จนท.ตรวจสอบไฟไหม้สำเพ็ง ชี้ ต้องทุบทิ้ง 2 อาคาร ประเมินความเสียหายไม่ต่ำกว่า 30 ล้าน 

เจ้าหน้าที่ ตรวจสอบโครงสร้างอาคารไฟไหม้ตลาดสำเพ็ง ชี้ ต้องทุบทิ้ง 2 อาคาร ประเมินความเสียหายไม่ต่ำกว่า 30 ล้าน ขณะที่ กฟน.ยัน พร้อมรับผิดชอบชีวิตทรัพย์สิน ตามมาตรการ คาด เกิดจากอุปกรณ์ภายในหม้อแปลง ด้านผู้เสียหาย วอน กฟน.รับผิดชอบ กำชับให้เจ้าหน้าที่หมั่นตรวจสอบเพื่อไม่ให้เกิดเหตุซ้ำ

เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าตรวจสอบความเสียหายของอาคารพาณิชย์ที่ถูกไฟไหม้ ที่ตลาดสำเพ็งวันนี้ มีทั้ง เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน ที่ได้เข้าเก็บหลักฐานต่างๆภายในพื้นที่บริเวณโดยรอบ และเจ้าหน้าที่วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เจ้าหน้าที่สำนักโยธา กรุงเทพมหานคร /สภาวิศกร ที่ได้ร่วมกันเข้าไปตรวจสอบโครงสร้างอาคาร เพื่อประเมินความเสียหายของโครงสร้างอาคาร

โดย ดร.ธเนศ วีระศิริ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ บอกว่า จากการเข้าตรวจสอบ อาคารห้องแรก และห้องที่ 2 ซึ่งเป็นร้านขายของเล่นและอุปกรณ์เด็ก และ ร้านขายพลาสติก ของร้านราชวงศ์รุ่งเรือง พบว่า โครงเหล็ก เกิดการงอ ผนังเกิดการบิดออก สภาพของโครงสร้างชำรุดมาก พื้นไหลตัวไม่ปลอดภัย โดยทั้ง 2 อาคารนี้  มีโอกาสที่จะต้องทุบสูงมาก 

ส่วนอาคารที่แรก ที่เป็นร้านพลาสติก ติดกับร้านอุปกรณ์เด็ก และ อาคารที่สี่ ที่ติดกับร้านราชวงศ์รุ่งเรือง หรือตรงกับหม้อแปลงนั้น โครงเหล็กแอ่นตัว แต่ยังสามารถซ่อมแซมเสริมแนวคานรับน้ำหนักของตัวอาคารเพื่อใช้งานอาคารต่อได้ แต่ต้องมีการให้ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับด้านวิศวกรเข้ามาตรวจสอบโครงสร้างเพื่อ ตรวจสอบเกี่ยวกับความมั่นคงอาคารอีกครั้ง  ทั้งนี้หากมองทางวิศวกรรม มองว่า โอกาสที่จะกลับมาต้องรื้อโครงเหล็กดังนั้นเป็นไปได้หรือไม่ที่ต้องรื้อแล้วทำใหม่ เพื่อความปลอดภัย โดยจากการตรวจสอบโครงสร้างทั้งหมดแล้วแต่ละอาคารแยกจากกัน จึงไม่ส่งผลต่ออาคารที่อยู่ติดกัน 

โดยในวันนี้ การไฟฟ้านครหลวง ก็ได้ลงพื้นที่เพื่อร่วมประเมินและตรวจสอบความเสียหายด้วย โดยยังคงตัดไฟโซนที่เป็นอาคารที่เกิดเพลิงไหม้ และจ่ายไฟให้กับ ส่วนรอบๆที่ไม่ได้เกิดเพลิงไหม้

