วิสัยทัศน์ 2050 : เศรษฐกิจระหว่างดวงดาว (The Interplanetary Economy)

บทความโดย : กฤษณ์ คุนผลิน ผู้แทนศูนย์อวกาศและจรวดแห่งชาติสหรัฐ ฯ และ  ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการกิจการอวกาศเพื่อเศรษฐกิจและความมั่นคง สภาผู้แทนราษฎร

โครงการทุนการศึกษาค้นพบนักบินอวกาศไทยเดินทางไปเยือน NASA ระหว่างวันที่ 21 เมษายน ถึง 5 พฤษภาคม 2565 โดยกฤษณ์ คุนผลิน ผู้ก่อตั้งโครงการ ฯ และผู้แทนศูนย์อวกาศและจรวดแห่งชาติสหรัฐ ฯ ประจำประเทศไทย ได้มองเรื่องเศรษฐกิจระหว่างดวงดาว (The Interplanetary Economy) ระหว่างการเดินทางไปดูงานที่ NASA, U.S. Space & Rocket Center และ Smithsonian)

การลงทุนด้านเศรษฐกิจอวกาศกำลังเติบโตขึ้นทั่วโลกอย่างก้าวกระโดด เพียงสหรัฐอเมริกาประเทศเดียวมีมูลค่าการลงทุนจากทั้งของภาครัฐและเอกชนรวมกันปีละประมาณ 1.85 ล้านล้านบาท ซึ่งเกือบเท่ากับงบประมาณของประเทศไทยทั้งปี รองลงมาจากสหรัฐ ฯ ได้แก่ ประเทศจีนที่ตามมาอย่างห่าง ๆ อยู่ที่ปีละประมาณ 370,000 ล้านบาท การเติบโตอย่างก้าวกระโดดนี้เป็นผลมาจากการที่อวกาศได้เปลี่ยนมาจากพื้นที่อวดอิทธิพลทางการเมืองมาเป็นสนามการค้าที่มีมูลค่าสูงอย่างยิ่งไปแล้ว 

รอบวงโคจรซึ่งเหนือพื้นโลกตั้งแต่ 300 กิโลเมตรขึ้นไป ขณะนี้บริษัทเอกชนทั่วโลกรวมถึงไทยกำลังแข่งขันกันอย่างดุเดือนในการวางดาวเทียมวงโคจรต่ำ (LEO –  Low Earth Orbit) เพียงแค่ Starlink ของ Elon Musk บริษัทเดียว มีเป้าหมายที่จะวางถึงกว่า 30,000 ดวง ซึ่งขณะนี้ วางไปแล้วกว่า 10,000 ดวง ระบบเครือข่ายดาวเทียมนี้จะทำให้การใช้งานอินเทอร์เน็ตพื้นฐานไม่มีค่าใช้จ่ายอีกต่อไป เชื่อมโยงคนอีกหลายพันล้านคนที่ปัจจุบันยังเข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ต รวมถึง เชื่อมต่ออุปกรณ์ IOT (Internet of Things) และ สัญญาณชีพของมนุษย์ (ความดัน, อัตราการเต้นของหัวใจ, คลื่นสมอง ฯลฯ) เข้าไว้ด้วยกันบนโครงข่ายโยงใยนอกโลก ระบบอภิข้อมูลตั้งแต่เรื่องเกษตรกรรม การศึกษา การแพทย์ ความมั่นคง จนถึงปศุสัตว์นี้คือธุรกิจมูลค่ามหาศาล ทั้งจากการเก็บ สังเกต รวบรวม วิเคราะห์ และ ส่งผ่านข้อมูล ซึ่งจะมีอิทธิพลต่อการกำหนดพฤติกรรมของมนุษย์ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การเมือง และ การทหารอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

ห่างจากวงโคจรโลกออกไป 384,400 กิโลเมตร คือ ดวงจันทร์ ซึ่งอาจเทียบได้กับการเดินทางจากฝั่งระยองไปยังเกาะเสม็ด ขณะนี้ประเทศมหาอำนาจของโลก ได้แก่ สหรัฐ ฯ และ จีน ประกาศเจตจำนงที่ชัดเจนที่จะตั้งฐานปฏิบัติการถาวรบนดาวบริวารของโลกดวงนี้ เหตุผลสำคัญ คือ ดวงจันทร์มีแหล่งพลังงานสำหรับจรวด และ ออกซิเจนสำหรับมนุษย์ รวมถึง มีแร่ธาตุมีค่าที่สามารถสกัดเป็นพลังงานราคาถูกมาใช้บนโลกได้ ชาติมหาอำนาจต่าง ๆ จะรวบรวมพลพรรคที่มีความพร้อมให้มาเข้าร่วมวงไพบูลย์ในการแสวงหาและพิทักษ์ผลประโยชน์ร่วมกันในเส้นทางการค้าในระบบสุริยะ เช่น สหรัฐ ฯ มีการตั้งโครงการ Artemis Program ซึ่งปัจจุบัน สิงคโปร์ได้ลงนามร่วมใน Artemis Accord ไปเรียบร้อยแล้ว ขณะที่ไทยกำลังวางกฎเกณฑ์ของการทำธุรกิจอวกาศ ซึ่งขณะนี้ พรบ. อวกาศไทยกำลังอยู่ในการพิจารณาของกฤษฎีกา เมื่อไทยมีกติกาที่ชัดเจนแล้ว จึงจะสามารถเข้าร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจในระบบสุริยะกับประเทศที่พัฒนาแล้วได้ 

