กม.เลือกตั้งส.ส. เดือด วัดกำลัง สูตรปาร์ตี้ลิสต์ ใครชนะ

การเมืองในรัฐสภา กลับเข้าสู่โหมด วัดกำลังภายใน มีลุ้นกันอีกแล้วในสัปดาห์นี้ หรือหากไม่จบ ก็อาจต้องไปลุ้นต่อสัปดาห์หน้านั่นก็คือ การประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญสองฉบับที่แก้ไขเพื่อให้สอดรับกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราก่อนหน้านี้ ที่เปลี่ยนแปลงระบบการเลือกตั้งจากบัตรใบเดียวเป็นบัตรสองใบ จึงมีการแก้ไขพ.ร.บ.พรรคการเมืองและพ.ร.บ.การเลือกตั้งส.ส.ฯ 

ซึ่งที่ประชุมร่วมรัฐสภามีคิวพิจารณากันสัปดาห์นี้ 5-6 ก.ค. ต่อจากร่างพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ฯ 

ในส่วนของร่างพ.ร.บ.พรรคการเมืองฯ แม้อาจมีบางประเด็นน่าสนใจเช่น “การเปลี่ยนระบบไพรมารีโหวต” จากที่กฎหมายพรรคการเมืองให้มีตัวแทนพรรคประจำทุกเขตเลือกตั้งเพื่อโหวตหรือเห็นชอบผู้สมัครรับเลือกตั้งทุกเขตเลือกตั้ง ที่พรรคส่งผู้สมัครส.ส.เขตที่เป็นระบบซึ่งยุ่งยาก สิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย เสี่ยงต่อการที่ไม่รู้ขั้นตอนแล้วทำผิดกฎหมายจนอาจนำไปสู่การเอาผิดในระดับพื้นที่และระดับพรรคได้ ก็มีการแก้ไขให้เป็นแค่มีตัวแทนพรรคประจำจังหวัด ก็เพียงพอแล้ว จังหวัดไหน พรรคการเมืองไม่ได้ส่งผู้สมัครส.ส.เขต ก็ไม่ต้องมีก็ได้ ที่ก็ทำให้พรรคการเมืองสะดวกมากยิ่งขึ้น จากเดิมที่ต้องมีตัวแทนประจำเขตเลือกตั้งเช่น เลือกตั้งรอบหน้ามี 400 เขต หากใช้กฎหมายเดิม ถ้าพรรคไหนจะส่งคนลงสมัครส.ส.ครบหมด ก็เท่ากับพรรคต้องมีตัวแทนประจำเขตเลือกตั้งถึง 400 คนทุกพื้นที่ แต่ระบบใหม่ ก็ให้มีตัวแทนพรรคประจำจังหวัด ก็แค่ 77 คน ใน 77 จังหวัดทั่วประเทศ เท่านั้นเอง ก็เหมือนกับการให้มีสาขาพรรคประจำจังหวัดดีๆ นั่นเอง อีกทั้งขั้นตอนการประชุมทำไพรมารีโหวตเพื่อหยั่งเสียงผู้สมัครส.ส.ที่พรรคจะส่งเลือกตั้ง  ก็ทำได้ง่ายขึ้นกว่ากฎหมายที่ใช้อยู่ อันเป็นสูตรที่ทุกพรรคการเมือง แฮปปี้ด้วยกันหมด 

แต่ที่น่าจับตามากกว่าก็คือ การแก้ไขพ.ร.บ.การเลือกตั้งส.ส. โดยประเด็นที่ถูกเพ่งเล็งมากที่สุด และคาดว่าจะมีสมาชิกรัฐสภา โดยเฉพาะส.ส.อภิปรายมากสุด ใช้เวลานานสุด และอาจต้องมีการล็อบบี้เกิดขึ้นในการลงมติ นั่นก็คือ เรื่อง “สูตรคำนวณเก้าอี้ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์หรือระบบบัญชีรายชื่อ” ที่จะเปลี่ยนแปลงไปจากตอนเลือกตั้งปี 2562 เพราะตอนปี 2562 ใช้บัตรใบเดียว แล้วคิดจำนวนส.ส.ที่แต่ละพรรคการเมืองพึงมีในสภาฯ ทั้งระบบเขตและปาร์ตี้ลิสต์ จนทำให้บางพรรค เช่น เพื่อไทย ที่ได้ส.ส.เขตเยอะสุด เลยไม่ได้ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์แม้แต่คนเดียว แต่เมื่อเลือกตั้งรอบหน้า กลับมาใช้บัตรสองใบ แยกคะแนนกันระหว่างส.ส.เขตกับปาร์ตี้ลิสต์แล้ว จึงทำให้ต้องมีการมาคิดกันว่าจะใช้สูตรใดในการคำนวณส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 