ซึ่ง นายวิลาศ เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง ได้ลงมาดูความเสียหายด้วยตนเอง และบอกว่า ยินดีรับผิดชอบ ผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งชีวิตและทรัพย์สิน แม้เรื่องการพิสูจน์ยังไม่เสร็จสิ้น ก็มีมาตรการในการรับผิดชอบอยู่แล้ว ส่วนกรณีที่ จะมีการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเป็น 10 ล้าน มองว่า คงต้องมีการเจรจาพูดคุยกัน และถ้าเป็นทรัพย์สินที่เกิดจากหม้อแปลงตนเองยินดีรับผิดชอบ

ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง ยังอธิบายให้ฟังด้วยว่า วันเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่การไฟฟ้า ไม่ได้มาทำอะไรกับหม้อแปลง แต่มาปลดสวิตซ์เพื่อจ่ายไฟ  ซึ่งหม้อแปลงลูกไม่ได้เปิดใช้งานมา 10 วันแล้วเนื่องจาก อยู่ในระหว่างขั้นตอนการตรวจสอบระบบภายในและสายไฟที่เกี่ยวข้อง 

ทั้งนี้ก่อนที่จะเกิดเหตุขึ้น เจ้าหน้าที่ได้มาเตรียมการเปิดใช้งาน เปิดสวิตซ์ เพื่อให้กระแสไฟเข้าสู่ระบบ แต่ในช่วงระหว่างเดินทางกลับไปเพื่อรายงาน ได้รับแจ้งว่าเกิดเหตุไฟดับ และเกิดเพลิงไหม้ ยอมรับว่า สภาพหม้อแปลงมีอายุประมาณ 20 ปี มีการบำรุงรักษาตามมาตรฐาน ซึ่งได้ตรวจสอบล่าสุดไปกลางปีที่แล้ว เพราะตรวจสอบแบบปีต่อปี

ทั้งนี้จะต้องไปดูสาเหตุที่แท้จริงอีกครั้งว่าเกิดจากอะไร คาดว่าไม่ได้เกิดจากหม้อแปลง เพราะสภาพภายนอกยังอยู่ปกติ น่าจะเกิดจาก อุปกรณ์ ระบบภายใน เพราะกระบวนการทำงานเป็นไปตามมาตรฐาน

ส่วนหม้อแปลงที่มีอายุการใช้งานเกินกว่า 20 ปี มีประมาณ 400 กว่าลูก โดยหลังจากนี้ จะขยับแผนบำรุงรักษาให้เร็วขึ้น และจะพยายามติดอุปกรณ์แจ้งเตือนเข้าไปเพิ่มเติม ซึ่งจะดำเนินการทันที  ยืนยันว่า หม้อแปลงเป็นไปตามมาตรฐาน มอก. 

ขณะเดียวกัน ยังมีผู้เสียหายทั้งร้านค้า และเจ้าของรถที่ถูกไฟไหม้ เข้ามาตรวจสอบความเสียหาย อย่างนายเกียรติศักดิ์ แซ่แต้ ร้านพิชิตชัย เล่าว่า ของตนเองเป็นร้านขายอุปกรณ์ ของเล่นเด็ก เสียหาย 100% ทั้งสินค้าและตัวอาคาร โดยประเมินความเสียหาย ประมาณ 20 ล้าน ซึ่งหลังจากแจ้งความ ก็อยู่ระหว่างรอประสานกับบริษัทประกัน และ จะรอดู กฟน.จะให้คำตอบในการรับผิดชอบอย่างไรบ้าง ซึ่งการชดใช้ค่าเสียหาย จะต้องทำให้เราสามารถกลับมาทำธุรกิจได้ เพราะตนเองต้องมีค่าเสียโอกาสในการทำธุรกิจ ซึ่งหากคิดเป็นรายเดือน จำนวนหลายแสนบาท ซึ่งยังไม่ทราบแน่ชัดว่าจะต้องหยุดไปกี่เดือน ส่วนลูกค้า ยังมีอยู่บ้างแต่หน้าร้านมีร้านเดียวก็ถือเป็นการเสียโอกาสมาก รวมถึงต้องเยียวยาลูกจ้างที่ไม่ได้ทำงานด้วย และมองว่า ในอนาคตจะต้องกลับมาขายของที่เดิม ก็ต้องการให้เจ้าหน้าที่มาดูแลความปลอดภัยให้กับประชาชน และหวังว่าให้เขาทำงานให้เต็มที่และรอบคอบ ซึ่งถ้าเห็นว่ามีความผิดปกติก็ควรจะเปลี่ยนใหม่ ไม่ควรปล่อยใช้จนเกิดโศกนาฏกรรมเช่นนี้

