ตั้งด่าน วางแผนหลายชั้น สกัด “พท.-ทักษิณ” แลนด์สไลด์

แม้จะมีการประเมินกันว่า การประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ของรัฐสภาในสัปดาห์นี้

หากสุดท้ายที่ประชุม เดินหน้า เพื่อหาข้อยุติและลงมติในเรื่อง “เลขบัตรเลือกตั้ง” ในบัตรเลือกตั้งส.ส.เขตและบัญชีรายชื่อ ที่มีความเห็นที่แตกต่างกันออกเป็นสองฝ่าย ของกรรมาธิการฯ 49 คน

โดยฝ่ายแรกเห็นว่า ควรให้ใช้เลขเดียวกันทั้งในบัตรส.ส.เขตและปาร์ตี้ลิสต์ ที่ฝ่ายดังกล่าวนำโดยกรรมาธิการจากพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ รวมถึงกรรมาธิการจากพรรคร่วมฝ่ายค้าน โดยก็มีกรรมาธิการจากฝ่ายประชาธิปัตย์ เอาด้วยกับสูตรนี้ เพียงแต่พบว่า กรรมาธิการจากประชาธิปัตย์ เสียงแตกกันเอง ไม่ได้เป็นเอกภาพเหมือนกรรมาธิการจากเพื่อไทย กับอีกฝ่ายคือกรรมาธิการที่เห็นว่า ควรใช้บัตรคนละเบอร์กัน ที่นำโดยกรรมาธิการจากพลังประชารัฐและสมาชิกวุฒิสภา

ที่มีการประเมินกันว่า อาจเป็นไปได้ ที่สุดท้าย กรรมาธิการ เสียงส่วนใหญ่จะลงมติ ไปในแนวทางที่สองคือ จะให้ใช้บัตรเลือกตั้งส.ส.เขตและบัญชีรายชื่อเป็นคนละเบอร์กัน

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าผลการลงมติของกรรมาธิการจะออกมาแบบไหน แต่ในทางข้อกฎหมาย-ข้อบังคับการประชุมร่วมรัฐสภา เรื่องนี้ก็ยังไม่ไฟนอล จบแล้วจบเลยในชั้นกรรมาธิการฯ

เพราะแน่นอนว่าหากผลออกมาให้ใช้สูตร คนละเบอร์ในบัตรเลือกตั้ง สิ่งที่จะตามมาคือ ฝ่ายกรรมาธิการเสียงข้างน้อย โดยเฉพาะจากเพื่อไทย ก็จะสงวนความเห็นเพื่อไปอภิปรายในวาระสอง เพื่อหวังโน้มน้าว ให้สมาชิกรัฐสภาเสียงส่วนใหญ่ ไม่เอาตามร่างของกรรมาธิการฯ

ซึ่งกรณีลักษณะดังกล่าว มีให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง ในการพิจารณากฎหมายต่างๆ ที่สุดท้ายตอนพิจารณาวาระสอง ที่เป็นการอภิปรายเรียงตามมาตรา เสียงส่วนใหญ่ของที่ประชุม มาเอาตามกรรมาธิการเสียงข้างน้อยที่แพ้โหวต ในที่ประชุมกรรมาธิการแล้วมาดีเบตอภิปรายตอนวาระสอง จนที่ประชุมใหญ่พลิกเอาด้วยกับกรรมาธิการเสียงข้างน้อย  

ดังนั้น การพิจารณาของกรรมาธิการฯ พิจารณากฎหมายลูกทั้งสองฉบับในเวลานี้ ทั้งพ.ร.บ.ประกอบรธน.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.และ พ.ร.บ.พรรคการเมืองฯ จึงไม่ใช่ เวทีสุดท้าย ที่จะชี้ขาดว่า กติกาเลือกตั้งแต่ละเรื่องที่สำคัญ จะออกมาอย่างไร เพราะของจริง วัดกันตอนประชุมพิจารณาวาระสอง เรียงรายมาตรา วาระสอง

เพียงแต่ก็ต้องยอมรับว่า หากเป็นกฎหมายสำคัญๆทางการเมือง ที่มีผล

แพ้-ชนะ” ทางการเมือง

ทางฝ่ายผู้กุมเสียงข้างมากในสภาฯทั้งสภาฯและวุฒิสภา ตั้งแต่ในชั้นกรรมาธิการจนถึงเสียงข้างมากในรัฐสภา จะเน้นเป็นพิเศษในการเขียนกฎหมายออกมาให้ตัวเองได้ประโยชน์มากที่สุด

