คดี 8 ปีประยุทธ์ จบเร็ว อดีตกรธ.ชี้ปมอาจอยู่ยาว

ถึงตอนนี้ แน่ชัดแล้วว่า ที่ทั้งนักการเมือง-นักกฎหมาย-นักรัฐศาสตร์-นักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ ถกเถียงประเด็นข้อกฎหมายรัฐธรรมนูญว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเป็นนายกฯต่อหลังเที่ยงคืนวันที่ 23 สิงหาคมนี้ต่อไปได้หรือไม่ เพราะบางฝ่าย ชี้ว่า พลเอกประยุทธ์ เป็นต่อไม่ได้เนื่องจาก 23 ส.ค.นี้ พลเอกประยุทธ์ เป็นนายกฯครบแปดปีตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมาตรา 158 วรรคสี่ ที่บัญญัติว่า 

“นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกิน 8 ปีมิได้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่”

แต่ก็มีอีกหลายฝ่าย ที่ก็มองต่างมุมไป โดยยกเหตุผลว่า รัฐธรรมนูญและกฎหมาย “ไม่มีผลย้อนหลัง” โดยเฉพาะกรณีที่บทย้อนหลังนั้น “ไม่เป็นคุณ”โดยหากจะให้มีผลย้อนหลัง ต้องมีการเขียนไว้ในบทเฉพาะกาลให้ชัดเจน แต่เมื่อรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ไม่มีการเขียนไว้ “แบบเฉพาะเจาะจง” ว่า การนับวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ ก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ให้มีผลย้อนหลังไปด้วย เพราะบทเฉพาะกาลที่มีอยู่และมีการอ้างอิงถึง ก็เป็นเรื่องของคณะรัฐมนตรี ที่ให้มีผลทำงานต่อเนื่องไป ไม่ได้ระบุถึงตำแหน่งนายกฯ ดังนั้น จะนับรวมช่วงเวลาที่พลเอกประยุทธ์ เป็นนายกฯรอบแรก ช่วงหลังทำรัฐประหารและเข้าไปเป็นนายกฯพร้อมหัวหน้าคสช.เมื่อ 23 สิงหาคม 2557 ไม่ได้ โดยกลุ่มนี้ เห็นว่า การนับการเป็นนายกฯของพลเอกประยุทธ์ จะต้องนับเป็นสองแนว

แนวแรก-ให้นับตั้งแต่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญเมื่อ 6 เมษายน 2560 

ซึ่งปัจจุบัน ปี 2565 จึงเท่ากับ พลเอกประยุทธ์ ยังเหลือวีซ่าการเป็นนายกฯได้อีกประมาณสองปีกว่า เช่นหากเข้ามาเป็นนายกฯอีกรอบหลังเลือกตั้งปี 2566 ก็เท่ากับ เป็นนายกฯได้ไม่เกิน 6 เมษายน 2568 

แนวที่สอง-ให้นับตั้งแต่ พลเอกประยุทธ์ เข้ามาเป็นนายกฯ หลังเลือกตั้งเมื่อมีนาคม 2562 ที่เข้าไปเป็นนายกฯเมื่อ 9 มิถุนายน 2562 

จึงเท่ากับ พลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯมาแล้ว สามปีกว่า ยังเหลือเวลาการเป็นนายกฯได้อีกห้าปี เช่น หากหลังเลือกตั้ง ถ้าพลเอกประยุทธ์เข้ามาเป็นนายกฯ ก็จะเป็นนายกฯได้ถึงปี 2570 กรณีหากไม่ลาออกหรือยุบสภาฯเสียก่อน 

ซึ่งข้อถกเถียงทั้งสามสูตร ที่เถียงกันมานาน สุดท้าย แน่ชัดว่า อีกไม่นานจากนี้ “ศาลรัฐธรรมนูญ” จะรับคำร้องเรื่องนี้ไว้พิจารณาแน่นอน 

เพราะสัปดาห์หน้า 17 ส.ค.พรรคร่วมฝ่ายค้านก็จะยื่นคำร้องให้ศาลรธน.วินิจฉัยแล้ว ขณะที่องค์กรอิสระ ทั้งผู้ตรวจการแผ่นดินและคณะกรรมการการเลือกตั้ง ก็รับเรื่องที่ ศรีสุวรรณ จรรยา  เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นคำร้องขอให้ทั้งสององค์กร ส่งคำร้องให้ศาลวินิจฉัยแล้วว่าพลเอกประยุทธ์ จะได้เป็นนายกฯต่อไปหลัง 23 ส.ค.นี้หรือไม่ ที่คาดว่า ภายในสัปดาห์หน้า คงมีความชัดเจนว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินและกกต.จะส่งคำร้องให้ศาลรธน.วินิจฉัยหรือไม่ แต่ดูแล้ว แนวโน้มเป็นไปได้สูงว่า ไม่องค์กรใดก็องค์กรหนึ่งจะส่งให้ศาลรธน.ตีความแน่นอน 

ทำให้เรื่องนี้ 9 ตุลาการศาลรธน. จะได้วินิจฉัยแน่นอน โดยสิ่งที่ต้องจับตาต่อจากนี้จะไล่ตามกระบวนการดังนี้ 

เริ่มจากต้องดูว่า เมื่อส่งคำร้องไปแล้ว ศาลจะรับคำร้องไว้วินิจฉัยหรือไม่ ?

