กมธ.ดีอีเอส ตั้งคณะทำงานศึกษาธุรกิจ Outer Space Launching หวังพัฒนางานอวกาศ

กมธ.ดีอีเอส ตั้งคณะทำงานศึกษาธุรกิจ Outer Space Launching หวังพัฒนางานอวกาศภาครัฐรวมถึงการให้บริการเชิงพาณิชย์ “เจษฎา” เชื่อภูมิประเทศไทยเหมาะสมเป็นศูนย์ปล่อยจรวด ต้องดำเนินการจริงจัง

พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย และรองประธานกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กมธ.ดีอีเอส) กล่าวว่า ตามที่คณะกรรมาธิการ ดีอีเอส ได้ตั้งคณะอนุกรรมาธิการกิจการอวกาศเพื่อเศรษฐกิจและความมั่นคง เพื่อพิจารณาศึกษาแนวโน้มและผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อประเทศไทย จากการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่เกี่ยวข้องกับกิจการอวกาศ และเพื่อให้การทำงานของคณะอนุกรรมาธิการฯ เป็นไปด้วยความเรียบร้อยเป็นการทำงานที่เกิดประสิทธิผลอย่างแท้จริง กมธ.ดีอีเอส จึงได้ตั้งคณะทำงานซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ เพื่อจัดทำแผนขับเคลื่อนเศรษฐกิจอวกาศ(Space Economy) โดยที่ประชุมกมธ.ดีอีเอส ได้มีมติแต่งตั้งบุคคลเป็นคณะทำงานเพื่อศึกษาความเป็นไปได้และความเหมาะสมในการทำธุรกิจ Outer Space Launching Service และธุรกิจ Outer Space Launching Infrastructure ในคณะอนุกรรมาธิการกิจการอวกาศฯ โดยมีร.ท.เจษฎา ศิวรักษ์ เป็นหัวหน้าคณะทำงาน นอกจากนี้ตนยังได้ตั้งให้ น.ส.อุมาพร อรรคทัย และนายบวรรัตน์ กาญจนรัตน์ ซึ่งเป็นผู้ที่มีประสบการในฐานะผู้บริหาร บ.TeroSoft capital group มีความเชี่ยวชาญและคร่ำหวอดในวงการดิจิทัลมาเป็นเวลานาน ให้ดำรงตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาคณะทำงานชุดนี้ด้วย

พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าวต่อว่า คณะทำงานชุดนี้ จะเข้ามาศึกษาและพิจารณาความเป็นไปได้ในของธุรกิจดังกล่าวในประเทศไทย รวมทั้งพิจารณาทางเลือกในมิติต่าง ๆ เช่น รูปแบบของพื้นที่ การให้บริการจรวดนำส่ง อาทิ ดาวเทียม เพย์โหลด งานวิจัย รวมทั้งสิ่งของใด ๆ หรือมนุษย์ ขึ้นสู่วงโคจร ทั้งในรูปแบบเพื่อการทำกิจการอวกาศของภาครัฐ การทหาร รวมถึงภาคการให้บริการแบบเชิงพาณิชย์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ศึกษาผลกระทบเชิงเศรษฐกิจและสังคมในการทำธุรกิจ ความจำเป็น ความสามารถในการแข่งขัน รวมทั้งข้อจำกัดของการทำธุรกิจในประเทศไทยเปรียบเทียบกับประเทศต่าง ๆ

ด้านร.ท.เจษฎา กล่าวว่า คณะทำงานมีกรอบเวลาทำงาน 90 วัน ที่จะต้องศึกษาและรายงานให้กมธ.ทราบ โดยหลักๆเราจะศึกษาผลกระทบเชิงเศรษฐกิจและสังคมในการทำธุรกิจ Outer Space Launching Service และธุรกิจ Outer Space Launching Infrastructure ในประเทศไทย ความจำเป็น ความสามารถในการแช่งขัน ธุรกิจเกี่ยวเนื่องและโครงสร้างพื้นฐานในการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ อาทิ ห้องควบคุมจรวดนำส่ง ห้องทดสอบระบบชับเคลื่อน ห้องประกอบเพย์โหลดเข้ากับจรวดนำส่ง คลังเชื้อเพลิงจรวดนำส่ง ระบบนำส่งเชื้อเพลิง ระบบดับเพลิง ระบบตรวจสอบสภาพอากาศ และระบบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงศึกษาและเสนอแนะ ข้อกฎหมาย ระเบียบ ข้อกำหนด ข้อบังคับอื่น ๆ และข้อตกลงต่าง ๆ ทั้งในประเทศและระดับสากล รวมทั้งเสนอแนะเกี่ยวกับหน่วยงานภาครัฐที่ทำหน้าที่กำกับดูแล และกำหนดยุทธศาสตร์

“ประเทศไทยถือว่าเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมในการพัฒนาด้านเทคโนโลยีอวกาศ โดยเฉพาะฐานปล่อยจรวดที่ภูมิประเทศของเรามีความเหมาะสม ไม่ร้อนและไม่หนาวเกินไป อยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร ทำให้สามารถปล่อยจรวดได้ทั้งปี นี่คือสิ่งที่เราได้เปรียบหลายประเทศ ดังนั้นจึงคิดว่าเราน่าจะมีการศึกษาและพัฒนาในเรื่องนี้อย่างจริงจัง”ร.ท.เจษฎา กล่าว

แสดงความเห็น