ที่ก็เช่นเดียวกันกับการยกร่างพ.ร.บ.เลือกตั้งส.ส.และพ.ร.บ.พรรคการเมือง ต้องยอมรับความจริงว่า หากสุดท้ายที่ประชุมกรรมาธิการฯที่เสียงส่วนใหญ่คือฝ่ายผู้มีอำนาจปัจจุบันในพรรคร่วมรัฐบาลและวุฒิสภา  ต้องการแบบไหน ก็จะมีการประสานไปยังกรรมาธิการฯ ฝ่ายตัวเองที่คุมเสียงข้างมากอยู่ในกรรมาธิการ 49 คน

จนได้ผลออกมาตามที่ฝ่ายผู้มีอำนาจต้องการ จากนั้นก็จะสั่งการไปยังวิปรัฐบาลและประสานวิปวุฒิสภา เพื่อให้ตอนพิจารณาในที่ประชุมรัฐสภาวาระสองและวาระสาม ให้ ลงมติตามร่างของกรรมาธิการ ฯ ไม่ยอมให้มีการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญไปจากร่างของกรรมาธิการฯ

เว้นเสียแต่ว่า ฝ่ายผู้มีอำนาจมี “ข้อมูลใหม่” ในการประเมินสถานการณ์ ก็อาจมีการพลิกให้แก้ไขในวาระสองได้

จากสถานการณ์ข้างต้น จึงประเมินได้ว่า การยกร่างแก้ไขกฎหมายลูกสองฉบับทั้งเลือกตั้งส.ส.และพรรคการเมือง หากสุดท้าย เสียงส่วนใหญ่ของที่ประชุมกรรมาธิการ ออกมาแบบไหน โอกาสที่จะมีการแก้ไขอีกในวาระสอง มันก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้ แต่ “ยากมาก” ถ้าฝ่ายผู้มีอำนาจในสภาฯและวุฒิสภา ไม่เอาด้วย

ดังนั้น หากกรรมาธิการเสียงส่วนใหญ่ เคาะรายละเอียดเนื้อหา ของกฎหมายเลือกตั้งส.ส.และพรรคการเมืองออกมาอย่างไร ในทางการเมือง ถือว่า มีโอกาสไม่น้อยกว่า 80 เปอร์เซนต์แล้ว ที่ตอนกฎหมายถูกส่งไปให้รัฐสภาโหวตวาระสองและวาระสาม ผลก็จะออกมาตามร่างของกรรมาธิการฯ โดยเฉพาะในประเด็นสำคัญๆ 

ด้วยเหตุนี้ ถ้ากรรมาธิการ เห็นชอบเรื่องเบอร์เลือกตั้ง ในบัตรสองใบ ออกมาอย่างไร  ก็มีโอกาสสูงที่กฎหมายที่ออกมา ก็จะเป็นเช่นนั้น

ยิ่งเรื่องที่จะให้ใช้บัตรเลือกตั้ง ใช้เบอร์เดียวกัน มีการขู่จากกรรมาธิการบางส่วนไว้แล้วว่า

“สุ่มเสี่ยงจะขัดรัฐธรรมนูญ”

จนอาจทำให้ การยกร่างแก้ไขกฎหมาย สุ่มเสี่ยงจะโดนล้มกระดาน เสียเวลาได้ มันก็ยิ่งน่าจะทำให้ โอกาสที่จะดันเรื่องบัตรเดียวกัน อาจเป็นไปได้ยาก

เช่นความเห็นของ “นิกร จำนง เลขานุการคณะกรรมาธิการ วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.ฯ” ที่ระบุว่า หากใช้บัตรเบอร์เดียวสองใบอาจเป็นช่องทางที่มีผู้ยื่นเรื่องร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัยการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นให้เป็นโมฆะได้

“รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 90  ที่กำหนดให้การเลือกตั้งส.ส.ทั้ง 2 ประเภทผูกมัดระหว่างกัน  เนื่องจากมาตรา90 กำหนดให้พรรคการเมืองต้องส่งผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตเสียก่อน จึงจะมีสิทธิส่งผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อได้  ซึ่งหลักการดังกล่าวไม่สามารถปรับเป็นวิธีสมัครแบบเขต ที่รอเบอร์ไว้ก่อน โดยอ้างว่าแล้วเสร็จ จากนั้นให้เปิดสมัครแบบบัญชีรายชื่อ เพื่อให้เบอร์ที่ได้ภายหลังไปเป็นเบอร์ให้กับผู้สมัครแบบเขตของพรรคนั้นๆ ได้ เพราะ สุ่มเสี่ยงต่อการถูกร้องให้การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นเป็นโมฆะได้” นิกร จำนงระบุ

