“ทวี” ยัน อดีต ผกก.โจ้ ผูกลูกกรงดับในเรือนจับ ขณะที่ราชทัณฑ์ เผย ภรรยาเพิ่งเข้าเยี่ยมเมื่อวานนี้

รมว.ยุติธรรม ยืนยัน อดีตผู้กำกับโจ้ ปลิดชีพตัวเองคาห้องขัง พบมีอาการหวาดระแวง เตรียมให้ตรวจสอบขยายผลปมญาติร้องถูกทำร้ายร่างกาย ขณะที่กรมราชทัณฑ์ แจงเจ้าตัวมีอาการป่วยจิตเวชวิตกกังวล โดยภรรยาเพิ่งเข้าเยี่ยมวานนี้

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการเสียชีวิตของพ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล หรือ ผู้กำกับโจ้ ว่า เรื่องนี้ตนเพิ่งได้รับรายงานจากอธิบดีกรมราชทัณฑ์เมื่อช่วงเวลาก่อนเที่ยงคืนที่ผ่านมา ว่าผู้กำกับโจ้เสียชีวิตภายในเรือนจำ ด้วยการผูกคอตายกับลูกกรงภายในห้องขังแยก โดยยังไม่ทราบว่าใช้เสื้อตัวเองหรือผ้าขนหนู สำหรับเหตุผลที่ต้องแยกตัวผู้กำกับโจ้มาขังเดี่ยว เนื่องจากได้รับรายงานจากอธิบดีกรมราชทัณฑ์ว่าผู้กำกับมีภาวะหวาดระแวง ทำร้ายตัวเองและเป็นผู้ป่วยจิตเวช 

ส่วนที่มีกระแสข่าวว่ามีปัญหากับเจ้าหน้าที่ในเรือนจำ จนกระทั่งถูกทำร้ายร่างกาย รวมถึงมีญาติไปแจ้งความให้ตรวจสอบกรณีดังกล่าวถึง 2 ครั้ง แต่ทางเรือนจำไม่ให้พนักงานสอบสวนมาร่วมตรวจสอบที่เกิดเหตุ อีกทั้งญาติยังมีการส่งเอกสารร้องเรียนเรื่องการถูกทำร้ายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนั้น ในส่วนตรงนี้ตนยังไม่ทราบและยังไม่เห็นรายละเอียด แต่ก็จะต้องมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงข้อเท็จจริงทั้งหมดเพื่อให้ปรากฏต่อสังคม

 กรมราชทัณฑ์ ได้รับรายงานจากเรือนจำกลางคลองเปรมว่า เมื่อวันศุกร์ที่ 7 มีนาคม 2568 เวลาประมาณ 20.50 น. เจ้าพนักงานเรือนจำปฏิบัติหน้าที่เวรพยาบาลได้แจ้งเหตุผู้ต้องขังเสียชีวิต 1 ราย ทราบชื่อ ข.ช.ธิติสรรค์หรือโจ้ อุทธนผล คดีความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ความผิดต่อชีวิต ความผิด  ต่อเสรีภาพ ความผิดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ  ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง พิพากษาให้จำคุกตลอดชีวิต นับตั้งแต่วันที่ 27 สิงหาคม 2564  ตามหมายจำคุกระหว่างอุทธรณ์ฎีกา ต้องจำมาแล้วในเรือนจำ 3 ปี 6 เดือน 13 วัน โดยรับตัวผู้ต้องขังเข้าคุมขังเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2564 ปัจจุบันถูกคุมขังที่ห้องแยกการควบคุม แดน 5 

เรือนจำฯ ได้ตรวจสอบประวัติการรักษาพบว่า ข.ช.ธิติสรรค์ฯ มีโรคประจำตัว คือ ภาวะหัวใจสั่น (Essential tremor) มีไขมันในเลือดสูง (Dyslipidemia) และมีอาการป่วยด้วยโรคทางจิตเวชวิตกกังวล (Anxiety disorder) ซึ่งได้รับการรักษาและรับยาต่อเนื่อง โดยพบจิตแพทย์ครั้งหลังสุดเมื่อวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๘ ที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ และมีนัดพบจิตแพทย์ในเดือนเมษายน ๒๕๖๘ ขณะควบคุมในเรือนจำฯ ผู้ต้องขังมีพฤติกรรมหวาดระแวงกลัวผู้ต้องขังอื่นทำร้าย เนื่องจาก เป็นอดีตข้าราชการตำรวจ เรือนจำฯ จึงได้รับ              คำร้องของผู้ต้องขังและพิจารณาอนุญาตให้แยกการควบคุมจากผู้ต้องขังอื่น และยังเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ในเรือนจำได้เป็นปกติ

จนกระทั่ง เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2568 ช่วงเที่ยงผู้ต้องขังได้รับการเยี่ยมเยียนจากภรรยาซึ่งเจ้าพนักงานเรือนจำไม่พบเหตุผิดปกติแต่อย่างใด ต่อมาเมื่อเวลา 20.25 น. เจ้าพนักงานเวรรักษาการณ์ ขณะกำลังเดินไปจ่ายยาประจำตัวให้กับ ข.ช.ธิติสรรค์ฯ พบว่า ผู้ต้องขังนั่งหลังพิงกับประตูห้องขัง จึงได้พยายามเรียกแต่ไม่มีเสียงตอบรับ จึงได้แจ้งพัศดีเวรฯ และพยาบาลเวรฯ เข้าเปิดห้องขังเพื่อให้การช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน  ตามหลักวิชาชีพ แต่พบว่า ผู้ต้องขังใช้ผ้าขนหนูขนาดเล็กผูกคอกับประตูห้องขัง ไม่ตอบสนองต่อเสียงเรียก  ไม่รู้สึกตัว ปลายนิ้วมือซีดเขียวคล้ำ ไม่พบชีพจรบริเวณหลอดเลือดแดงใหญ่ที่คอ จึงได้แจ้งผู้บังคับบัญชาทราบตามลำดับ ในเบื้องต้น เรือนจำฯ ได้ตรวจสอบกล้องวงจรปิดบริเวณหน้าทางเดินของห้องขังผู้ต้องขังดังกล่าว   ซึ่งไม่พบว่ามีผู้ใดเข้าออกห้องดังกล่าวแต่อย่างใด พร้อมทั้งแจ้งพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ แพทย์                      

กรมราชทัณฑ์ อยู่ระหว่างรอผลการชันสูตรถึงสาเหตุการเสียชีวิต และขอยืนยันว่า  เจ้าพนักงานเรือนจำหรือผู้ต้องขังรายใดทำร้าย ข.ช.ธิติสรรค์ฯ และขอแสดงความเสียใจกับญาติผู้ต้องขัง  ทั้งนี้ กรมราชทัณฑ์ จะตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงให้เป็นที่ปรากฏโดยทันที และขอเรียนว่า เรือนจำฯได้ยึดถือปฏิบัติตามแนวทางที่กำหนดอย่างเคร่งครัดโดยให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของผู้ต้องขัง  และดำเนินการตามหลักสิทธิมนุษยชนภายใต้มาตรฐานการปฏิบัติงานด้านการควบคุมผู้ต้องขัง (SOPs) และ                 การปฏิบัติตามข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำขององค์การสหประชาชาติในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง (ข้อกำหนด แมนเดลา) เพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับผู้ต้องขังทุกคน        

แสดงความเห็น