“สมศักดิ์” มอบนโยบาย 4 ด้าน ดูแลสุขภาพจิตคนไทย ชี้ต้องสร้างภูมิคุ้มกันตั้งแต่แรกเกิดจนถึงเยาวชน 

“สมศักดิ์” มอบนโยบาย 4 ด้าน ดูแลสุขภาพจิตคนไทย ในงาน “3 ทศวรรษ กรมสุขภาพจิต ดูแลจิตใจ ทุกวัย ทุกคน” ชี้ต้องสร้างภูมิคุ้มกันตั้งแต่แรกเกิดจนถึงเยาวชน ตั้งเป้าลด NCDs 3 ปีเห็นผล ขณะที่อดีตอธิบดีกรมสุขภาพจิต ร่วมเสวนาบทบาทช่วยประชาชนฝ่าวิกฤตภัยธรรมชาติ-ความรุนแรงทางการเมือง 

ที่พิพิธภัณฑ์โรงพยาบาลศรีธัญญา กรมสุขภาพจิต นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดงานและมอบนโยบาย การขับเคลื่อนเพื่อดูแลและส่งเสริมสุขภาพจิตประชาชนคนไทย จากบทเรียนในอดีต การพัฒนาเพื่อปัจจุบันและความมั่นคงสู่อนาคต ภายใต้กิจกรรม  3 ทศวรรษ กรมสุขภาพจิต ดูแลจิตใจ ทุกวัย ทุกคน โดยมีนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข  ผู้บริหารกระทรวง เข้าร่วมงาน  

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ และเทคโนโลยีทำให้การดูแลสุขภาพจิตมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบจากโรคระบาดความเครียดจากภาระงานและชีวิตประจำวัน รวมถึงปัญหาสังคมที่ซับซ้อนขึ้น จำเป็นต้องพัฒนาระบบบริการสุขภาพจิตให้เข้าถึงง่าย ครอบคลุมมีคุณภาพ มีความปลอดภัย และสอดคล้องกับความต้องการในแต่ละพื้นที่ ด้วยเหตุนี้ นโยบายในการขับเคลื่อนสุขภาพจิตในอนาคตจะเน้นไปที่ 4 เรื่องสำคัญ ได้แก่ 1. การคุ้มครองส่งเสริมสุขภาพจิตเชิงรุก เน้นการป้องกัน ให้ความรู้และสนับสนุนให้ประชาชนสามารถดูแลจิตใจตนเองได้ รวมถึงการสร้างความเข้มแข็งให้ครอบครัวและชุมชนในการสนับสนุนซึ่งกันและกัน และที่สำคัญคือการสร้างภูมิคุ้มกันทางจิตใจตั้งแต่แรกเกิดจนถึงเยาวชน 2. การพัฒนาบริการสุขภาพจิตที่เข้าถึงได้สำหรับทุกคนอย่างครอบคลุม สร้างระบบบริการที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมทั้งการให้คำปรึกษา การบำบัดการรักษา ฟื้นฟู ทั้งผู้ป่วยและผู้ติดยาเสพติดที่ทันสมัยและสอดคล้องกับบริบททางสังคม 3. การลดการตีตราและเพิ่มความเข้าใจในปัญหาสุขภาพจิต ร่วมมือกันสร้างสังคมที่เปิดกว้างและเข้าใจปัญหาสุขภาพจิต ลดการตีตรา เพื่อให้ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ กล้าที่จะเข้ารับบริการโดยไม่รู้สึกอับอายหรือกลัวว่าจะถูกมองว่าเป็นภาระ4. ความมุ่งมั่นสู่อนาคต สร้างสังคมที่ทุกคนมีสุขภาพจิตที่ดีและมีคุณภาพชีวิต ที่สมดุล เดินหน้าพัฒนาระบบสุขภาพจิตให้ยั่งยืน และยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงในอนาคต

