ตัวแทนสื่อฯ ร้องกมธ.พัฒนาการเมืองฯ ปมนักข่าว-ช่างภาพ บาดเจ็บสลายชุมนุมช่วงเอเปก

ตัวแทนสื่อมวลชน ยื่นหนังสือต่อ กมธ.พัฒนาการเมืองฯ ปมนักข่าว-ช่างภาพได้รับบาดเจ็บสลายชุมนุมช่วงเอเปก ชี้ สื่อลงพื้นที่ก็เหมือนเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน จี้ ผบ.ตร.-ผบช.น. สอบข้อเท็จจริงหาคนรับผิดชอบ

นายพงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์ บรรณาธิการอาวุโส The MATTER ยื่นหนังสือต่อนายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้ตรวจสอบกระบวนการการจัดการเรื่องเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชน (คฝ.) ที่ได้ปฏิบัติหน้าที่เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน ในช่วงการประชุมเอเปก

โดยนายณัฐชา กล่าวว่า เหตุการณ์ในวันดังกล่าว ทำให้ผู้สื่อข่าวได้รับบาดเจ็บ ซึ่งเป็นวิธีการที่ไม่ถูกต้องและไม่เหมาะสม เบื้องต้นที่มีข้อมูล พบว่า เป็นผู้สื่อข่าวจาก The MATTER ช่างภาพจากท็อปทิวส์ ผู้สื่อข่าวจากประชาไท และช่างภาพจากรอยเตอร์ โดยทั้ง 4 คน ได้รับผลกระทบจากการไปทำข่าวเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน ทั้งที่สื่อมวลชนควรจะได้รับพื้นที่ที่ปลอดภัย  อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 24 พฤศจิกายน กมธ.จะประชุมและบรรจุเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การประชุม พร้อมรวบรวมหลักฐาน และจะเรียกสอบเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องทั้งหมดต่อไป

ด้านนายพงศ์พิพัฒน์ กล่าวว่า การสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายนที่ผ่านมา หากใครได้ลงไปทำข่าววันนั้น จะทราบว่า ค่อนข้างรุนแรง หลายคนอาจตั้งข้อสงสัยว่าเกินกว่าเหตุไปหรือไม่ ทั้งที่สมาคมนักข่าวฯได้เคยหารือกับผู้บัญชาการตำรวจนครบาล รวมถึงโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อหาข้อตกลงในการทำงานร่วมกัน มองว่าสื่อมวลชนลงพื้นที่ไปทำข่าวก็เหมือนกับการปฎิบัติหน้าที่ของตำรวจ ซึ่งในปีก่อนเคยมีคำสั่งของศาลแพ่งที่ให้การสลายการชุมนุมต้องทำไปโดยคำนึงถึงความปลอดภัยของสื่อมวลชน แต่ปรากฏว่าการสลายการชุมนุมในเหตุการณ์ดังกล่าว มีสื่อหลายสำนักได้รับบาดเจ็บ จึงมีข้อสงสัยว่าเป็นไปตามการปฏิบัติตามคำสั่งของศาลแพ่งหรือไม่ รวมถึงมีคนไม่เชื่อว่าเป็นพฤติกรรมของตำรวจในลักษณะตัวบุคคล แต่เป็นเชิงนโยบาย เชิงคำสั่งหรือไม่ ดังนั้น การมายื่นคำร้องในวันนี้มีข้อเรียกร้อง 4 ข้อ ได้แก่

1. ขอให้ช่วยตรวจสอบข้อเท็จจริงเหตุการณ์วันดังกล่าวว่า เหตุใดตำรวจ คฝ. จึงสลายการชุมนุมอย่างรุนแรง จนเป็นเหตุให้ประชาชนรวมถึงสื่อมวลชนได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจขัดกับคำสั่งของศาลแพ่งในคดีกระสุนยาง และใครจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อเหตุการณ์นี้

2. ขอให้เรียกผู้เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และผู้บัญชาการเหตุการณ์ในวันดังกล่าว มาชี้แจงถึงรายละเอียดปฏิบัติการในวันที่ 18 พฤศจิกายน และวิธีป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำรอยในอนาคต

3. ขอให้เรียกเอกสารที่มีข้อมูลซึ่งเกี่ยวข้องกับเหตุสลายการชุมนุมในวันที่ 18 พฤศจิกายน ทั้งจำนวนกำลังพล นโยบายในการควบคุมและสลายการชุมนุม เครื่องมือต่างๆ ที่ใช้ จำนวนกระสุนยางที่เบิกมา-ใช้ไป และข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

4. ขอให้เรียกเอกสารที่มีข้อมูลซึ่งเกี่ยวข้องกับคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงหรือตรวจสอบความรับผิดชอบทางวินัยต่อข้าราชการตำรวจที่มีส่วนร่วมกับเหตุการณ์สลายการชุมนุม ซึ่งทำให้ประชาชนหรือสื่อมวลชนได้รับบาดเจ็บของ สำนักงานตำรวจแห่งชาติและสำนักงานตำรวจนครบาล ตั้งแต่ปี 2563 จนถึงเหตุการณ์วันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ.2565 รวมถึงเอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

“เราเชื่อว่าตำรวจดีกว่านี้ได้ เราอยากให้การทำงานของตำรวจมีมาตรฐาน มีความรับผิดชอบ มันอาจจะมีหลุดไปบ้าง แต่คุณตรวจสอบการทำงานภายในเพื่อยกระดับให้มันดีขึ้นได้หรือไม่ เราไม่ใช่ผู้ชุมนุม เราไปปฏิบัติหน้าที่ แต่ได้รับผลกระทบ ทั้งที่จริงๆเรามีข้อตกลงร่วมกัน” นายพงศ์พิพัฒน์ กล่าว

แสดงความเห็น