจำนวน 20,235 ราย

นายแพทย์จเด็จ กล่าวอีกว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จากข้อมูลการให้บริการผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายในระบบ พบว่า ในกลุ่มผู้ป่วยที่ฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม มีจำนวนหนึ่งที่มีคุณภาพชีวิตลดลง จากการเลือกวิธีการบำบัดทดแทนไตที่ไม่เหมาะสมกับสภาวะของผู้ป่วยเอง เช่นกรณีเป็นผู้ป่วยติดเตียง มีภาวะยากลำบากเดินทาง และผู้ป่วยที่อยู่ในระยะท้าย ดังนั้น เพื่อพัฒนาระบบมาตรฐานและคุณภาพดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย สิทธิบัตรทอง ในการประชุมบอร์ด สปสช. ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุม เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2567 ได้มีมติเห็นชอบนโยบาย PD First หรือ การล้างไตทางช่องท้องเป็นทางเลือกแรก โดยดำเนินการทั้งการป้องกันและการชะลอไตวายเรื้อรังในระยะยาว

นายแพทย์จเด็จ กล่าวอีกว่า สปสช. ได้ออกประกาศการจ่ายค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขกรณีบริการผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง พ.ศ.2568 เพื่อรองรับการดำเนินการตามมติบอร์ด สปสช. เรียบร้อยแล้ว ซึ่งผู้ป่วยรายเก่าที่กำลังรับบริการทดแทนไตก่อนวันที่ 1 เมษายน 2568 นี้ ทุกคนจะได้รับสิทธิบริการทดแทนไตด้วยวิธีเดิมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายรายใหม่ที่ต้องรับการบำบัดทดแทนไต ถ้าไม่มีข้อห้ามทางการแพทย์ หรือ ไม่มีข้อจำกัดของครอบครัว จะได้รับสิทธิบริการทดแทนไตด้วยวิธีผ่านทางช่องท้อง หรือ ปลูกถ่ายไต หรือรักษาแบบประคับประคองโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และจะมีระบบตรวจสอบความเหมาะสมของผู้ป่วยก่อนรับการบำบัดทดแทนไต รวมทั้งให้ความรู้ทางเลือกการบำบัดทดแทนไตแก่ผู้ป่วย โดยปราศจากอคติแรงจูงใจ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการบำบัดทดแทนไตที่เหมาะสมและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ตามเจตนารมณ์พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545
แสดงความเห็น