ที่ตอบได้ว่า ศาลรธน.รับคำร้องแน่นอน โดยเฉพาะคำร้องที่ส่งมาจาก คณะกรรมการการเลือกตั้งและที่ส.ส.ฝ่ายค้านจะเข้าชื่อส่งเรื่องให้ศาลวินิจฉัย สำคัญแต่ว่า ช่วงเวลาในการยื่นคำร้อง ต้องอยู่ในช่วงที่ศาลเห็นว่า หากไม่รับแล้วจะมีปัญหาได้ ก็อาจไม่รับ แต่หากยื่นไปในช่วงใกล้ๆ วันที่ 23 ส.ค. ที่ก็คือสัปดาห์หน้า ก็ทำให้ ศาลรธน.ก็จะรับไว้ตีความแน่นอน 

จากนั้นต้องดูต่อไปว่า เมื่อศาลรับไว้แล้ว ศาลจะมีคำสั่งให้พลเอกประยุทธ์ “หยุดปฏิบัติหน้าที่” การเป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ ?

เพราะพบว่าในคำร้องของศรีสุวรรณที่ยื่นต่อกกต.และผู้ตรวจการแผ่นดิน มีการระบุเรื่องนี้ไว้ด้วย และในคำร้องที่ฝ่ายค้านจะยื่น ก็จะระบุไว้เช่นกัน แต่เรื่องนี้ก็อยู่ที่ดุลยพินิจของตุลาการศาลรธน.ว่าจะมีความเห็น มีมติให้ พลเอกประยุทธ์หยุดพักปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ โดยหากมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ งานนี้ก็เรื่องใหญ่ เพราะทำให้ พลเอกประยุทธ์ ต้องหยุดการใช้อำนาจนายกฯชั่วคราว ไม่สามารถมาร่วมประชุมครม.ได้ ไม่สามารถเข้าทำเนียบรัฐบาลในฐานะนายกฯได้ และทำให้พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็จะทำหน้าที่รักษาการนายกฯชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคำตัดสินออกมา แต่หากศาลไม่สั่ง พลเอกประยุทธ์ ก็เป็นนายกฯไปเรื่อยๆ จนกว่าศาลจะมีคำตัดสินออกมา 

และประเด็นสุดท้าย ก็คือ ต้องคอยลุ้นว่า ผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะออกมาช่วงไหน ศาลจะนัดอ่านคำตัดสินคำร้องคดีนี้เมื่อใด และผลคำตัดสิน จะทำให้ พลเอกประยุทธ์ หลุดจากเก้าอี้นายกฯหรือไม่ หรือว่า พลเอกประยุทธ์จะได้ไปต่อ ในการเป็นนายกฯ ไปจนถึงได้เป็นหัวเรือใหญ่ในฝ่ายรัฐบาลในการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเอเปคเดือนพ.ย.ที่จะถึงนี้ 

มีการคาดหมายกันว่า คำร้องคดี ศาลรธน.น่าจะใช้เวลาพิจารณาไม่นาน เพราะเป็นการตัดสินในเรื่องข้อกฎหมาย ไม่ได้มีข้อเท็จจริงอะไรมาก ดูแค่เจตนารมณ์ของคณะกรรมการร่างรธน.ชุดมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานว่าเขียนมาตราดังกล่าวมาโดยมี “เจตนา-วัตถุประสงค์” อย่างไร ในการเขียนไม่ให้บุคคลเป็นนายกฯเกินแปดปี และมีเจตนาให้มีผลย้อนหลังไปถึงการเป็นนายกฯก่อนประกาศ ใช้รัฐธรรมนูญหรือไม่ หรือว่าให้นับหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ยิ่งหาก ศาลมีคำสั่งให้พลเอกประยุทธ์ หยุดปฏิบัติหน้าที่ และประเทศ ไม่มีนายกฯตัวจริง มีแต่นายกฯรักษาการ ก็จะยิ่งทำให้ ศาลรธน.ต้องมีคำวินิจฉัยออกมาโดยเร็ว อาจใช้เวลาไม่ถึงหนึ่งเดือนด้วยซ้ำ 

อย่างไรก็ตาม ขณะที่เรื่องนี้กำลังเป็นประเด็นร้อนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ หลังมีการเผยแพร่บันทึกการประชุมของคณะกรรมการร่างรธน. ที่มี “มีชัย ฤชุพันธุ์” เป็นประธาน โดยบันทึกดังกล่าว มีการระบุถึงคำพูดของมีชัย และสุพจน์ ไข่มุกด์ อดีตตุลาการศาลรธน.และอดีตกรรมการร่างรธน.ที่มีเนื้อหาโดยสรุปคือให้ความเห็นว่า การนับวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ ไม่เกินแปดปี ต้องนับรวมครม.ที่ปฏิบัติหน้าที่ในช่วงมีการยกร่างรธน.ที่ทำหน้าที่ก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ด้วย จนทำให้ เกิดเป็นประเด็นขึ้นมาว่า พลเอกประยุทธ์ จะเป็นนายกฯหลัง 23 ส.ค.นี้ไม่ได้ 

