ยธ. ยกระดับงานด้านตรวจพิสูจน์หลักฐาน ดันเป็น วิชาชีพควบคุมตามกฎหมาย 

รมว.ยุติธรรม เปิดสัมมนาเครือข่ายนิติวิทยาศาสตร์ ยกระดับงานด้านตรวจพิสูจน์หลักฐาน ดันเป็น วิชาชีพควบคุมตามกฎหมาย ให้งานนิติวิทยาศาสตร์ มีมาตรฐานเดียวกัน เทียบสากล หวังประชาชน เข้าถึงกระบวนการยุติธรรม อย่างเท่าเทียม

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานเปิด “โครงการสัมมนาเครือข่ายนิติวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 2” โดยมี นางอรัญญา ทองน้ำตะโก รองปลัดกระทรวงยุติธรรม  พันตำรวจเอก ทรงศักดิ์ รักศักดิ์สกุล ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ผู้บริหารกระทรวง แพทย์หญิง คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ สมาชิกวุฒิสภา และเครือข่ายนิติวิทยาศาสตร์ เข้าร่วม ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร

โดย พันตำรวจเอก ทรงศักดิ์ กล่าวรายงานว่า วัตถุประสงค์การจัดงานในวันนี้ เพื่ออำนวยความยุติธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ พร้อมพัฒนาด้านนิติวิทยาศาสตร์ สู่ระดับสากล ให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งปัจจุบัน งานนิติวิทยาศาสตร์ ได้รับการพัฒนา และส่งเสริมเป็นวิชาชีพควบคุมแล้ว เพื่อจะได้มีจรรยาบรรณมาตรฐานเดียวกัน โดยจะส่งเสริมให้การตรวจพิสูจน์ เป็นไปอย่างมีคุณภาพ

ขณะที่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า รู้สึกยินดี และเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ที่ได้รับเชิญมาเป็นประธานในพิธีเปิด “โครงการสัมมนาเครือข่ายนิติวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 2” ในวันนี้ เพราะเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2562 ตนได้เป็นประธานและเข้าร่วมโครงการนี้ ที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรก โดยมีเนื้อหาสำคัญ 2 ส่วน คือ การพัฒนาเครือข่ายนิติวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย และการผลักดันให้วิชาชีพ สาขานิติวิทยาศาสตร์ เป็นวิชาชีพควบคุมตามกฎหมาย ซึ่งปัจจุบัน ได้มีการกำหนด ให้สาขานิติวิทยาศาสตร์  เป็นวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบคุม แล้ว ตามพระราชกฤษฎีกา กำหนดสาขาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบคุม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2565 ในวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 ส่งผลให้การประกอบวิชาชีพสาขานิติวิทยาศาสตร์ มีมาตรฐานเดียวกัน ภายใต้จรรยาบรรณที่เคร่งครัด เพื่อให้การบริการนิติวิทยาศาสตร์มีคุณภาพ เป็นที่ยอมรับทั้งในระดับประเทศ และระดับสากล 

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า การจัดโครงการในวันนี้  ถือได้ว่า เป็นโอกาสอันดี ที่ทำให้เราได้เห็นถึงการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของการพัฒนาเครือข่ายนิติวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย และพัฒนาบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายด้านกระบวนการยุติธรรมของรัฐบาล ที่ต้องการสร้างความเชื่อมั่นให้กับสังคม พร้อมมุ่งเน้นลดความเหลื่อมล้ำ ให้เกิดความเสมอภาคด้วยกลไกนิติวิทยาศาสตร์ 

“เนื่องจากปัจจุบัน การตรวจพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์ นอกจากช่วยกระบวนการสืบสวนสอบสวนในคดีอาญาแล้ว ยังถูกนำมาใช้ในด้านสังคม เช่น การพิสูจน์สัญชาติ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ การตรวจสารเสพติดในเส้นผม ดังนั้น จะเห็นได้ว่า การพัฒนาเครือข่ายนิติวิทยาศาสตร์นั้น มีส่วนสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ที่จะได้เข้ามามีส่วนร่วม ในการช่วยประชาชน ให้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้อย่างรวดเร็ว และเท่าเทียม เป็นที่พึ่งของประชาชนได้” รมว.ยุติธรรม กล่าว 

แสดงความเห็น