นอกจากนี้ ภายในงานได้จัดเสวนา  “กรมสุขภาพจิตกับภาวะวิกฤตในสังคมไทย” โดยมี นพ.มล.สมชาย จักรพันธุ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต  บรรยาภายใต้หัวข้อ การดูแลจิตใจประชาชนภาวะวิกฤต ทั้งจากวิกฤตธรรมชาติ และฝีมือมนุษย์ ประเด็นแรกการเกิดภาวะเหตุการณ์สึนามิและปัญหาความไม่สงบและการก่อความรุนแรงในจังหวัดชายว่า เมืองไทยก่อนมีสึนามิ มีพายุเก คนเสียชีวิตเป็นพันคน ทำให้กรมสุขภาพจิตมีบทบาทโดยการตั้งศูนย์สุขภาพจิตจังหวัด เพื่อดูแลประชาชนชาวชุมพร  เมื่อถึงเหตุการณ์สึนามิมีการเรียกประชุมด่วน เพราะเปิดตำราไม่ทัน แต่ต้องดูแลสุขภาพจิต พร้อมสุขภาพกาย มีการส่งทีมแพทย์ลงพื้นที่ ตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์  กรมสุขภาพจิต ตั้งศูนย์ Mental Health Center Thai Tsunami Disaster ระดมคน ส่งไปจุดเกิดเหตุกระจาย 8 ทีม ใช้คำว่า First Aid เป็นครั้งแรก ศูนย์สุขภาพจิตดูแลอยู่ 2 ปี ได้มีการทำการศึกษา องค์กรอนามัยโลกได้เข้าร่วม มีการจัดทำไกด์ไลน์ แนวทางในการทำงาน มี แผนเตรียมพร้อมภัยพิบัติ จัดทำวารสารตีพิมพ์ ได้บทเรียนและถอดองค์ความรู้ ภายหลังเหตุการณ์ได้สรุปบทบาทการเผชิญเหตุของแต่ละประเทศทำได้ดีแค่ไหน ซึ่งประเทศไทยดี 3 ด้าน บาดเจ็บเสียชีวิตน้อย ไม่มีโรคระบาด แม้ว่าจะเสียหายเยอะ ภาวะหลังภัยพิบัติ ไม่มีการฆ่าตัวตาย โดยปกติหลังภัยพิบัติใหญ่ผู้ประสบเหตุจะซึมเศร้า แต่ของไทยไม่มี อาจเพราะคนไทยวัฒนธรรมการให้ความช่วยเหลือ อย่างตอนเกิดเหตุมีเด็กกำพร้า 900 คน สุดท้ย ไม่มีคนดูแลเพียง 2 คน นอกนั้นญาติพี่น้องรับดูแล เป็นการดูแลภาวะทางกาย ใจ บริบทวัฒนธรรมต้องทำด้วย ทั้งนี้ 30 ปี กรมสุขภาพจิต เรียนรู้เยอะ เหตุกาณณ์อาจเกิดขึ้นอีก เรามีบุคลากรคุณภาพสูงมาก จึงไม่ห่วง แต่ต้องเตรียมความพร้อมไว้ 

ด้านนพ.วชิระ เพ็งจันทร์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต บรรยายเรื่อง การเยียวยาจิตใจประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความเห็นต่างทางการเมือง (เสื้อเหลือง เสื้อแดง)ว่า ปัญหาทางการเมืองที่เกิดขึ้นนั้น วิเคราะห์ว่าถ้าเป็นชุดความคิดที่ยุติไม่ได้ ก็ต่อเนื่องให้ใช้ความรุนแรง ตนเกิดมาทันในยุคจอมพลสฤษฎิ์ เกิดมาพร้อมเสียงปืนแตก ตอนนั้นนักศึกษาเข้าป่ากันมากสุดในช่วง 2519 บทบาทของกรมสุขภาพจิต ได้เข้าไปเยียวยา พฤษภาทมิฬ ครั้งแรก ส่วนการต่อสู้ทางความคิดเหลืองแดง แนวทางคือการสร้างความไว้วางใจ ต้องเข้าได้ทั้งสองฝ่าย เป็นกลาง ไม่ตัดสิน ไม่ตำหนิติเตียนมีการเข้าไปเยี่ยมเยียนผู้บาดเจ็บในโรงพยาบาล เยี่ยมเยียนคนในชุมชน เป็นต้น พร้อมยืนยันคิดต่างแต่อยู่ร่วมกันได้

