“ประยุทธ์” แจง งบฯ66 เน้นจัดสรรงบประมาณหวังพัฒนา-ฟื้นฟูประเทศ 

“ประยุทธ์” นำ ครม. ร่วมประชุมสภาฯ พร้อมแจงสาระสำคัญร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 66 ตามสคริปต์ เน้นจัดสรรงบประมาณหวังพัฒนา-ฟื้นประเทศ ย้ำยึดกรอบวินัยการเงินการคลัง 

ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ซึ่งมีวาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 วงเงิน 3,185 ล้านล้านบาท เป็นวันแรก

โดยบรรยากาศก่อนการพิจารณาเป็นไปอย่างคึกคัก โดยเฉพาะส.ส.ฝั่งพรรคร่วมรัฐบาล ขณะที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ตบเท้าเข้าห้องประชุมอย่างพร้อมเพรียง นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม, พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ, นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ, นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข, นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์, นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง, คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.ศึกษาธิการ, นางกนกวรรณ วิลาวรรณ รมช.ศึกษาธิการ , นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม เป็นต้น

เมื่อเข้าสู่วาระประชุม  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ชี้แจงต่อที่ประชุมสภาฯ ว่า การจัดทำร่างพ.ร.บ.งบฯ 66 วงเงิน 3,185 ล้านล้านบาท เป็นไปตามพ.ร.บ.ว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ โดยทำให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ นโยบายรัฐบาล แผนปฏิบัติราชการของกระทรวง ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเร่งให้บรรลุ 13 เป้าหมายของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รวมถึง 406 แผนงานตามโครงการยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บท ตามที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ เมื่อ 19 พฤจิกายน 2564 รวมถึงแก้ปัญหาความยากจนแบบพุ่งเป้า จัดสวัสดิการที่จำเป็นเพื่อประชาชนทุกกลุ่ม ส่งเสริมการกระจายอำนาจ 

“การดำเนินนโยบายการคลังในปีงบประมาณ 2566 เป็นแบบขาดดุล  โดยกำหนดรายได้สุทธิ ที่  2,490 ล้านล้านบาท และเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 695,000 ล้านบาท รวมเป็นรายรับ 3,185 ล้านล้านบาท เท่ากับวงเงินงบประมาณ สำหรับฐานะการคลัง เมื่อ 31 มีนาคม 2565 พบหนี้สาธารณะคงค้าง ที่  9.9 ล้านล้านบาท คิดเป็น 60% ของจีดีพี ซึ่งยังอยู่ในกรอบการบริหารหนี้สาธารณะตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐที่กำหนดไว้ที่ 70% ส่วนเงินคงคลัง เมื่อ 30 เมษายน 2565 มีจำนวน 3.9แสนล้านบาท” พล.อ.ประยุทธ์ ชี้แจง

พล.อ.ประยุทธ์ ชี้แจงด้วยว่า เป้าหมายการจัดทำงบประมาณ ในร่างพ.ร.บ.งบฯ66  วางเป้าหมายให้ประเทศพัฒนาและฟื้นฟูจากผลกระทบของโควิด-19 เน้นพัฒนาประชาชนฐานรากให้เข้มแข็ง  โดยมีสาระสำคัญ คือ  วงเงิน 3,185 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นรายจ่ายลงทุน 6.95 แสนล้านบาท และรายจ่ายชำระคืนเงินกู้ 1แสนล้านบาท ทั้งนี้รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้เป็นรายจ่ายลงทุนกรณีการกู้เพื่อลงทุนของรัฐวิสาหกิจจำนวน 7,019 บ้านบาท ทั้งนี้สามารถจำแนกเป็นกลุ่มงบประมาณ ได้แก่ 1.งบกลาง จำนวน 5.9แสนล้านบาท , 2.รายจ่ายของหน่วยรับงบประมาณ จำนว 1.09ล้านล้านบาท , 3.รายจ่ายบูรณาการ จำนวน 2.18แสนล้านบาท , 4.งบรายจ่ายบุคคล จำนวน 7.7หมื่นล้านบาท, 5.งบทุนหมุนเวียน จำนวน 2.06แสนล้านบาท , 6.งบเพื่อชำระหนี้ภาครัฐ จำนวน3.06 แสนล้านบาท

พล.อ.ประยุทธ์ ชี้แจงต่อว่า เมื่อจำแนกร่างพ.ร.บ.งบฯ66 ตาม 6 ยุทธศาสตร์การจัดสรรงบ มีดังนี้  1.ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง จัดสรรไว้ 2.96 แสนล้านบาท  เพื่อสร้างความมั่นคงของชาติ,รักษาความสงบภายในประเทศ, พัฒนาและเสริมสร้างการเมือองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหาษัตริย์ทรงเป็นประมุข,​แก้ปัญหาภาคใต้, 2.ด้านความสามารถในการแข่งขัน จัดสรรคไว้ 3.96 แสนล้านบาท เพื่อพัฒนาคมนาคมด้านโลจิสติกส์ ทั้งทางถนน ทางราง โดยเฉพาะการพัฒนาขนส่งทางราง สายเด่นชัย – เชียงราย-เชียงของ , สายบ้านไผ่-มหาสารคาม- ร้อยเอ็ด – มุกดาหาร- นครพนม และพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง กทม. – นครราชสีมา , พัฒนาด้านการเกษตร, พัฒนาเขตเศรษกิจภาคตะวันออก เป็นต้น

นายกรัฐมนตรี ชี้แจงต่อว่า 3.ยุทธศาสตร์พัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ จัดสรรจำนวน 5.49แสนล้านบาท , 4.ยุทธศาสตร์สร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม จัดสรรงบประมาณ 7.59แสนล้านบาท , 5.ยุทธศาสตร์สร้างการเติบโตคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จัดสรรงบปะมาณ 1.22 แสนล้านบาท และ 6.ยุทธศาสตร์ปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ จัดสรรงบประมาณ จำนวน  6.58 แสนล้านบาท นอกจากนั้นรัฐบาลจัดสรรงบประมาณเพื่อใช้จ่ายรองรับเหตุการณ์ฉุกเฉินหรือจำเป็น รวมถึงการบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ อีกจำนวน 4.02 แสนล้าน บาท แบ่งเป็น งบกลางเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 9.5หมื่นล้านบาท, การบริหารหนี้ภาครัฐ จำนวน 3.06 แสนล้านบาท แบ่งเป็น ชำระคืนต้นเงินกู้  1แสนล้านบาท , ดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม จำนวน 2.06 แสนล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การชี้แจงของพล.อ.ประยุทธ์ ได้ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง 10 นาที โดยเป็นการอ่านเอกสารตามที่เจ้าหน้าที่จัดเตรียมไว้ในเอกสารคำแถลงต่อสภาฯ เมื่อชี้แจงเสร็จได้กล่าวกับที่ประชุมว่า “ขอขอบคุณครับ สวัสดีครับ” พร้อมเคารพประธานที่ประชุมและนั่งลงประจำที่ด้วยสีหน้าที่เหนื่อยล้า

แสดงความเห็น