เช่นเดียวกับ หนึ่งในเจ้าของรถยนต์ที่ถูกไฟไหม้ บอกด้วยว่า ต้องการให้ กฟน.รับผิดชอบ เพราะรถไม่มีประกัน และตนเองก็จำเป็นต้องขับมาเพื่อทำการค้าขายในย่านสำเพ็ง

ด้าน นางสาวอาทิตยา โชคกิจมนัสชัย ผู้อำนวยการเขตสัมพันธวงศ์ บอกด้วยว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้น พบว่า มีอาคารพาณิชย์ได้รับความเสียหายประมาณ 4 คูหา ซึ่งจากการประเมินมีมูลค่าความเสียหายไม่ต่ำกว่า 30 ล้านบาท และยอมรับว่า ยังไม่เคยเกิดเหตุรุนแรงแบบนี้ มีผู้เสียชีวิตถึง 2 ราย ซึ่งถือเป็นบทเรียนสำคัญ โดยหลังจากนี้จะให้เจ้าหน้าที่ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไปเร่งสำรวจสายไฟเก่า เครื่องใช้ไฟฟ้าเก่า และช่วยประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนช่วยกันเป็นหูเป็นตา หากพบจุดที่มีความเสี่ยงก็ให้แจ้งมายังสำนักงานเขตได้ รวมถึงจะเชิญการไฟฟ้ามาประชุมร่วมกันว่าให้ไปตรวจสอบว่าในพื้นที่ มีหม้อแปลงไฟฟ้าที่เก่าเกินอายุที่สมควร คือ มากกว่า 20 ปี หรือไม่ เพื่อดำเนินการซ่อมแซมต่อไป

ส่วนนางสาวโสภา เกียรตินิรชา ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน บอกว่า ขณะนี้ตรวจสอบพบว่า ผู้เสียชีวิตทั้ง 2 ราย มีการทำประกันสังคมไว้ รวมถึงรายที่เป็นแรงงานต่างด้าวด้วย จึงจะได้รับเงินชดเชยจำนวน 5 หมื่นบาทต่อราย และยังมีเงินทดแทนตามระยะเวลาการทำงาน ที่กระทรวงแรงงานจะจ่ายให้ 70% ของค่าแรง โดยต้องไปตรวจสอบระยะเวลาการทำงานของทั้ง 2 คนก่อน

ขณะที่ในทางคดี พ.ต.อ.วสันต์ ธวัชชัยวิรุตษ์ ผกก.สน.จักรวรรดิ เปิดเผยว่า ขณะนี้กระบวนการสอบสวนยังดำเนินการไปอย่างต่อเนื่องยังไม่สามารถพิสูจน์ทราบได้ว่าสาเหตุเกิดจากสิ่งใด จนกว่าจะรอผลการสอบสวนผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเสร็จสิ้น อีกทั้งยังต้องรอผลการตรวจสอบของกองพิสูจน์หลักฐาน นำมาประกอบสำนวนคดี ซึ่งต้องใช้ ระยะเวลานานพอสมควร ส่วนเรื่องผู้เสียหายที่ประสงค์จะเดินทางเข้าแจ้งความดำเนินคดีกับหน่วยงานใด ก็สามารถเดินทาง เข้าแจ้งความกับพนักงานสอบสวนได้ตามสิทธิ์ และภายหลังเข้าตรวจสอบเสร็จสิ้จ การไฟฟ้า ได้ยกหม้อแปลงที่เกิดไฟไหม้ ออกจากพื้นที่เพื่อนำไปตรวจสอบต่อไป

แสดงความเห็น