โดยร่างของกรรมาธิการฯ ที่สรุปออกมา และจะให้สมาชิกรัฐสภาโหวตกันในที่ประชุม สรุปก็คือมีหลักเกณฑ์ให้ใช้ 100 หาร คะแนนปาร์ตี้ลิสต์ทั้งหมด ที่ก็คือ ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง รวบรวมคะแนนในบัตรลงคะแนนเสียงปาร์ตี้ลิสต์ทั่วประเทศของทุกพรรคการเมืองมานับรวมกันหมด จากนั้นได้เท่าไหร่ก็นำ 100 ไปหาร เพื่อคิดค่ากลางของคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ต่อจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 เก้าอี้ ที่แต่ละพรรคการเมืองพึงได้ โดยไล่คะแนนไปเรื่อยๆ จนครบจำนวนส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 100 เก้าอี้  อันเป็นสูตรที่เหมือนกับการเลือกตั้งเมื่อปี 2554 ที่เคยทำให้พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง 

อย่างไรก็ตาม ก็มีกรรมาธิการเสียงข้างน้อย รวมถึงสมาชิกรัฐสภา ทีไม่ได้เป็นกรรมาธิการที่ได้ขอสงวนคำแปรญัตติไว้ ที่ต้องการให้ใช้สูตร 500 หาร โดยวิธีการคือนำคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ทั้งหมด มารวมกันแล้วใช้ 500 หาร ที่เป็นสูตรซึ่งจะทำให้ ค่ากลางของคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ จะลดลงจากสูตร 100 หารค่อนข้างมาก 

เช่น หากตอนเลือกตั้งมีคนมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งในบัตรปาร์ตี้ลิสต์สัก 37,000,000 คน หากนำ 100 ไปหาร คะแนนกลางก็ประมาณ 370,000 คะแนนต่อส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์หนึ่งคน แต่หากใช้ 500 หาร ก็จะเหลือแค่ 74,000 ต่อส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์หนึ่งคนเท่านั้น 

จึงเป็นสูตรที่พรรคขนาดกลางและเล็ก ต่างต้องการอย่างมาก เพราะทำให้ยังมีความหวังจะได้ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ในสภาฯบ้างจำนวนหนึ่ง ไม่ถูกพรรคใหญ่อย่าง เพื่อไทย-พลังประชารัฐ ได้ไปเป็นกอบเป็นกำโดยเฉพาะเพื่อไทย ที่ต้องการสูตร 100 หารมากที่สุดเพราะเป็นสูตรที่จะทำให้ เพื่อไทย การันตีได้ว่า จะมีส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ในสภาฯ ไม่เหมือนตอนเลือกตั้งปี 2562 ที่ไม่มีสักคนเดียว 

ดังนั้นก็ต้องลุ้นกันแล้วว่า เสียงโหวตของที่ประชุมร่วมรัฐสภาในการพิจารณาเรื่องสูตรปาร์ตี้ลิสต์ ในวาระสอง ที่เป็นการพิจารณาเรียงรายมาตรา สุดท้ายแล้ว เสียงส่วนใหญ่ที่มีทั้งส.ส.และสว.จะเอาสูตรไหน 

จะ 100 หาร

หรือจะ 500 หาร 

หลังพบว่าส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลบางพรรค ก็เริ่มมีท่าทีเปลี่ยนไปจากเดิม เพราะเริ่มมองว่าหากใช้สูตร 100 หาร อาจทำให้พรรคตัวเองได้ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์น้อย ไม่เป็นผลดี แต่จะไปเข้าทางเพื่อไทยกับทักษิณ มากกว่า 

อย่างเช่น “อัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะกรรมาธิการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และว่าด้วยพรรคการเมือง” ที่อ้างว่า ได้มีการสงวนความเห็นในร่างพ.ร.บ.เลือกตั้งส.ส.ไว้แล้ว โดยต้องการให้ใช้วิธีหารด้วย 500 และขณะนี้จากการที่ได้มีการพูดคุยและอธิบายเหตุผลกับ ส.ส. ของพรรคประชาธิปัตย์ ปรากฏว่ามี ส.ส.ของพรรคบางส่วนต้องการให้พรรคประชาธิปัตย์พิจารณาให้ลงมติให้ใช้วิธีหารด้วย 500 บนเหตุผลคือ เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ต้องการให้มี ส.ส.พึงมี และในรัฐธรรมนูญมาตรา 93 และมาตรา 94 ก็ยังคงมี ส.ส.พึงมีอยู่ ดังนั้นการที่จะแก้ไขกฎหมายแล้วจะมาล้มล้างเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง รวมทั้งการใช้วิธีหารด้วย 500 นั้น ถือว่าเป็นการสะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนที่จะได้กำหนดให้แต่ละพรรคมี ส.ส.เท่าไหร่ในสภา ซึ่งจะเป็นการสะท้อนความเป็นประชาธิปไตยมากกว่าระบบคู่ขนาดที่จะนำมาคำนวณแยกกัน

“จากที่ได้คุยกับ ส.ส.ในพรรคประชาธิปัตย์ หลายคนมีความเห็นเป็นไปในทางเดียวกัน และน่าจะเป็นเสียงส่วนใหญ่ที่ต้องการให้พรรคพิจารณาหารด้วย 500 และเรื่องนี้คงจะต้องไปหารือและชี้แจงพรรค เพื่อลงมติว่าจะเอาแบบไหน” 

