“เศรษฐพงค์” ชงตั้ง “ท่าอวกาศยานไทย” รองรับโลกยุคใหม่ ชี้ “ธุรกิจอวกาศ” มูลค่ามหาศาล 

“เศรษฐพงค์” ชงตั้ง “ท่าอวกาศยานไทย” Spaceport Thailand  รองรับโลกยุคใหม่ หวังสร้างดาวเทียม-บุคลากร สามารถส่งดาวเทียมสู่ห้วงอวกาศได้เอง เกิดงานใหม่กว่า 400 อาชีพ ชี้ “ธุรกิจอวกาศ” มูลค่ามหาศาล และจะไม่ไกลตัวคนไทยอีกต่อไป

พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ประธานคณะอนุกรรมาธิการกิจการอวกาศ เพื่อเศรษฐกิจและความมั่นคง เปิดเผยว่า คณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคมและดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สภาผู้แทนราษฎร มีมติให้นำผลการศึกษาความเป็นไปได้และความเหมาะสมในการทำธุรกิจ Outer Space Launching Service และการทำธุรกิจ Outer Space Launching Infrastructure   ของคณะอนุกรรมาธิการกิจการอวกาศฯ  เข้ารายงานต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร และจัดส่งให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  โดยผลการศึกษาดังกล่าว ระบุว่า ปัจจุบันการทำธุรกิจนำส่งดาวเทียมและวัตถุอวกาศขึ้นสู่วงโคจรได้สร้างรายได้มหาศาลให้กับหลายประเทศชั้นนำด้านเทคโนโลยีอวกาศ และยังเป็นโครงสร้างพื้นฐานอวกาศหลัก ที่ทำให้เกิดอุตสาหกรรมอวกาศอย่างต่อเนื่อง เป็นรูปธรรม และเกิดความยั่งยืน  

ทั้งนี้ จากการศึกษาความเป็นไปได้และความเหมาะสมในการจัดทำธุรกิจดังกล่าว พบว่า หัวใจหลักของการทำธุรกิจประเภทนี้ คือ การจัดตั้ง “ท่าอวกาศยาน” หรือ “Spaceport” ภายในประเทศที่มีประสิทธิภาพ และการบริหารจัดการในทุกมิติที่สมบูรณ์แบบ  โดยจุดเริ่มต้นดังกล่าวจะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการอนุญาตให้จัดทำพื้นที่พิเศษ เพื่อการทดลองจรวดความเร็วเสียง หรือ Sounding Rocket Sandbox ที่เยาวชน นักเรียน นักศึกษา วิศวกร นักวิจัย หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน จะสามารถใช้เพื่อทำการทดสอบ ประกอบ และสร้างจรวดความเร็วเสียง ทำให้สามารถเรียนรู้ได้ถึงปัญหา ข้อติดขัด และวิธีแก้ปัญหาต่างๆ ได้  ซึ่งในด้านภูมิประเทศของไทยนับว่าเป็นทำเลทองในการจัดตั้งท่าอวกาศยานเป็นอย่างมาก เนื่องจากอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร ซึ่งการหมุนของโลกจะช่วยเหวี่ยงเพิ่มแรงขับเคลื่อนของจรวดส่งออกสู่อวกาศได้เร็วขึ้น และประหยัดเชื้อเพลิง  

พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ เปิดเผยด้วยว่า ท่าอวกาศยานประเทศไทย หรือ Spaceport Thailand จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางอวกาศขนาดใหญ่ ที่จะส่งเสริมและผลักดัน ธุรกิจอวกาศ อุตสาหกรรมอวกาศ การยกระดับเศรษฐกิจและสังคม การเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ในประเทศ  ยกระดับวิทยาศาสตร์อวกาศ เทคโนโลยีอวกาศ การสร้างบุคลากรในประเทศให้มีความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีอวกาศ ผลักดันให้เกิดการแข่งขันและการสร้างนวัตกรรมอวกาศใหม่ๆ ส่งผลกระทบที่ดีในด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมการบินและอวกาศ อุตสาหกรรมการผลิต อุตสาหกรรมพลังงาน อุตสาหกรรมปิโตรเคมี อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เป็นต้น นอกจากนี้ การจัดตั้งท่าอวกาศยานจะทำให้ประชาชนมีแหล่งประกอบอาชีพเพิ่มมากขึ้นมากกว่า 300-400  อาชีพ อาทิ ช่างประกอบจรวด ช่างประกอบเพย์โหลด ช่างขัดท่อจรวด  ช่างอิเล็กทรอนิกส์ระบบจรวด ช่างไฟฟ้าระบบจรวด เจ้าหน้าที่ตรวจสอบการนำเข้าจรวด พนักงานขายตั๋วเที่ยวบินไปอวกาศฯลฯ ซึ่งยังไม่เคยมีตำแหน่งงานเหล่านี้เกิดขึ้นในประเทศมาก่อน ซึ่งเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยให้มีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น  

“ปัจจุบันเทคโนโลยีพัฒนาไปแบบก้าวกระโดด ทำให้หลายอาชีพเกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งการสร้างนวัตกรรมเทคโนโลยีจะเป็นองค์ความรู้ที่มารองรับอาชีพใหม่ๆในอนาคต  ซึ่งมีมูลค่ามหาศาล  แต่ปัจจุบันไทยยังขาดแคลนบุคลากรในด้านนี้จำนวนมาก จึงจำเป็นที่จะต้องพัฒนาและเสริมองค์ความรู้มารองรับโลกกำลังพัฒนาทักษะในศตวรรษที่ 21 ให้คนรุ่นใหม่มีความคิดสร้างสรรค์ ทำงานได้และมีทักษะใช้ชีวิต โดยความร่วมมือครั้งนี้ จะเป็นการส่งเสริมองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีต่างๆ ทั้งอวกาศ ดาวเทียมสำรวจโลก ภูมิสารสนเทศ และการประยุกต์ใช้ที่ทันสมัย  และจะทำให้เกิดการตระหนักว่า “อวกาศ” จะไม่ใช่เรื่องไกลตัวคนไทยอีกต่อไป” พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าว 

Exit mobile version