กนอ. จับมือ สมภพ. ลงพื้นที่นิคมฯ บ้านหว้า-นครหลวง ชวนผู้ประกอบการ ให้โอกาสผู้พักโทษ

การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมสัมมาชีพและผลิตภัณฑ์เพื่อการพัฒนาพฤตินิสัย (สมภพ.) กระทรวงยุติธรรม ลงพื้นที่กลุ่มนิคมอุตสาหกรรมพระนครศรีอยุธยา หารือแนวทางประชาสัมพันธ์โครงการสร้างงาน สร้างอาชีพ ฝึกทักษะการทำงาน เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้พักโทษได้รับโอกาสกลับคืนสู่สังคม และไม่หวนกลับไปทำผิดซ้ำ

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมนิคมอุตสาหกรรมนครหลวง และนิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า โดยมี น.ส.นันทรัศมิ์ เทพดลไชย ผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมสัมมาชีพและผลิตภัณฑ์เพื่อการพัฒนาพฤตินิสัย (สมภพ.) ร่วมลงพื้นที่ด้วย

นายวีริศ กล่าวว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้เพื่อมอบนโยบายและหารือแนวทางการบริหารจัดการนิคมอุตสาหกรรมทั้ง 2 แห่ง รวมทั้งรับฟังข้อเสนอแนะและข้อคิดเห็นจากผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม ขณะเดียวกันยังเป็นการประชาสัมพันธ์โครงการสร้างงาน สร้างอาชีพ ฝึกทักษะการทำงานในภาคอุตสาหกรรม เพื่อเปิดโอกาสให้กับกลุ่มผู้พักโทษและผู้พ้นโทษได้กลับคืนสู่สังคม นอกจากนี้ ยังเป็นการคืนแรงงานกลับเข้าสู่ตลาดแรงงาน และลดอัตราการกระทำผิดซ้ำอีกด้วย

“นิคมอุตสาหกรรมมีความต้องการแรงงานจำนวนมาก ซึ่งบางครั้งแรงงานในตลาดอาจไม่เพียงพอ โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตโควิด-19 ซึ่งประเทศไทยขาดแคลนแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน ประกอบกับแรงงานผู้พ้นโทษต่อปีมีจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นคนในวัยแรงงาน มีสุขภาพแข็งแรง และได้รับการฝึกทักษะที่เหมาะสมกับการปฏิบัติงานในตำแหน่งต่างๆ  ซึ่งการเปิดโอกาสให้ผู้พ้นโทษเข้ามาทำงานในนิคมอุตสาหกรรม จะทำให้ผู้พ้นโทษเหล่านี้มีงานทำ มีอาชีพ มีรายได้ ไม่กลับไปก่ออาชญากรรมซ้ำอีก เป็นการลดปัญหาอาชญากรรมในชุมชนและสังคม รวมถึงมีส่วนช่วยให้คนกลุ่มนี้กลับมาเป็นกำลังในการพัฒนาประเทศต่อไป” นายวีริศ กล่าว

สำหรับผู้พ้นโทษที่จะปฏิบัติงานในโรงงานนั้น ควรได้รับการฝึกทักษะในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การทำงานกับเครื่องจักร การทำบัญชีเบื้องต้น โดยทางโรงงานต่างๆ จะเป็นผู้กำหนดว่าตำแหน่งไหนควรได้รับการฝึกทักษะอะไรบ้าง ซึ่งอาจดำเนินการฝึกอบรมตั้งแต่อยู่ในเรือนจำ ทำให้เมื่อพ้นโทษออกมาหรือเมื่อรับการฝึกอบรมเสร็จแล้วสามารถเข้าปฏิบัติงานในนิคมฯ ได้ทันที ส่วนเรื่องการปรับตัวนั้น การปรับตัวในนิคมอุตสาหกรรมน่าจะทำได้ง่ายกว่าในสังคมปกติ เนื่องจากมีระบบ ระเบียบ มีการทำงานเป็นเวลา ซึ่งคล้ายกับการฝึกระเบียบวินัยในเรือนจำอยู่บ้าง ดังนั้น ถ้าหากปรับตัวได้ มีความอดทนกับการทำงาน และมีการพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ ก็จะมีโอกาสในการเลื่อนขั้นไปสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้น มีรายได้มากขึ้น และมีหน้าที่การงานที่มั่นคง สามารถเลี้ยงชีพได้อย่างยั่งยืน

ด้าน น.ส.นันทรัศมิ์ กล่าวว่า สำหรับผู้พักโทษที่จะเข้ามาทำงานในนิคมอุตสาหกรรมแต่ละแห่งนั้น จะมีคณะกรรมการดูแลควบคุมผู้พักโทษ และมีการติดกำไล EM (อุปกรณ์ใช้สำหรับตรวจสอบ หรือจำกัดการเดินทางของบุคคลในการปล่อยตัวชั่วคราว ซึ่งมีลักษณะคล้ายนาฬิกา หรือสายรัดข้อเท้า โดยมีตัวอุปกรณ์ส่งรับสัญญาณ เพื่อให้ศูนย์ควบคุมสามารถติดตามตัวได้) ทั้งนี้ สมภพ.จะบริหารจัดการเพียงในเชิงเทคนิค แต่สิ่งสำคัญคือ ยิ่งให้โอกาสมากเท่าไหร่ การกระทำผิดซ้ำก็จะลดลงทันที เป็นไปตามธรรมชาติของมนุษย์ เมื่อได้รับความเชื่อมั่น ได้รับการยอมรับ และมีผู้เห็นคุณค่า ก็จะส่งผลต่อพฤติกรรมทันที ทำให้คนเหล่านั้นได้รับโอกาสในสังคม

ส่วนกรณีที่กังวลว่าผู้พักโทษอาจมีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิต เนื่องจากต้องอยู่ภายในเรือนจำเป็นเวลานานนั้น กรมราชทัณฑ์จะมีการทำแบบทดสอบทั้งก่อนและหลังออกจากเรือนจำ ขณะเดียวกันในระยะแรก จะส่งจิตแพทย์คอยดูแลเพื่อให้ผู้พักโทษสามารถปรับตัวให้เข้ากับสังคมได้ด้วย

 “มนุษย์ทุกคนไม่ว่าจะดีหรือเลว ล้วนเคยเป็นคนดีมาก่อน เมื่อวันหนึ่งต้องกลายเป็นคนไม่ดี คำที่จะทำให้คนเหล่านั้นกลับมามีชีวิตที่ดีได้ก็คือ โอกาส หากผู้ประกอบการเห็นว่า การให้โอกาสเป็นประโยชน์ และสามารถทำให้คนเหล่านี้มีชีวิตรอดได้ ก็อยากขอให้พิจารณาให้โอกาสคนเหล่านี้ ซึ่งเชื่อว่า เขาเหล่านี้จะกลับมาเป็นคนดีของสังคมได้” น.ส.นันทรัศมิ์ กล่าวทิ้งท้าย

แสดงความเห็น