เริ่มคิกออฟนับหนึ่งกันแล้ว สำหรับการเลือกตั้งองค์กรท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ กรุงเทพมหานคร และพัทยาหลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา เขี่ยลูกส่งต่อให้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไปประชุมกำหนดวันเลือกตั้งกทม.-พัทยา ทั้งการเลือกผู้ว่าฯกทม.-สมาชิกสภากรุงเทพมหานครหรือส.ก. ที่จะเลือกกัน 50 เขต เขตละหนึ่งคน-นายกเมืองพัทยาและสมาชิกสภาเมืองพัทยาอีก 24 เก้าอี้
ขั้นตอนต่อจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.จะต้องนำเรื่องที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบดังกล่าว เข้าที่ประชุมใหญ่ 7 กกต.เพื่อให้ กกต. ออกระเบียบและประกาศ กกต. และจัดทำแผนงานการเลือกตั้ง ผู้บริหารท้องถิ่น และสมาชิกสภาท้องถิ่นทั้งของกทม.และพัทยา เพื่อประกาศกำหนดวันเลือกตั้งต่อไป จากนั้น กกต.ต้องแจ้งกลับมายัง คณะรัฐมนตรีอีกครั้ง ภายในไม่เกิน 60 วันนับจากวันที่ 8 มีนาคม
ปฏิทินการเลือกตั้งกทม.และพัทยาต่อจากนี้ แผนงานที่เตรียมไว้คร่าว ๆ ก็เช่น วันที่ 11-15 เมษายน คือวันรับสมัครเลือกตั้ง -วันที่ 3 พฤษภาคม วันประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง และวันเลือกตั้ง หากไม่มีอะไรพลิกโผ ก็คือวันอาทิตย์ที่ 29 พ.ค. ที่จะถึงนี้
หากนับจากช่วงนี้ไป เท่ากับ คนที่จะลงสมัครรับเลือกตั้ง ทั้งสนามกทม.และพัทยา จะมีเวลาหาเสียงประมาณ สองเดือนเศษ แต่บางคน ก็หาเสียงล่วงหน้ามาเกือบสองปีแล้ว เช่น “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.อิสระ” แต่กระนั้นก็เป็นที่รู้กันว่า ได้แรงหนุนจากพรรคเพื่อไทย ที่มีส.ส.กทม.-อดีตส.ก.รวมถึงมีฐานเสียงในกทม.ระดับหนึ่ง ก็จะมาช่วยสนับสนุนการหาเสียงให้กับชัชชาติ โดย พรรคเพื่อไทย ก็จะส่งคนลงสมัครชิงเก้าอี้ส.ก.ครบทั้ง 50 เขต และแนวโน้มอาจจะหาเสียงกันแบบคู่ขนานกับ ชัชชาติ ในลักษณะ
“แยกกันเดิน แต่เป้าหมายเดียวกันคือ ยึดพื้นที่เลือกตั้งกทม.ให้ได้”
แม้ระยะหลังจะเริ่มพบว่า ชัชชาติ ดูจะพยายามจะรักษาระยะห่าง ระหว่างตัวเองกับ พรรคเพื่อไทย อย่างเห็นได้ชัด
มีการวิเคราะห์กันว่า เหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะชัชชาติ คงประเมินแล้วว่า การเป็นผู้สมัครอิสระ แล้วขายความเป็นนักบริหารมืออาชีพ ความใหม่ในสนามกทม. ขายนโยบายการบริหารกทม. น่าจะทำให้คนกทม.เลือกตัวเขาได้ โดยเฉพาะกับคนกทม.บางส่วน ที่อาจไม่ชอบเพื่อไทย ไม่ชอบทักษิณ แต่หากเห็นว่า ตัวเลือกผู้ว่าฯกทม.ที่มีอยู่ ไม่มีใครดีกว่า ตนเอง ก็อาจจะมาเลือกให้ก็ได้ เพราะตอนนี้ถือว่า ชัชชาติ มีแฟนคลับกองเชียร์ของตัวเองในกทม.อยู่แล้วกลุ่มหนึ่ง แต่หากได้คนที่อยู่ในกลุ่ม
“พลังเงียบ-ยังไม่ตัดสินใจจะเลือกใคร”
ที่มีอยู่จำนวนมาก เทเสียงมาให้อีก โอกาสจะชนะเลือกตั้งก็ลอยลำ เห็นได้จากโพล์หลายสำนัก ที่คะแนนนิยมของชัชชาติ ยังนำโด่งมาอันดับหนึ่งตลอด ไม่เคยตก
สำคัญแต่ว่า ชัชชาติ จะทำให้คนกลุ่มที่ยังไม่ตัดสินใจที่มีจำนวนมาก จะทำยังไง ให้คนกลุ่มนี้้มาลงคะแนนให้
