30 ก.ย.ศุกร์ระทึก มีผวา “บิ๊กตู่” หลุด-ไม่หลุด นายกฯ 

ศุกร์ที่ 30 กันยายน ไม่ใช่แค่ “คนการเมือง-คอการเมือง” แต่คนไทยทั้งประเทศมีนัดหมายกันตั้งแต่บ่ายสามโมง เป็นต้นไป กับการลุ้นระทึก ผลคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญในคำร้องคดีแปดปี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี 

เพราะวันดังกล่าว คือวันที่ 9 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้นัดหมายมาลงมติตัดสินคำร้องคดีนี้ ตั้งแต่ช่วงเช้า ด้วยการให้ตุลาการทั้ง 9 คนได้แถลงผลวินิจฉัยคดีของตัวเองที่เรียกกันว่า “คำวินิจฉัยส่วนตน” ด้วยวาจากลางที่ประชุม จากนั้น จะมีการปรึกษาหารือกันเพื่อวินิจฉัยคดี และตามด้วยการลงมติ “ตัดสินคดี” ซึ่งผลคำตัดสินจะยึด “เสียงข้างมาก” เป็นหลัก ที่ดูแล้ว คำร้องคดีแปดปีพลเอกประยุทธ์ ทาง  9 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

“เสียงน่าจะแตก-ไม่เป็นเอกฉันท์”

โดยหากออกมาแบบนี้ ฝ่ายตุลาการเสียงข้างมาก ก็จะเป็นกลุ่มหลักที่จะเป็นผู้เขียน “คำวินิจฉัยกลาง” เพื่อนำไปอ่านที่ห้องพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ศาลได้นัดไว้ บ่ายสามโมงวันที่ 30 ก.ย.นี้ 

คาดหมายกันว่า คำวินิจฉัยกลางคดีนี้ น่าจะยาวพอสมควร โดยหากตุลาการออกมาอ่านคำวินิจฉัย เลทสักเล็กน้อย และบวกเวลาในการอ่านคำวินิจฉัยอีกสักประมาณร่วมๆชั่วโมง ก็คาดการณ์กันว่า กว่าจะรู้ผลคำตัดสินคดีนี้ ก็น่าจะหลังสี่โมงเย็นไปแล้ว 

ผลคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ก็จะออกมาสองทาง เท่านั้น คือ

1.ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ พลเอกประยุทธ์ ยังสามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้ต่อไปหลัง 24 สิงหาคม 2565 

เพราะศาลเห็นว่า การนับจำนวนปีในการเป็นนายกฯตามรัฐธรรมนูญมาตรา 158  ไม่สามารถนับย้อนหลังไปถึงตอนพลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯครั้งแรกเมื่อ 24 สิงหาคม 2557 ได้ 

พูดง่ายๆ หากออกมาแบบนี้ ก็คือ ยกคำร้องของฝ่ายค้าน พลเอกประยุทธ์ คือผู้ชนะ ได้กลับมาเป็นนายกฯเต็มตัวอีกครั้ง 

2. วินิจฉัยว่า พลเอกประยุทธ์ ไม่สามารถเป็นนายกฯได้ต่อหลัง 24 สิงหาคม 2565

เพราะการนับแปดปี ตามมาตรา 158 รวมถึงการตีความมาตรา 264 ในบทเฉพาะกาลประกอบกัน ศาลรัฐธรรมนูญ เห็นว่า แปดปี ต้องนับย้อนหลังไปถึงช่วงก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญเมื่อ 6 เมษายน 2560 ดังนั้น พลเอกประยุทธ์ เป็นนายกฯ มาแปดปีแล้วนับถึง 24 สิงหาคม 2565 จึงไม่สามารถเป็นนายกฯได้ต่อหลังจาก 24 สิงหาคม ที่เป็นวันซึ่งพลเอกประยุทธ์ ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้หยุดพักการปฏิบัติหน้าที่ 

ผลจะออกมาแบบไหน คาดว่าไม่เกิน 16.30 น. วันศุกร์ที่ 30 ก.ย.นี้ ได้รู้กัน บิ๊กตู่ จะได้คัมแบ็กหรือเก้าอี้นายกฯหลุด ?

ทั้งนี้ หากบิ๊กตู่ ยังได้ไปต่อในตำแหน่งนายกฯ ก็เชื่อว่า เมื่อพลเอกประยุทธ์กลับมา ทาง “พรรคภูมิใจไทยและประชาธิปัตย์ คงขอให้มีการปรับครม.รอบสุดท้าย” เพื่อหาคนมาแทน กนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.ศึกษาธิการที่ถูกศาลฎีกาสั่งให้หยุดพักปฏิบัติหน้าที่ เช่นเดียวกับ ประชาธิปัตย์ ก็คงขอให้มีการปรับครม.เพื่อหาคนมาเป็นรัฐมนตรีแทน นิพนธ์ บุญญามณี ที่ลาออกจากรมช.มหาดไทย เพื่อที่ทั้งสองพรรคจะได้ไม่เสียโควตารัฐมนตรีไปเปล่าๆ รวมถึงแม้แต่ในพลังประชารัฐเอง ก็เชื่อว่า จะมีการเคลื่อนไหวเพื่อให้ปรับครม. ตั้งคนไปแทนรัฐมนตรีที่ว่างอยู่สองตำแหน่งในตอนนี้ เพื่อเตรียมการเลือกตั้งแน่นอน 

