

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้คงการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันสำคัญทางศาสนาสำคัญ 5 วัน ได้แก่ วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษา และวันออกพรรษา แต่ให้ผ่อนคลายให้ขายได้บางสถานที่ดังนี้
1. การขายในอาคารที่ให้บริการแก่ผู้โดยสารภายในสนานบินที่ให้บินการเที่ยวบินระหว่างประเทศ 2. การขายในสถานบริการตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ 3.การขายในสถานประกอบการที่เปิดให้บริการในลักษณะที่คล้ายกับสถานบริการที่ตั้งอยู่ในพื้นที่หรือแหล่งที่เป็นบริเวณที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว ทั้งนี้ ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนด โดยคำแนะนำของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย 4.การขายในโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม 5.การขายในสถานที่ซึ่งใช้จัดกิจกรรมพิเศษระดับชาติหรือนานาชาติ และมีคนจำนวนมากไปทำกิจกรรมร่วมกันตามรายชื่อสถานที่ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนด โดยคำแนะนำของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
ทั้งนี้ผู้ขายเครื่องดื่มแอกกอฮอล์ตามที่ได้รับการยกเว้นให้ขายได้ตามประกาศที่จะออกมานี้ต้องให้มีการคัดกรองและมาตรการที่จำเป็นเพื่อการรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม ความปลอดภัยของประชาชน และการจำกัดการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ไม่เหมาะสมของเด็กและเยาวชนด้วย
สำหรับขั้นตอนของการประกาศมาตรการนี้จะมีการนำมติที่ประชุมของคณะกรรมการในการออกประกาศฉบับนี้ไปรับฟังความคิดเห็นภายใน 15 วัน หลังจากนั้นจะส่งให้กระทรวงสาธารณสุขให้การรับรอง และส่งกลับมาให้นายกรัฐมนตรีลงนามก่อนประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยขั้นตอนทั้งหมดจะแล้วเสร็จก่อนวันที่วิสาขบูชา ที่ตรงกับวันที่ 11 พ.ค.ปีนี้อย่างแน่นอน
นายประเสริฐ กล่าวว่า ประกาศที่จะออกมาผ่อนคลายการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในครั้งนี้ จะทำให้ครอบคลุมสถานที่ท่องเที่ยว และส่งเสริมมาตรการท่องเที่ยวตามการที่รัฐบาลประกาศให้เป็นปีท่องเที่ยวในปี 2568 ซึ่งอย่างใน กทม.ก็จะมีพื้นที่ท่องเที่ยวที่มีชาวต่างชาติ จำนวนมากไปท่องเที่ยวได้ประโยชน์ เช่น ทองหล่อ และพัฒน์พงษ์ โดยมาตรการนี้ไม่ไม่เกี่ยวข้องกับช่วงเทศกาลสงกรานต์เนื่องจากเป็นการแก้ไขในส่วนที่เป็นวันสำคัญทางศาสนา
สำหรับข้อเสนอเรื่องของการขยายระยะเวลาในการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในการประชุมครั้งนี้ยังไม่ได้มีการพิจารณา เนื่องจากหากจะแก้ไขในส่วนดังกล่าวต้องมีการแก้ไข พ.ร.บ.เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เป็นกฎหมายใหญ่ซึ่งต้องหารือกันในขั้นตอนต่อจากนี้
แสดงความเห็น
