กมธ.ดีอีเอส ลุยเช็คสัญญาณเน็ต “เกาะพะงัน” เร่งขยายสัญญาณ 5 จี รองรับการให้บริการ รพ. 

กมธ.ดีอีเอส ลุยเช็คสัญญาณเน็ต “เกาะพะงัน”  เร่งขยายสัญญาณ  5 จี รองรับ รพ. ให้บริการ “เทเลเฮลท์ ” เอื้อ ปชช.-นักท่องเที่ยว  ทึ้ง!  รพ.เกาะพะงัน ขนเทคโนโลยีรักษาผู้ป่วยเต็มประสิทธิภาพ ชูเป็นต้นแบบการรักษายุคดิจิทัล 

ที่เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี   น.ส.กัลยา รุ่งวิจิตรชัย  ประธานกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม  สภาผู้แทนราษฎร  นำคณะลงพื้นที่ติดตามตรวจสอบสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และการให้บริการอินเทอร์เน็ต-อินทราเน็ตที่โรงพยาบาลเกาะพะงัน​  จังหวัดสุราษฎร์ธานี  โดยมีนายแพทย์วรวุฒิ พัฒนาโภครัตนา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเกาะพะงัน นำเสนอรายงานและประเด็นข้อปัญหา ซึ่งพบว่าที่นี่ได้นำเทคโนโลยีชั้นสูงและระบบการให้บริการที่ทันสมัยมาใช้ เพื่ออำนวยความสะดวก ลดความเสี่ยงและลดความเหลื่อมล้ำของประชาชนในพื้นที่ อาทิ ระบบสแกนใบหน้าผู้ป่วย ระบบการแจ้งเตือนค่าตรวจวัดร่างกายไปยังแพทย์โดยตรง ระบบการรับยาที่บ้าน ซึ่งเป็นที่แรกของไทย เพื่อลดเวลารอยาผู้ป่วยนอก  และระบบการแอดมิทผู้ป่วยที่บ้าน  รวมถึงการเตรียมแผนที่จะนำระบบอัลตราซาวด์ โรบอท มาใช้ให้บริการส่งภาพเอ็กซ์เรย์แบบเรียลไทม์ แต่ติดปัญหาว่า โรงพยาบาลเกาะพะงันยังไม่มีระบบ 5 จีรองรับการใช้เทคโนโลยีได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ 

โอกาสนี้ นายวรวุฒิ  ได้ยื่นหนังสือต่อกรรมาธิการฯ ขอให้ช่วยผลักดันและหารือกับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อขอนำระบบอัลตราซาวด์ โรบอท มาใช้เพื่อทางการแพทย์ และการประสานความร่วมมือกับเอกชนในการติดตั้งเสาสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และอินเทอร์เน็ตเพื่อให้ครอบคลุมระบบ 5 จี โดยนายวรวุฒิย้ำว่า โรงพยาบาลเกาะพะงันมุ่งเน้นให้ประชาชนได้เข้าถึงระบบบริการสาธารณสุขอย่างสะดวกและประหยัด เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะคนยากจนที่เข้าถึงการบริการสาธารณสุขได้ยากกว่าคนรวย  

“ผมเชื่อว่าคนรวยจะตรวจสุขภาพ หรือจะเข้ารับการรักษาตัวเมื่อไหร่ย่อมทำได้ แต่สำหรับคนจนแค่ลางานวันเดียวก็เหนื่อยแล้ว โดยเฉพาะที่คนบนเกาะพะงันจะต้องเสียเงินนับหมื่นบาทในการเดินทางไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลบนเกาะสมุย  ทั้งค่าเรือ ค่าโรงแรม ค่าอาหารต่างๆ ระหว่างรอการรักษา  ผมจึงอยากให้มีระบบ 5 จีมารองรับเทคโนโลยี ซึ่งจะทำให้ประชาชนเกิดความสะดวก ประหยัด และลดภาระบุคลากรทางการแพทย์” นายวรวุฒิ กล่าว

น.ส.กัลยา  เปิดเผยถึงเหตุผลที่เลือกเดินทางมาติดตามเรื่องเทเลเฮลท์กับทางโรงพยาบาลเกาะพะงันว่า เนื่องจากเกาะพะงันอยู่ห่างพื้นดินพอสมควร การบริการทางการแพทย์ที่สะดวกและรวดเร็วถือเป็นสิ่งจำเป็น อีกทั้งพะงันแเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ จึงจำเป็นที่จะต้องพัฒนาระบบการให้บริการทางการแพทย์ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวและชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามา  ทั้งนี้แม้ว่าทางโรงพยาบาลจะนำดิจิทัลและเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ แต่หากระบบไม่เสถียรก็ไม่สามารถใช้เครื่องมือเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม่นยำ ทางกรรมาธิการฯ จึงจะนำปัญหาและอุปสรรคที่ทางโรงพยาบาลประสบอยู่ มาหารือเร่งดำเนินการให้เกิดผลเป็นรูปธรรม โดยเบื้องต้นได้ประสานไปยัง กสทช.สอบถามความคืบหน้าเกี่ยวกับระบบอัลตราซาวด์ โรบอท ที่ทางโรงพยาบาลขอไป รวมถึงการติดตั้งเสาสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ ที่ทราบว่า ที่นี่มีเสาสัญญาณของ “เอไอเอส” แล้ว แต่อาจจะต้องปรับเพิ่มสัญญาณให้มากขึ้น ซึ่งล่าสุด “ทรู” จะเข้ามาเพิ่มแรงส่งสัญญาณให้กับพื้นที่ภายในช่วงปลายปีนี้  พร้อมจะนำข้อมูลที่ได้จากโรงพยาบาลเกาะพะงันไปเป็นต้นแบบในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาและพัฒนาระบบให้กับโรงพยาบาลอื่นๆ ต่อไป 

แสดงความเห็น