ซึ่งจุดนี้คือโจทย์สำคัญที่ ชัชชาติและทีมงาน คงกำลังขบคิดกันอยู่ จนอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ แนวทางการหาเสียงของชัชชาติ เห็นได้ชัดว่า แยกตัวออกมาจาก เพื่อไทย มากขึ้นเรื่อยๆ
จนเริ่มมีข่าวว่า บรรดา ส.ส.กทม.เพื่อไทยรวมถึง ผู้ลงสมัครส.ก.ของเพื่อไทย บางส่วน เริ่มชักไม่พอใจ ชัชชาติ เหมือนกัน ที่ดูจะรักษาระยะห่าง ของตัวเองกับเพื่อไทย มากเกินความจำเป็น
แต่คาดว่า หลังจากนี้อีกไม่นาน ทีมผู้ประสานงาน ของ เพื่อไทย อย่าง ภูมิธรรม เวชยชัย -นพ.สุรพงษ์ สืบวงษ์ลี ที่คุ้นเคยกับชัชชาติ เป็นอย่างดี คงมีการหารือกันนอกรอบ เพื่อหาข้อสรุปให้ชัดว่า การหาเสียงระหว่าง ชัชชาติกับทีมผู้สมัครส.ก.ของเพื่อไทย จะเดินไปด้วยกัน หรือจะแยกกันไปเลย
อย่างไรก็ตาม ขณะที่ผู้ลงสมัคร ผู้ว่าฯกทม.ส่วนใหญ่ ตอนนี้ เปิดตัวกันออกมาเกือบหมดแล้ว
ล่าสุด ก็ “สกลธี ภัททิยกุล” ที่ลาออกจากรองผู้ว่าฯกทม.เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ก็ประกาศตัวลงชิงผู้ว่าฯกทม.แบบอิสระ ไม่สังกัดพรรคเช่นกัน ขณะที่ พรรคไทยสร้างไทย ของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ก็มีข่าวว่าน่าจะไม่เกินกลางเดือนนี้
แต่ที่ยังคลุมเครืออยู่ก็คือ “บิ๊กวิน-พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม.” เพราะจนถึงขณะนี้ พลตำรวจเอก อัศวิน ที่เข้ามาเป็น ผู้ว่าฯเมืองหลวง ด้วยคำสั่งมาตรา 44 ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ตอนสมัยเป็นหัวหน้าคสช.ควบนายกฯ
นับถึงตอนนี้ บิ๊กวิน เป็นผู้ว่าฯกทม.มาร่วมห้าปีกว่าแล้ว หลังเข้ามานั่งเป็นเบอร์หนึ่งที่ศาลาว่าการกทม.เมื่อปี 2559 แต่ก่อนหน้านั้น ก็เป็นรองผู้ว่าฯกทม. ยุค ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร ตั้งแต่หลังเลือกตั้งปี 2556
เรียกได้ว่า พล.ต.อ.อัศวิน บริหารงานกทม.มาร่วมๆ จะสิบปี จนสร้างเครือข่ายในกทม.ไว้พอสมควร และด้วยชื่อชั้น ของพล.ต.อ.อัศวิน แม้จะเข้ามาเป็นผู้ว่าฯกทม.ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ขณะเดียวกัน ก็มีเสียงวิจารณ์จากคนกทม.โดยเฉพาะพวกโหวตเตอร์รุ่นใหม่ว่า “อายุมาก-โบราณ-ไม่ทันสมัย” และที่สำคัญ “อยู่มานานเกินไปแล้ว” แต่หาก พล.ต.อ.อัศวิน ที่อยู่มานาน และมีคนกทม.บางส่วน ก็มองว่ามีผลงานระดับหนึ่งเพียงแต่ประชาสัมพันธ์ไม่เก่ง แต่หากบิ๊กวินมาลงเลือกตั้งครั้งนี้ด้วย ก็ถือว่าจะทำให้การแข่งขันเข้มข้นขึ้นแน่นอน
เห็นได้จากผลสำรวจนิด้าโพลล่าสุดเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาที่คะแนนมาเป็นอันดับสาม รองจากชัชชาติและประชาชนยังไม่ตัดสินใจเลือก แม้ผลสำรวจพบว่าคะแนนนิยมจะตามหลัง ชัชชาติ พอสมควรก็ตาม
แต่ทว่าที่ผ่านมา พล.ต.อ.อัศวิน ก็ยังไม่ยอมแสดงความชัดเจนเสียทีว่าจะเอาอย่างไร แม้คนส่วนใหญ่รวมถึงข้าราชการในศาลากทม.จะเชื่อว่า พล.ต.อ.อัศวิน ลงสมัครแน่นอน เห็นได้จากการเร่งโปรโมตผลงาน ของพล.ต.อ.อัศวิน อย่างหนักในช่วงหลังผ่านช่องทางต่างๆ