แต่หาก บิ๊กตู่ ไม่รอด หลุดจากนายกฯ เหลือสถานะแค่เป็นรมว.กลาโหมอย่างเดียว ต้องวัดใจกันด้วยว่า พลเอกประยุทธ์ จะยอมเป็นแค่รมว.กลาโหม อย่างเดียวตลอดไปหรือเลือกที่จะลาออก กลับไปตั้งหลักคิดอ่านอนาคตการเมืองของตัวเองใหม่ 

รวมถึงต้องดูจังหวะการเมืองอื่นๆที่จะตามมาด้วย เช่น พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รักษาการนายกฯ จะตัดสินใจการเมืองอย่างไร เพราะเมื่อบิ๊กตู่ หลุดจากนายกฯ ทาง ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา จะต้องเตรียมเรียกประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อโหวตเลือกนายกฯคนใหม่ ในจังหวะนั้น พลเอกประวิตร จะตัดสินใจทางการเมืองอย่างไร เพราะเรื่องจะปรับครม.หรือยุบสภาฯ ดูแล้ว เงื่อนไข-เวลา ไม่เอื้อ ที่สำคัญไม่สง่างามทางการเมือง หรือบิ๊กป้อม เลือกที่จะลุ้นเป็น “นายกฯคนนอก” อย่างที่มีเสียงร่ำลือกัน 

ดังนั้น ไม่ว่าสุดท้าย พลเอกประยุทธ์ จะรอดหรือไม่รอดในชั้นศาลรัฐธรรมนูญ วันที่ 30 ก.ย.นี้ จะพบว่าล้วนจะตามมาด้วยแรงกระเพื่อมทางการเมืองทั้งสิ้น 

แม้แต่กรณี หากศาลรัฐธรรมนูญ เห็นว่า พลเอกประยุทธ์ ยังเป็นนายกฯได้ต่อไป แต่เมื่อไปดูในข้อกฎหมายและคำร้องของฝ่ายค้าน จะพบว่า คำร้องของฝ่ายค้านที่ยื่นตีความเรื่องนี้ ได้ขอให้ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแค่ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์สิ้นสุดลง หลัง 24 สิงหาคม 2565 หรือไม่ โดยไม่ได้ขอให้วินิจฉัยว่า การนับแปดปี ของพลเอกประยุทธ์ ให้นับจากช่วงเวลาใด 

ซึ่งตามหลักแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญจะไม่วินิจฉัยนอกเหนือประเด็นที่มีการยื่นคำร้องมา 

ดังนั้น หากเป็นแบบนี้ ถ้าคำวินิจฉัยของศาลที่จะออกมา บอกว่าพลเอกประยุทธ์ ยังเป็นนายกฯได้ต่อไป แต่ไม่ได้บอกว่า การนับแปดปี ให้นับจากช่วงใด นับจาก 6 เมษายน 2560 ที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ หรือนับจาก 9 มิถุนายน 2562 ที่พลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯรอบสองหลังเลือกตั้ง เพราะในคำร้องของฝ่ายค้านไม่ได้ถามมา 

ถ้าเป็นแบบนี้ จะเป็นความคลุมเครือกันต่อไป และจะมีผลต่อการตัดสินใจทางการเมืองของพลเอกประยุทธ์และพลังประชารัฐตามมาด้วย กรณีเสนอชื่อพลเอกประยุทธ์เป็นแคนดิเดตนายกฯตอนเลือกตั้ง เพราะไม่รู้ว่า เมื่อถึงตอนเลือกตั้งปี 2566 พลเอกประยุทธ์จะได้เป็นนายกฯต่อไปอีกสองปี หากนับจากปี 2560 หรือจะเป็นได้ถึง พ.ศ.2570 หากนับจากปี 2562 

กระนั้น ศาลรัฐธรรมนูญอาจไม่จำเป็นต้องเขียนเรื่องการนับแปดปีให้นับจากช่วงไหนแบบชัดๆในช่วงท้ายคำตัดสิน ก็ได้ แต่อาจเขียนไว้ในบางบรรทัดทำนองว่า การนับการเป็นรัฐมนตรีต้องนับหลังจากรัฐธรรมนูญประกาศใช้เมื่อปี 2560 ถ้าแบบนี้ก็ชัดแล้ว ว่าพลเอกประยุทธ์ยังเป็นนายกฯได้ต่ออีกสองปี 

หากเป็นแบบนี้ พลเอกประยุทธ์และพลังประชารัฐ ก็ต้องมาคิดแล้วว่า เมื่อไปถึงตอนเลือกตั้ง จะทำอย่างไร กับการจะชูพลเอกประยุทธ์เป็นแคนดิเดตนายกฯ แต่เป็นนายกฯได้แค่สองปี ไม่ใช่สี่ปี ซึ่งจะกลายเป็น “ข้อเสียเปรียบ”ทางการเมือง ของพลังประชารัฐและพลเอกประยุทธ์ เมื่อเทียบกับพรรคการเมืองอื่นๆ ตามมาทันที 

    อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ เชื่อว่า พลเอกประยุทธ์และพลังประชารัฐ คงหาวิธีการแก้ไขปัญหาได้เองเมื่อถึงตอนเลือกตั้ง เพราะถึงตอนนั้น การเมืองอาจเปลี่ยนแปลงได้อีก เช่น ไม่แน่ พลเอกประยุทธ์ อาจพอแล้ว ไม่ลงการเมืองต่อ ก็เป็นได้ 

ตอนนี้ เอาแค่ เฉพาะหน้า ลุ้นให้ 30 กันยายนนี้ มีข่าวดีตอนสี่โมงเย็นกว่าๆ คือพลเอกประยุทธ์ ยังได้เป็นนายกฯต่อ ไปก่อน  

แสดงความเห็น