ถัดจากดวงจันทร์ก็คือ ดาวอังคาร ซึ่งเทียบไปแล้วก็คือระยะทางระหว่างชายฝั่งสุราษฎร์ธานีไปยังเกาะสมุย ดาวดวงนี้คือ เป้าหมายของชาติมหาอำนาจ เช่น สหรัฐ ฯ และ จีน และ บริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น SpaceX ของ Elon Musk และ Blue Origin ของ Jeff Bezos เหตุผลสำคัญที่จะต้องตั้งฐานปฏิบัติการบนดาวเคราะห์สีแดงดวงนี้ก็คือ การเข้าไปทำเหมืองแร่ธาตุหายาก (Rare-Earth Elements) ในบริเวณแถบดาวเคราะห์น้อย (Asteroid Belt) ข้อมูลจาก BBC ระบุว่า มูลค่าปัจจุบันของแร่ธาตุในแถบดาวเคราะห์นี้คือ 25,900 ล้านล้านล้านบาท 

แร่ธาตุหายากเป็นพื้นฐานสำคัญในการทำเซมิคอนดักเตอร์ และ อุปกรณ์ที่เราใช้ทำงานและสื่อสารประจำวัน ตั้งแต่ คอมพิวเตอร์จนถึงโทรศัพท์มือถือ การพัฒนาเศรษฐกิจอวกาศยุคใหม่ (The New Space Economy) จะนำไปสู่เศรษฐกิจระหว่างดวงดาว (The Interplanetary Economy) อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ดังหลักฐานและเหตุผลที่ได้แจกแจงมาข้างต้น ปัจจุบัน ทั้งสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ ฯ และ วุฒิสภาสหรัฐ ฯ ได้ออกกฎหมายและอนุมัติงบประมาณผูกพันระยะยาวที่จะให้สหรัฐ ฯ มีความสามารถทางด้านเทคโนโลยีและอื่น ๆ ที่จำเป็นเพื่อที่จะควบคุมเส้นทางการค้าในระบบสุริยะได้ 

เศรษฐกิจอวกาศยุคใหม่จะนำมาสู่การปฏิวัติพลิกผัน (disruption) ตั้งแต่ การใช้บริการอินเทอร์เน็ตฟรีของประชากรทั้งโลกไปจนถึงระบบโครงข่ายรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยตัวเอง แต่การคืบคลานเข้ามาอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจระหว่างดวงดาวจะนำไปสู่การพลิกผันในระดับโลกที่ยิ่งใหญ่กว่า ตั้งแต่การล้มครืนลงของบริษัทพลังงานของโลกที่ต้นทุนสู้แหล่งพลังงานจากนอกโลกไม่ได้ การที่ประเทศบางประเทศต้องปิดเหมือง rare-earth เพราะโดนแร่ธาตุหายากจากแถบดาวเคราะห์น้อยมา disrupt และ การที่บริษัทเทคโนโลยีบางแห่งไม่สามารถเข้าถึงแหล่งแร่ธาตุหายากจากนอกโลกได้เพราะโดนมาตรการกีดกันต่าง ๆ 

เศรษฐกิจอวกาศยุคใหม่ได้เกิดขึ้นมาแล้วตั้งแต่ปี 2547 นับแต่ Burt Rutan ประสบความสำเร็จในการนำยานอวกาศเอกชนขึ้นสู่ห้วงอวกาศ  ซึ่งขณะนี้กำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดด ขณะที่เศรษฐกิจระหว่างดวงดาวกำลังตามมาอย่างติด ๆ โดย NASA กำหนดวางเสาเอกที่ดวงจันทร์ในปี 2567 เพื่อนำไปสู่การควบคุมเส้นทางการค้าและทรัพยากรในระบบสุริยะต่อไป คำถามสำคัญคือ ไทยอยู่ตรงไหน? ไทยทำอะไรอยู่? และ ในระบบเศรษฐกิจล้ำยุคทั้งสองระบบนี้ ไทยจะทำมาหากินอะไร? คำตอบของคำถามทั้งหมดนี้จะตอบได้ชัดเจนที่สุดเมื่อประเทศไทยมี พรบ. อวกาศใช้อย่างเป็นทางการ

แสดงความเห็น