สำหรับประเด็นเรื่อง “เบอร์บัตรเลือกตั้ง” มีการมองกันว่า หากใช้กติกาให้เบอร์บัตรเลือกตั้งเป็นเบอร์เดียวกันทั้งสองใบ พรรคการเมืองที่จะได้ประโยชน์มากที่สุดก็คือ “พรรคเพื่อไทย” เพราะเป็นกติกาที่ทำให้ง่ายต่อการหาเสียง โดยเฉพาะกับพรรคการเมืองที่มีกระแสนิยมสูง โดยเฉพาะในระดับภาค ที่หาเสียงได้ง่ายเลยว่า ให้ประชาชนกาเบอร์อะไรทั้งสองบัตร อันเป็นกติกาที่เคยใช้มาแล้วตอนเลือกตั้งก่อนหน้านี้ เช่นปี 2544 2548 ที่เคยทำให้ ไทยรักไทย และทักษิณ ชินวัตร ชนะเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์ โดยเฉพาะปี 2548 ที่ได้ส.ส.ถึง 370 คน กับการหาเสียงบัตรสองใบแต่เบอร์เดียวกันทั่วประเทศ

จึงไม่แปลกที่ในทางการเมือง จะมีการมองกันว่า เหตุที่เพื่อไทยสนับสนุนกติกาเบอร์เดียวสองใบ เพราะจะทำให้เพื่อไทยหาเสียงได้ง่าย โดยเฉพาะกับภาคที่พรรคมีกระแสนิยมสูงคือ ภาคกลาง-ภาคเหนือ ที่หากเพื่อไทย ได้เสียงแค่สองภาคนี้เป็นกอบเป็นกำ ก็ได้ส.ส.เกิน 120 คนไปแล้ว ทำให้มีโอกาสจะชนะเลือกตั้ง แบบแลนด์สไลด์ได้

ส่วนฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับเบอร์เดียวสองใบ ที่นำโดยพลังประชารัฐและส.ว. ก็มีการมองกันว่า เหตุที่ขวางเรื่องเบอร์เดียวสองใบ นอกจากเพราะมองว่า อาจเกิดปัญหาขัดรัฐธรรมนูญแล้ว ในทางการเมืองก็มีการมองว่า เพื่อเป็นอีกหนึ่งแท็กติกในการสกัดไม่ให้ เพื่อไทย แลนด์สไลด์นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม จุดสำคัญในการ “สกัดเพื่อไทย” ไม่ให้ชนะแลนด์สไลด์ น่าจะเป็นเรื่องของ

“สูตรคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อ”

ที่จะเป็นประเด็นสำคัญสุดในการยกร่างแก้ไขพ.ร.บ.เลือกตั้งส.ส. ฯ ที่น่าจะได้ข้อยุติกลางๆ เดือนเมษายน

เพราะมีการมองกันว่า หากเอาสูตรแบบตอนเลือกตั้งปี 2544 -2548- 2554 ที่เอาจำนวนคะแนนเสียงในบัตรปาร์ตี้ลิสต์ทั้งหมดทุกพรรคมารวมแล้วหารด้วย 100 ที่คือจำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อ จะเป็นสูตรที่จะทำให้ เพื่อไทย น่าจะได้ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ขั้นต่ำก็ไม่น้อกว่า 30-40 เสียง แล้วบวกกับที่เพื่อไทยอาจได้ส.ส.เขตทั่วประเทศอีกจำนวนหนึ่ง ก็น่าจะทำให้ เพื่อไทย จะชนะเลือกตั้งได้ในระดับขั้นต่ำ 220-230 เสียง แล้วรวมเสียงกับอีกแค่ 3-4 พรรค ก็ตั้งรัฐบาลได้แล้ว โดยส.ว. 250 คนที่มีอำนาจโหวตนายกฯ ยากจะสกัดได้

จนทำให้ มีความพยายามจากบางฝ่ายเช่น ส.ว. หรือกรรมาธิการบางคน จากพลังประชารัฐ หรือพรรคเล็ก รวมถึงแม้แต่กับกรรมาธิการจากพรรคก้าวไกล ที่เสนอให้ใช้สูตรคำนวนส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ โดยไม่เอา 100 ไปหาร แต่ให้เอา 500 ที่คือจำนวนส.ส.ทั้งสภาฯไปหาร อันเป็นสูตรที่จะทำให้ เพื่อไทยได้ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ครึ่งหนึ่ง หรืออาจไม่ได้ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เลยสักเก้าอี้ แบบตอนปี 2562 ก็ยังได้

จนไปดับฝัน “ทักษิณ-อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตร-เพื่อไทย” ที่หวังชนะเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์

เรื่องเลขบัตรเลือกตั้ง-สูตรคำนวณปาร์ตี้ลิสต์ จึงเป็นสองด่านที่ฝ่ายตรงข้าม ทักษิณ-เพื่อไทย มองไว้ในการสกัด เพื่อไทย ไม่ให้ชนะแลนด์สไลด์นั่นเอง

แสดงความเห็น