“กรมสุขภาพจิตเข้าร่วมการแก้ไขวิกฤตตั้งแต่ยังเป็นกอง ยังไม่เป็นกรม ไปสร้างองค์ความรู้ สร้างความภาคภูมิใจ ทั้งจากเหตุการณ์สึนามิ ปล้นปืน ความไม่สงบใน 3 จว.ใต้ และความขัดแย้งมายาวนาน ตนมองว่าเวลาเกิดเหตุประชาชนต้องการแค่คนมากอด โพรเทค ไดเรก คอนเนก ใครเข้าถึงเหตุการณ์เร็วสุดคนนั้นต้องทำเช่น ทหาร ตำรวจ ท้องถิ่น ต้องรู้เทคนิคการสวมกอด ซึ่งเป็นอีโมจินอลช็อค ดึงสติกลับมา เข้าอกเข้าใจหรือ การปฐมพยาบาลทางใจเบื้องต้น ผ่อนจากหนักเป็นเบา” นพ.วชิระกล่าว 

นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต บรรยายกรณี การดูแลประชาชนในช่วงเหตุการณ์ความรุนแรงเทอมินอล 21ว่า เหตุการณ์นี้เป็นการหยุดยั้งอารมณ์ไม่อยุ่ เกิดการปลดปล่อยโดยความรุนแรง ดังนั้นเรื่องแรกที่ต้องทำคือทำให้ประชาชน ปลอดภัย Safe ด้านร่างกาย สำหรับการดูแลสุขภาพจิต ต้องทำ  3 L 1. Listening ฟัง 2.Looking สังเกตสีหน้า และ 3.Lingking ส่งต่อ เมื่อมีความตึงเครียดต้องให้ความรู้สึก อารมณ์ลดลง เมื่อเกิดเหตุการณ์กรมสุขภาพจิตต้องถอดรูปแบบการเกิดวิกฤต เพื่อหาแนวทางป้องกัน   

จากนั้น นายสมศักดิ์ ให้สัมภาษณ์ว่า กรมสุขภาพจิตมาถึงวันนี้มีพัฒนาการหลายอย่าง และปีหน้าต้องรับการบำบัดสุขภาพจิตผู้ติดยาเสพติดด้วย เป็นการทำงานของกระทรวงสาธารณสุขที่สอดคล้องกับสากล ส่วนการดำเนินการได้มีการสอบถามถึงเตียงสำหรับดูแล บำบัด รักษา ฟื้นฟูผู้ติดยา ซึ่งตนยืนยันว่ามีเพียงพอแน่นอน เพราะมีประมาณ 9000 เตียง ดูแลได้แสนคนในแต่ละปี ทั้งนี้เมื่อรัฐบาลได้วางแนวทางการปราบปรามยาเสพติด ถ้าผู้ค้าลดลง ก็จะทำให้จำนวนผู้เสพลดลงด้วยเช่นกัน นอกจากนี้เรื่องสุขภาพจิต ประชาชนอาจมีความวิตกกังวลจากเรื่องอื่นๆ เช่น น้ำท่วม ดังนั้นการเป็นแพทย์จิตเวชอาจมีการงานมาก สปสช.ก็ได้เพิ่มวงเงินการใช้บริการตรวจรักษาจิตเวชทางไกล หรือ Telepsychiatry จึงเพิ่มงบฯ ปีนี้ที่จะเริ่ม 1 ต.ค.นี้อีก 70 ล้านบาท 

เมื่อถามถึงการผลักดันนโยบาย NCDs นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ตั้งเป้าหมายไว้ว่า 3 ปี ต้องเห็นผล เพราะปีแรกต้องตั้งไข่ก่อนแต่พร้อมลงมือทันที มีบุคลากรที่ทำงานมาระยะหนึ่งแล้ว โดยช่วงต้นอาจจะมีคนที่กำลังจะเป็น คงหยุดยั้งไม่ได้ แต่คนที่มาเข้าโปรแกรมแล้วต้องหยุดเป็นโรคเหล่านี้ ส่วนที่ไม่เข้าโปรแกรมแล้วยังป่วย ทีมงานกำลังคิดว่าจะให้รางวัลหรือลดการช่วยเหลืออย่างไร 

ภายหลังเปิดพิธีแล้วเสร็จ นายสมศักดิ์ได้รับชมการเล่นดนตรีประเภทกลอง ของ “น้องวุฒิ” เด็กพิเศษ ที่มาโชว์ความสามารถ พร้อมกับสวมกอดและมอบดอกไม้ให้ด้วย จากนั้นได้เดินชมบูธนิทรรศกาลต่างๆ ที่กรมสุขภาพจิตจัดขึ้นและได้ทดสอบความเครียดกับระบบ AI ด้วย  

แสดงความเห็น