รวมถึงการจัดตั้ง “กลุ่มรักษ์กรุงเทพ” ที่จะส่งคนลงสมัครส.ก.ทั้ง 50 เขต คนในกลุ่มก็ประกาศชัดเจนว่าสนับสนุนพล.ต.อ.อัศวิน อีกทั้ง สายสัมพันธ์ระหว่าง บิ๊กวิน กับบิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่แน่นแฟ้นต่อกันมาก ทำให้มีการมองกันว่า คนในฝ่ายรัฐบาล อาจพร้อมสนับสนุน พล.ต.อ.อัศวิน อยู่ห่างๆ เพื่อให้สู้กับชัชชาติ
จากปัจจัยทั้งหมด ทำให้คนส่วนใหญ่จึงเชื่อว่า เปอร์เซนต์ที่ พล.ต.อ.อัศวิน จะลงสมัครชิงผู้ว่าฯกทม. มีมากกว่าจะไม่ลง
กระนั้น ความเชื่อนี้ จะพลิกในนาทีสุดท้าย หรือไม่ มันก็อยู่ที่ บิ๊กวินแล้วว่า จะลุยลงเลือกตั้ง เพื่อรอลุ้นได้กลับมาเป็นผู้ว่าฯกทม.อีกสี่ปี หรือจะต้องเก็บของออกจากห้องทำงาน ที่ศาลาว่าการกทม.หลังเลือกตั้งปลายเดือนพ.ค.จบลงทันที
ซึ่งความไม่ชัดเจนดังกล่าว ของพล.ต.อ.อัศวิน ว่าไปก็เหมือนกับ “เสี่ยแป๊ะ-สนธยา คุณปลื้ม นายกพัทยา” ที่ก็เข้ามาเป็นนายกพัทยา ด้วยมาตรา 44 ของบิ๊กตู่เช่นกัน
เพราะก็มีข่าวร่ำลือกันมาจากหาดพัทยา ว่า สนธยา พี่ใหญ่ของ “บ้านใหญ่ตระกูล คุณปลื้ม-ชลบุรี” ที่ผ่านการเป็นรัฐมนตรีมาแล้วหลายสมัยเช่น รมว.วัฒนธรรม-รมว.วิทยาศาสตร์ ฯ -รมว.ท่องเที่ยวฯ-รมช.มหาดไทย รวมถึงอดีตส.ส.ชลบุรีหลายสมัย น่าจะถึงจุดอิ่มตัว ในการเป็นนายกเมืองพัทยาแล้ว คงอยากกลับไปโลดแล่นในสนามใหญ่ การเมืองระดับชาติมากกว่าแค่เป็นนายกเมืองพัทยา
ยิ่งระยะหลัง กลุ่มบ้านใหญ่ คุณปลื้ม มีปัญหากับกลุ่มเสี่ยเฮ้ง สุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน แกนนำพลังประชารัฐ จนมีข่าว กลุ่มคุณปลื้ม จะย้ายออกจากพลังประชารัฐ เลยทำให้ สนธยา ในฐานะพี่ใหญ่ ตระกูลคุณปลื้ม อาจต้องกลับเข้าสนามการเมืองระดับชาติได้แล้ว
เพราะการเลือกตั้งใหญ่ เร็วสุดอาจเกิดขึ้นกลางปีนี้ ช้าสุดก็มีนาคมปีหน้า เลยมีข่าว สนธยา อาจส่งคนอื่นลงสมัครชิงนายกพัทยาแทน ที่เดิมมีข่าวว่าจะเป็น “คนในเครือข่ายตระกูล-คุณปลื้ม” แต่ข่าวล่าสุดบอกว่าอาจเป็น ปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ อดีตส.ส.ชลบุรี สามสมัย ลูกทีมพรรคพลังชลเดิมของสนธยา สายตรงกลุ่มบ้านใหญ่คุณปลื้ม ที่สอบตกตอนเลือกตั้งปี 2562 ที่จะลงในนาม “ทีมเรารักษ์พัทยา”
กระแสข่าวดังกล่าว สนธยา ก็ไม่ได้ปฏิเสธแต่อย่างใด เพียงแต่บอกว่า ขออุบไว้ก่อน และอยากให้รอเปิดตัวอย่างเป็นทางการต่อไป โดยคู่แข่งหลัก ของ กลุ่มบ้านใหญ่-คุณปลื้ม ทั้งการชิงนายกเมืองพัทยาและสมาชิกสภาเมืองพัทยา คงไม่พ้นคนของ “คณะก้าวหน้า” ที่มีธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นแกนนำ รวมถึง “นิรันดร์ วัฒนศาสตร์สาธร อดีตนายกเมืองพัทยา” ที่เคยอยู่กับ บ้านใหญ่ตระกูลคุณปลื้ม มาก่อน แต่ตอนหลังเกิดแตกคอ เลยแยกตัวออกไป
โดย นิรันดร์ ได้เปิดตัวจะลงสมัครนายกเมืองพัทยา และส่งคนลงสมัครชิงสมาชิกสภาเมืองพัทยา โดยใช้ชื่อ ทีมพัทยาร่วมใจ แต่ดูแล้ว คู่แข่งที่ กลุ่มสนธยา หนักใจมากกว่า คงเป็น ทีมคณะก้าวหน้าของ ธนาธร มากกว่า
ความชัดเจนว่าสุดท้าย บิ๊กวิน จะลงสมัครผู้ว่าฯกทม.หรือไม่ และสนธยา จะลงสมัครนายกเมืองพัทยาเองหรือจะดันคนอื่นลง แล้วเตรียมคัมแบ็คการเมืองระดับชาติ ภายในไม่เกินเดือนนี้ ได้รู้กัน