พท.จูบปากพปชร. ตั้งรัฐบาล ประตูนี้ไม่ปิดตาย 

ท่าทีการเมืองแบบแบ่งรับแบ่งสู้ อาการประมาณ “แทงกั๊ก”ของแกนนำพรรคเพื่อไทยในเรื่องความเป็นไปได้ของสูตรการจับมือกันตั้งรัฐบาล ของ “เพื่อไทยกับพลังประชารัฐ” ทั้งท่าทีของ “นพ. ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย” และ “สุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน” อยู่ในสภาพการเมืองที่เรียกกันว่า 

“ไม่ปิดประตูตาย-แต่ก็ไม่เปิดอ้าซ่า”

หลังก่อนหน้านี้ หมอชลน่าน พูดถึงเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคการเมืองต่างๆ หลังเลือกตั้งว่ามีด้วยกัน 3 เงื่อนไขคือ  1.มีอุดมการณ์เช่นเดียวกัน 2.ไม่เลือกพรรคสนับสนุนเผด็จการ และสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ 3.การทำงานร่วมกัน เอานโยบายมาสอดประสานเป็นนโยบายรัฐบาล การเจรจาเข้ามาทำงานกระทรวงต่างๆ 

“พล.อ.ประวิตรมีข้อดีกว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯในมุมความเป็นการเมือง เข้าใจประชาชน เข้าถึงสภาพปัญหา มีความเป็นมนุษย์ มีความเห็นอกเห็นใจสูงกว่าถ้าพรรคพลังประชารัฐ มีเงื่อนไข 3 ข้อนี้ พรรคเพื่อไทย พิจารณาได้”

เท่านั้นเอง ก็เลยเกิดเป็นกระแสการเมือง เพื่อไทย พร้อมเปิดประตู-จับมือการเมืองกับพลังประชารัฐ จัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้ง 

ยิ่งเมื่อ “สุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน” ออกมาสำทับ ไม่เชิงปฏิเสธ เพียงแต่ก็ตั้งเงื่อนไขไว้เช่นกันในการจับมือกันดังกล่าว 

“เพื่อไทย พร้อมทำงานกับทุกพรรคที่มีจุดยืนใกล้เคียงกัน ถ้าจำเป็นจริงๆ ไม่มีทางเลือก พร้อมจับมือกับฝ่ายรัฐบาลทุกพรรค เป็นไปได้ทั้งพรรคพลังประชารัฐ พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ ต้องดูสถานการณ์ข้างหน้าประกอบด้วย”

ท่าทีของสองแกนนำเพื่อไทยข้างต้น มันก็เลยทำให้ สูตรตั้งรัฐบาลสองพรรค เพื่อไทยกับพลังประชารัฐ เริ่มถูกกลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้ง หลังแวดวงการเมือง ต่างก็มองว่าเรื่องนี้มีความเป็นไปได้สูง 

ด้วยเพราะหากมองในทางการเมือง ถ้าหาก ทักษิณ ชินวัตรและเพื่อไทยเลือกได้ ก็คงไม่อยากจับมือตั้งรัฐบาลกับ “พรรคก้าวไกล”อยู่แล้ว เพราะแม้จะเป็นแนวร่วมพรรคฝ่ายค้านด้วยกันในตอนนี้ แต่เพื่อไทยกับก้าวไกล ก็ขบเหลี่ยมการเมือง ชิงการนำทั้งในและนอกสภาฯกันมาสามปีกว่า เพราะทั้งสองพรรค มีฐานเสียงใกล้เคียงกัน หรือจะเรียกได้ว่าอยู่ในกลุ่มเดียวกันเลยก็ว่าได้  ทำให้ต่างก็ต้องแย่งชิงการนำทางการเมืองกัน ดูได้จากกรณี ทักษิณ เข็น แพทองธาร ชินวัตร เข้าสู่การเมืองอย่างรวดเร็ว หลักใหญ่ก็เพื่อให้ อุ๊งอิ๊ง เข้ามาช่วยรีแบนด์พรรค ให้มีความทันสมัย รุ่นใหม่ มากขึ้นเพื่อหวัง ดึงฐานเสียงคนรุ่นใหม่ กลุ่มนิวโหวตเตอร์ ให้มาอยู่ที่เพื่อไทยให้มากขึ้น ที่ก็ต้องยอมรับว่าได้ผลระดับหนึ่ง เห็นได้จาก ผลสำรวจหลายสำนักเรื่องแคนดิเดตนายกฯ ชื่อของ อุ๊งอิ๊ง นำเหนือ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ของโพลทุกสำนัก 

ดังนั้น เพื่อไทย ก็ย่อมไม่อยากจับมือกับก้าวไกล ที่คาดว่ายังไงเลือกตั้งรอบหน้า ก้าวไกล ก็น่าจะได้ส.ส.ระดับขั้นต่ำสุดจริงๆ ก็เกิน 25 ที่นั่ง แต่อาจไม่ถึง 40-50 เสียง เพราะเพื่อไทยก็ไม่อยากให้ ก้าวไกล เติบโตไปมากกว่านี้ เพราะหากเข้ามาเป็นรัฐบาลทำผลงาน ออกนโยบายต่างๆ จนโดนใจประชาชน ก็จะยิ่งทำให้ เพื่อไทย เสียคะแนน ฐานเสียงโดนแย่งออกไป 