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีส.ส.ทั้งพรรครัฐบาลและฝ่ายค้าน ต้องการให้ใช้สูตร 500 หารปาร์ตี้ลิสต์ รวมถึงก็มีสมาชิกวุฒิสภาจำนวนไม่น้อยที่ก็เอาด้วย

กระนั้น สูตร 500 ก็มีปัญหาใหญ่คือ กรรมาธิการเสียงข้างมาก เห็นว่า เป็นสูตรที่เห็นค่อนข้างชัดว่าอาจเสี่ยงขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 91 ที่แก้ไขไปก่อนหน้านี้ ซึ่งจุดดังกล่าว คือเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้เสียงสนับสนุนการแก้ไขสูตรปาร์ตี้ลิสต์ให้ใช้สูตร 500 หาร ยังมีปัญหาในเรื่องเสียงสนับสนุนเพราะเกรงว่าหากลงมติไปแล้วจะขัดรัฐธรรมนูญตามมาหรือไม่ เพราะฝ่ายที่เคลื่อนไหวเรื่องนี้โดยเฉพาะพรรคเล็ก ก็ยอมว่า สูตร 500 หาร เสี่ยงจะขัดรัฐธรรมนูญ แต่ก็แย้งว่าสูตร 100 หารก็ขัดรัฐธรรมนูญเช่นกัน ในเรื่องส.ส.พึงมี แต่ประเด็นนี้ กรรมาธิการเสียงข้างมากชี้แจงว่า เรื่อง ส.ส.พึงมีที่ติดอยู่ ไม่มีปัญหา เพราะว่า มีการแก้ไขมาตรา 91 โดยตัดเรื่องนี้ออกไปแล้ว สิ่งที่ติดอยู่ในมาตรา เป็นแค่ “ติ่ง” เท่านั้น ไม่มีผลในเชิงนัยยะสำคัญ 

เราได้รับรายงานมาว่า กรรมาธิการเสียงข้างมากฯจะมีแนวทางชี้แจงเรื่องนี้ต่อที่ประชุมรัฐสภา เพื่อดันสูตร 100 หารให้ออกมาให้ได้ บนหลักคือ ข้อเสนอที่จะให้ใช้ 500 ไปหารเพื่อคำนวณที่นั่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ เป็นข้อเสนอที่ขัดกับเจตนารมณ์ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราที่แก้ระบบการเลือกตั้ง จนเป็นระบบบัตรเลือกตั้งสองใบ เพราะเจตนารมณ์ของกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ และในการประชุมของรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีการโหวตกัน ต่างมีเจตนารมณ์ให้ใช้ 100 หาร

รวมถึงการยันไว้ว่า หลักการตามร่างแก้ไข พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พบว่าทุกร่างที่พรรคการเมืองเสนอต่อรัฐสภา รวมถึงร่างของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ต่างก็เสนอให้ใช้ 100 หารด้วยกันทั้งหมด ซึ่งทุกร่างที่ประชุมร่วมรัฐสภา เห็นชอบให้ผ่านวาระแรกมาหมด แต่มีการใช้ร่างของกกต.เป็นร่างหลัก โดยไม่มีร่างใดที่เสนอให้ใช้สูตร 500 หารเลยแม้แต่ร่างเดียว 

และย้ำว่า การให้ใช้ 500 หารนำมาใช้ไม่ได้ในทางปฏิบัติ จะมีปัญหามากในการคิดคำนวณ เพราะเคยมีการให้นักคณิตศาสตร์ ไปทดลองทำมาแล้ว ปรากฏว่ามีปัญหาพอสมควร ในการ นำคะแนนทั้งระบบเขตและระบบบัญชีรายชื่อมารวมกันแล้วหารด้วย 500  

สรุปสุดท้ายแล้ว งานนี้คงมีการดีเบตสู้กันดุเดือดระหว่าง ฝ่ายที่หนุนสูตร 100 หารกับฝ่ายหนุน 500 หาร ที่ต้องดูกันว่าเหตุผลใครจะดีกว่ากัน 

ขณะเดียวกันก็ต้องดูท่าทีของฝ่าย พรรครัฐบาลด้วยโดยเฉพาะพลังประชารัฐ ที่จะเป็นตัวแปรสำคัญในการลงมติว่าจะเอาสูตรไหน เพราะหากพลังประชารัฐ โดยพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ และพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ส่งสัญญาณไปทางไหน ก็ย่อมมีผลต่อการออกเสียงลงมติของส.ส.รัฐบาล รวมถึงสมาชิกวุฒิสภา 250 คนด้วย แน่นอน 

จึงเป็นศึกวัดกำลังกันระหว่าง  สูตรไหนจะชนะระหว่าง 100 กับ 500 หาร บนแต้มต่อที่หากดูในเชิงข้อกฎหมาย-เส้นทางการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญและแก้ไขกฎหมายเลือกตั้งส.ส.  ต้องยอมรับว่าสูตร 100 หาร ยังเป็นต่ออยู่พอสมควรเว้นแต่จะมีสถานการณ์พิเศษ เข้ามาพลิกในช่วงโค้งสุดท้าย 

Exit mobile version