เรื่องดังกล่าว “สุพจน์ ไข่มุกด์” แจงว่า ข้อความในบันทึกดังกล่าว เป็นแค่การพูดคุยปรึกษาหารือแบบไม่เป็นทางการของ กรธ.ตอนนั้น และในความเป็นจริงมีการพูดกันหลายคน แต่มีคนไปจับประเด็นที่บางกลุ่มต้องการ มีการไปดึงโค้ดคำพูดที่เขาต้องการให้มาประเด็นในตอนนี้เท่านั้นเอง ขอย้ำว่าบันทึกดังกล่าวไม่ใช่มติ เป็นการหารือทั่วไปของ กรธ. และไม่ได้คุยกันแค่สองคน แต่คุยประเด็นนี้กันหลายคนในกรธ. 21 คน เป็นลักษณะการคุยกันทั่วไป แต่ที่มีการบันทึกไว้ในรายงานเป็นเอกสารดังกล่าว ก็เพราะตำแหน่งของตนเองเป็นรองประธาน กับประธานเท่านั้นเอง ซึ่งตอนที่คุย ก็มีความเห็นกันหลากหลายและตอนนี้ อะไรก็เปลี่ยนแปลงไปเยอะแล้ว อยากให้เรื่องนี้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดจะดีกว่า การตีความเรื่องนี้ต้องดูบริบทอื่นๆ ด้วย ต้องดูหลายวรรค หลายตอนประกอบกัน ตอนที่ กรธ.คุยกันในมาตราอื่นด้วยที่เกี่ยวข้องกัน ไม่ใช่เอาข้อความเดียวแล้วยกมาพูดถึง แต่ต้องดูมาตราอื่นด้วย ต้องดูหลายอย่าง

“คุณต้องไปดูความเห็นที่ท่านชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกาที่ออกมาโพสต์เรื่องการตีความการนับการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีผู้เป็นนายกรัฐมนตรี ท่านให้ความเห็นดีมากเลย ขอย้ำว่าที่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญคุยกันตอนนั้นที่ปรากฏในเอกสาร มันแค่ขั้นตอนแรกๆ ของการยกร่างรัฐธรรมนูญเท่านั้นเอง เราก็คุยกันทั่วไป เพราะหลังจากวันนั้น ก็ยังมีการยกร่างรัฐธรรมนูญอีกหลายมาตราหลายขั้นตอน แต่มีบางคนไปจับประเด็น เอาแค่ตรงนั้นที่ผมพูด เพื่อให้กลายเป็นประเด็นขึ้นมาในตอนนี้ ทั้งที่สิ่งที่คุยกัน ไม่ใช่มติของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ การจะตีความเรื่องนี้ ขอบอกว่า จะต้องพิจารณารัฐธรรมนูญหลายมาตรา หลายวรรค หลายตอนในรัฐธรรมนูญมาประกอบกันด้วย ไม่ใช่มาดูกันแค่วรรคเดียวของบางมาตราในรัฐธรรมนูญแล้วนำมาพูดกัน แต่ต้องดูหลายมาตราประกอบ” สุพจน์ อดีตรองประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญระบุ

ทั้งนี้ ประเด็นที่ สุพจน์ อ้างอิงถึง ชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกาดังกล่าว

พบว่าเมื่อ 3 ส.ค.2565 นายชูชาติโพสต์เฟซบุ๊กเกี่ยวกับการนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่มีเนื้อหาสำคัญคือระบุว่า การนับอายุการดำรงตำแหน่งนายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ให้นับหลังจากเข้ารับตำแหน่งนายกฯ รอบสอง หลังเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม ที่เข้าไปเป็นนายกฯ เมื่อ 9 มิถุนายน 2562

“พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 158 วรรคสอง โดยมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2562 คิดถึงปัจจุบันเป็นเวลาเพียง 3 ปี 1 เดือน 6 วันเท่านั้น” (นับจากวันโพสต์ 3 สิงหาคม 2562 )

ที่ก็หมายถึง ชูชาติ ชี้ว่า พลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯมาแค่ 3 ปี ยังเป็นได้อีก 5 ปี และไม่ต้องพ้นจากตำแหน่งภายใน 23 ส.ค.แต่อย่างใดนั่นเอง 

ดังนั้น ที่สุพจน์ ที่เป็นอดีตรองประธานกรรมการร่างรธน.อ้างถึงว่า ชูชาติ เขียนชัดเจนดี จึงตีความได้ไม่ยากว่า สุพจน์ ในฐานะอดีตรองประธานกรธ. เห็นว่า พลเอกประยุทธ์ไม่ต้องหลุดจากนายกฯ 23 ส.คนี้ นั่นเอง

แสดงความเห็น