และที่สำคัญเลยที่ทำให้ ทักษิณ และเพื่อไทย อึดอัดใจ ที่จะร่วมงานกับ ก้าวไกล ก็คือเรื่องแนวนโยบายของพรรคก้าวไกล ที่ประกาศออกมาแล้วว่าในช่วงเลือกตั้งจะชูเรื่องอะไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปฏิรูปกองทัพ ปฏิรูปศาลและกระบวนการยุติธรรม โดยเรื่องเหล่านี้ เข้าทางเพื่อไทยอยู่แล้ว เพราะเอาด้วยแน่ แต่ที่ทำให้ ทักษิณและเพื่อไทย กระอักกระอ่วนใจ ก็คือที่ก้าวไกล ชูเรื่อง จะเข้าไป

“แก้ไข-ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112”

อันนี้สิ คือนโยบายเผือกร้อน ที่เพื่อไทย ไม่อยากข้องแวะ เพราะเพื่อไทย ไม่อยากนำพรรคเข้าไปเกี่ยวข้องหรือไปแตะต้องสถาบันฯอยู่แล้ว เพราะทักษิณ เคยมีบทเรียนมาแล้ว กับไทยรักษาชาติ กับการเสนอชื่อทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เป็นแคนดิเดตนายกฯ พรรคไทยรักษาชาติ จนโดนยุบพรรค

ยิ่งช่วงหลัง ทักษิณ หวังไว้มากว่า หากเพื่อไทยได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้ง ก็ทำให้อาจพอมีช่องทางในการได้กลับประเทศไทย ทำให้ทักษิณและเพื่อไทย ย่อมไม่อยากนำตัวเองไปข้องเกี่ยวใดๆกับเรื่องที่จะไปแตะต้องสถาบันฯ แน่นอน 

ทำให้ หากเพื่อไทย ไปดึงก้าวไกลมาตั้งรัฐบาลร่วมกันหลังเลือกตั้ง โดย ก้าวไกล ไม่ยอมลดราวาศอกเรื่อง การแก้ไขมาตรา 112 โดยดึงดันที่จะผลักดันเรื่องนี้ ให้ได้ในช่วงการเป็นรัฐบาล เพราะก้าวไกล ก็มีเดิมพันสูง ที่หากประกาศเรื่องนี้ไปแล้ว แต่พอเข้าไปเป็นรัฐบาลแต่กลับไม่ผลักดันเรื่องแก้ 112 พรรคก้าวไกล ก็จะเสียคะแนนนิยมจากแฟนคลับ ทำให้ก้าวไกล ก็ต้องย่อมกดดันเพื่อไทย ให้ต้องเอาด้วยกับเรื่องยกเลิก 112   มันก็ย่อมทำให้ การร่วมรัฐบาลด้วยกันของ เพื่อไทยกับก้าวไกลมีปัญหาแน่นอน ไหนยังไม่นับรวมเรื่องอื่นๆ อีก เพราะแนวทางก้าวไกลออกไปทาง “ทะลุฟ้า-พร้อมชน” กับทุกสถาบันฯ ทำให้ สุ่มเสี่ยงที่จะกลายเป็นรัฐบาลหรือสภาฯเสียงข้างมากที่สร้างศัตรูไว้รอบทิศ ที่ไม่เป็นผลดีกับเพื่อไทยเองแน่นอน 

ด้วยเหตุนี้ มองในความเป็นจริงทางการเมือง โดยอ่านใจของทักษิณและเพื่อไทย หากไม่จำเป็นจริงๆ และเลือกได้ เพื่อไทย ย่อมไม่อยากจับมือกับก้าวไกล อยู่แล้วในการตั้งรัฐบาลร่วมกัน สู้จับมือกับ พรรคการเมืองที่มีความยืดหยุ่น พูดคุยกันได้ และคนในพรรค ก็มีความคุ้นเคยกับทักษิณและเพื่อไทยพอสมควร แบบนี้ย่อมสบายใจกว่า ยิ่งหากสามารถจับมือกันตั้งรัฐบาลแบบแค่ 1-3 พรรค ก็เป็นรัฐบาลได้แล้ว แบบนี้ก็เป็นรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ 

