“สมศักดิ์” ชี้ พ.ร.บ.คู่ชีวิต ต่างกับ “สมรสเท่าเทียม”แค่ “หมั้น-นามสกุล” 

“สมศักดิ์” ชี้ พ.ร.บ.คู่ชีวิต ต่างกับ “สมรสเท่าเทียม” แค่ 2 ประเด็น “หมั้น-นามสกุล” ยัน “ยุติธรรม” ไม่ได้ชี้นำตรงข้าม หวั่นพิจารณาไม่ทัน หลังเกี่ยวข้องกฎหมายหลายฉบับ แนะ อย่าดึงดัน จนกลุ่มหลากหลายทางเพศ ไม่ได้อะไรเลย ขณะสภาฯไฟเขียว พ.ร.บ.คู่ชีวิต ด้วยคะแนน 229 เสียง 

ที่รัฐสภา นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้ชี้แจงสรุปถึงร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรว่า ขอขอบคุณสมาชิก ที่ได้อภิปรายอย่างหลากหลาย ซึ่งจากที่ตนนั่งฟัง นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.พรรคก้าวไกล ได้เห็นว่าเป็นนักต่อสู้ และตนก็มีความรู้สึกดีด้วยมาโดยตลอด แต่การทำงานภาคราชการ ถึงแม้ว่า ในบางส่วนเป็นสิ่งที่ดี และเห็นด้วย แต่ก็ต้องรับฟังผลกระทบว่า มีมากน้อยแค่ไหน 

นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า จากที่ตนนั่งฟัง ในประเด็นหลักต่างกันเพียง 2 ประเด็น คือ เรื่องหมั้น และการใช้นามสกุล ที่อาจจะเร็วไป เพราะจะมีญาติพี่น้องเข้ามาเกี่ยวข้องจำนวนมาก แต่เชื่อว่า ในอนาคตเป็นไปได้แน่นอน ซึ่งกระทรวงยุติธรรม ไม่ได้ชี้นำในทางที่เป็นตรงข้าม แต่จากเหตุผลที่ คณะกรรมการกฤษฎีกา ให้เหตุผล มีความเกี่ยวข้องกับกฎหมายหลายฉบับ โดยถ้าเราดึงดันไปทางนั้น กลุ่มบุคคลหลากหลายทางเพศ ที่รอคอยอยู่นั้น ก็จะไม่ได้อะไรเลย ซึ่งตนเข้าใจสภาฯ ในการออกฎหมายแต่ละฉบับ ต้องใช้เวลานาน โดยผ่านวาระ 1 จบได้ภายใน 1 ปี ก็เป็นเรื่องที่เก่งมากแล้ว 

“หากไม่ให้ความร่วมมือกัน บุคคลหลากหลายทางเพศ ก็จะไม่ได้อะไร ผมคิดว่า สภาจะมีมติรับร่างนี้ ซึ่งจะแสดงถึงความจริงใจ ในการทำกฎหมายให้ประชาชนได้ประโยชน์ ดังนั้น ผมขอให้ติดตามการประชุมกรรมาธิการฯ จะใช้เวลานานเท่าไหร่ รวมถึงส่วนที่ยังไม่ได้ ก็ไปแปรญัตติได้ เพราะเราตั้งใจมอบเป็นของขวัญ ซึ่งสภาฯมีเวลา 9 เดือน ถ้ามีความตั้งใจ สภาฯก็ต้องทำให้เรียบร้อย” รมว.ยุติธรรม กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้ลงมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ของคณะรัฐมนตรี ด้วยคะแนน 229 เสียง ไม่เห็นด้วย 167 เสียง งดออกเสียง 6 เสียง และไม่ลงคะแนน 2 เสียง ที่ประชุมจึงมีมติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ จำนวน 25 คน แบ่งเป็น สัดส่วน ครม. 5 คน สัดส่วนแต่ละพรรค 20 คน 

แสดงความเห็น