กมธ.ดีอีเอส  ลุยเวียงป่าเป้า ทดสอบ-ติดตั้งอุปกรณ์ ติดตามตรวจสอบภาวะโลกร้อน  

กมธ.ดีอีเอส  ลุยเวียงป่าเป้า จ.เชียงราย  ร่วมทดสอบ-ติดตั้งอุปกรณ์ติดตามตรวจสอบภาวะโลกร้อน  รับมือ Climate Change  

พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย และรองประธานกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการกิจการอวกาศ เพื่อเศรษฐกิจและความมั่นคง กล่าวถึงกรณีที่หลายประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญภัยพิบัติว่า ภัยพิบัติที่เกิดขึ้น บ่งบอกถึงภาวะโลกร้อน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้นเป็น Climate Crisis หรือ Climate Emergency  ทำให้ประชาคมโลกต่างมุ่งหน้าตั้งเป้าหมายและหาวิธีแก้วิกฤตนี้ รวมถึงประเทศไทย เพราะตระหนักดีว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อแหล่งที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตตามธรรมชาติและมีผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพเท่านั้น แต่ยังก่อให้เกิดความเสี่ยงทางการเงินโดยตรงสำหรับประชากรโลก ซึ่งรวมถึงความเสี่ยงทางกายภาพที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศที่เลวร้าย และความเสียหายต่อโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังทำให้เกิดความเสี่ยงในการดำเนินงานของการทำธุรกิจต่างๆ ซึ่งส่งผลต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์และการกำหนดราคาสินทรัพย์  โดยการแก้ไขปัญหาจำเป็นต้องมีองค์ความรู้ และเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงเข้ามาช่วย  

พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าวว่า  ในวันที่ 1 พ.ย. นี้ กมธ.ดีอีเอส เตรียมลงพื้นที่ อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย เพื่อติดตามโครงการทดสอบติดตั้งอุปกรณ์ติดตามสภาวะอากาศ โดยเป็นการเชื่อมต่อเข้ากับแพลตทฟอร์มของเทโรสเปซ (TeroSpace) ในการวิเคราะห์ตรวจสอบสภาวะโลกร้อน เนื่องจาก จ.เชียงราย เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติ อาทิ น้ำท่วม ไฟป่า  ทั้งนี้ ดำเนินการโดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านอวกาศและวิจัย  สถาบันการบินนานาชาติ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญด้านธุรกิจในกิจการอวกาศและการพัฒนาอย่างยั่งยืน  ซึ่งเป็นการต่อยอดโครงการติดตั้งเสาสัญญาณสื่อสารของ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น ที่ใช้เทคโนโลยี 5G ในโครงการนำร่องหมู่บ้านห้วยมะเกลี้ยง อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย ก่อนหน้านี้  พร้อมจะเชิญผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เข้าร่วมทดสอบติดตั้งอุปกรณ์ติดตามสภาวะอากาศในครั้งนี้ด้วย 

“เทคโนโลยีดังกล่าว จะทำให้เราสามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์เชิงลึก จากการจำลองโครงสร้างของชั้นบรรยากาศ, ภาคพื้นน้ำ, ภาคพื้นดิน หรือสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ บนโลก เพื่อให้มองเห็นสถานสภาพของโลก สร้างข้อมูลเชิงลึกเพื่อใช้คาดการณ์แบบเรียลไทม์ และสนับสนุนการตัดสินใจในการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ เพื่อรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างทันท่วงที  สามารถแนะนำเพื่อลดความผันผวนของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศลงได้ เพื่อช่วยรัฐบาลวางแผนได้อย่างเหมาะสม เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน  เช่นเดียวกับหลายประเทศที่กำลังดำเนินการ” พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าว

แสดงความเห็น