ซึ่งที่ว่ามาข้างต้น “พลังประชารัฐ”ถือว่าตอบโจทย์ ทักษิณและเพื่อไทยได้ระดับหนึ่ง เพราะแกนนำในพลังประชารัฐอย่าง สันติ พร้อมพัฒน์ เลขาธิการพรรค แม้จะไม่ถูกกับเสี่ยเพ้ง พงษ์ศักดิ์ รัตตพงษ์ไพศาล แต่กับ “จันทร์ส่องหล้า” ก็คาดว่า สันติ ยังคงให้ความเคารพเกรงใจกันอยู่ รวมถึงแกนนำพลังประชารัฐคนอื่นๆ เช่น สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ สมศักดิ์ เทพสุทิน แม้อาจมีเคืองๆกับทักษิณและเจ๊แดง เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ กับเรื่องในอดีตอยู่ แต่หากเป็นเรื่องผลประโยชน์การเมืองอยู่บนโต๊ะเจรจา สองพรรคนี้ ก็คุยกันได้แน่นอน ผนวกกับ หากเพื่อไทยมี ธรรมนัส พรหมเผ่า มาอยู่ด้วยจริง ก็ทำให้ มีตัวเชื่อมระหว่าง “ป่ารอยต่อ-พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ” กับ “เพื่อไทย-ทักษิณ” แบบต่อสายตรงกันได้เลย โดยผ่านธรรมนัส 

ที่สำคัญ หากสุดท้าย ถ้าพลเอกประยุทธ์ นายกฯ เกิดไม่ไปต่อ เช่นวางมือการเมืองหรือพักการเมือง ไม่ลงต่อในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น หรือหากลงโดยลงกับพลังประชารัฐ แต่มีพลเอกประวิตร เป็นแคนดิเดตนายกฯอันดับสอง และผลเลือกตั้งออกมาโดยที่ พรรคการเมืองขั้วรัฐบาลปัจจุบัน รวมเสียงหลังเลือกตั้งได้ไม่เกิน 250 เสียง โดยพลังประชารัฐ อาจจะมาเป็นพรรคอันดับสาม รองจากเพื่อไทย และภูมิใจไทย  แล้วเกิดดีลระหว่าง เพื่อไทยกับพลังประชารัฐในการตั้งรัฐบาลร่วมกันเกิดขึ้น จนปิดดีลได้ ทาง พลเอกประยุทธ์ ก็คงพร้อมจะถอยฉาก ไม่มีตำแหน่งใดๆในรัฐบาลสองพรรค เพียงเท่านี้ การจับมือกันของเพื่อไทยกับพลังประชารัฐก็เกิดขึ้นได้แล้ว เพราะเพื่อไทย มีแค่เงื่อนไขเดียวในการจับมือกับพลเอกประยุทธ์คือ ไม่เอาประยุทธ์ กลับมาเป็นนายกฯหรือเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลเท่านั้น 

ยิ่งหากพลเอกประยุทธ์ สุดท้าย หากเกิดออกจากพลังประชารัฐไป เช่น ไปอยู่รวมไทยสร้างชาติ โดยถึงต่อให้ รวมไทยสร้างชาติ ได้ส.ส.มาเกิน 25 เสียงจนเสนอชื่อพลเอกประยุทธ์ เป็นแคนดิเดตนายกฯในสภาฯ ได้ แต่หากฝ่ายพรรครัฐบาลปัจจุบันรวมเสียงกับรวมไทยสร้างชาติ แล้ว ก็ไม่เกินกึ่งหนึ่งของสภาฯ ตัว  พลเอกประยุทธ์ ก็ไม่สามารถกลับมาเป็นนายกฯได้อยู่ดี 

มันก็เปิดทางให้ บิ๊กป้อม เอาพลังประชารัฐไปจับมือกับเพื่อไทยตั้งรัฐบาลได้ เพื่อทำให้ลูกพรรค ยังมีที่ยืนทางการเมืองต่อไป อีกทั้ง ฝ่าย 3 ป. ก็ยังได้กุมอำนาจรัฐ มีคนคอยระวังหลังให้ ไม่ให้ 3 ป.โดนเช็คบิลตลบหลัง หากเพื่อไทยขึ้นมาเป็นรัฐบาล 

แบบนี้ บิ๊กตู่ ก็อาจพอใจ และวางมือการเมืองไปแบบเงียบๆ หรือไม่ก็พักการเมืองไว้ก่อนชั่วคราว เพื่อรอกลับมาอีกครั้ง หากจังหวะอำนวย 

ด้วยเหตุนี้ การจับมือกันของเพื่อไทยกับพลังประชารัฐ เพื่อตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้ง จึงเป็นเรื่องที่ทางการเมือง เกิดขึ้นได้แน่นอน ประตูนี้ เปิดได้ตลอด 

ส่วนเรื่องว่ารวมกันแล้ว ทั้งสองพรรค จะเสียแนวร่วมมวลชนหรือไม่ ดูแล้ว ฝ่ายเพื่อไทย น่าจะหนักใจเรื่องนี้มากกว่า แต่หากชี้แจงได้ว่า พลังประชารัฐไม่มีและไม่หนุน พลเอกประยุทธ์แล้ว ทำให้ทำงานร่วมกันได้  แบบนี้ เพื่อไทยและทักษิณ น่าจะพอกล้อมแกล้มกันไปได้ 

แสดงความเห็น