รมว.ยุติธรรม เร่งกรมคุ้มครองสิทธิฯ เบิกจ่ายเงินค่าตอบแทนเหยื่อคดีอาญา -เยียวยาไปแล้ว 36.72%

รมว.ยุติธรรม เร่งกรมคุ้มครองสิทธิฯ เบิกจ่ายเงินค่าตอบแทนเหยื่อคดีอาญา หลัง สตช.ช่วยส่งรายชื่อในกทม.ให้ 2,233 ราย เผยยอดเยียวยาไปแล้ว 36.72% ชี้ต้องลงพื้นที่ทำงานเชิงรุกประชาชนไม่ควรต้องยื่นเรื่องเอง ย้ำงบช่วยเหลือ 400 ล้านบาท ต้องใช้ให้หมดห้ามเหลือ

ที่กระทรวงยุติธรรม มีการประชุมผู้บริหารกระทรวงยุติธรรม โดยมี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วย ว่าที่ ร.ต.ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ เลขา รมว.ยุติธรรม น.ส.ณัฐธ์ภัสส์ ยงใจยุทธ ผู้ช่วยรมว.ยุติธรรม ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม อธิบดีกรมต่างๆ และผู้บริหาร เข้าร่วมการประชุม โดยที่ประชุมได้มีการรายงานผลการเบิกจ่ายเงินผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญาในปีงบประมาณ 2565 ถึงขณะนี้เบิกจ่ายไปแล้ว 2,798 ราย เป็นเงิน 146,870,985.59 บาท คิดเป็นร้อยละ 36.72 จากงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรทั้งปีที่ 400 ล้านบาท โดยพื้นที่ กทม.ยื่นคำร้อง 649 ราย คิดเป็น 39.19%  ส่วนต่างจังหวัดอยู่ที่ 3,805 คน คิดเป็น 77.50 % กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพตั้งเป้าหมายในการช่วยเหลือ 7,820 คน

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ภายหลังจากที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ได้จัดส่งข้อมูลรายชื่อผู้เสียหายย้อนหลัง 1 ปี ในเขตพื้นที่ กทม. ที่เข้าหลักเกณฑ์รับเงินค่าตอบแทนผู้เสียหายในคดีอาญา ให้กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ พิจารณา 2,233 ราย ได้ดำเนินแล้ว 445 ราย ส่วนที่เหลือยังไม่เข้ามายื่นคำขอ ดังนั้นเราต้องส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เข้าพบรองผู้กำกับการสอบสวน 88 สถานี ในพื้นที่ กทม. เพื่อชี้แจงและทำความเข้าใจถึงวัตถุประสงค์ของการแจ้งสิทธิและการรับคำขอตาม พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา สำรวจและคัดลอกข้อมูลการแจ้งสิทธิผู้เสียหายฯ เพื่อนำข้อมูลดังกล่าวมาช่วยประสานงานให้ผู้เสียหายมายื่นคำขอโดยตรงกับทางกรมคุ้มครองสิทธิฯ ช่วยกันทำให้การยื่นคำขอมีสถิติสูงขึ้นและลดการร้องเรียนพนักงานสอบสวน

“การทำงานของเราต้องทำเชิงรุกเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อให้เกิดความสะดวกรวดเร็วตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งการลงพื้นที่เชิงรุกต้องประสานขอเบอร์โทรศัพท์ เพื่อติดต่อกับธุรการงานสอบสวน ในการประสานความร่วมมือและขอข้อมูลผู้เสียหายในพื้นที่ หลังจากลงพื้นที่เข้าพบรองผู้กำกับการสอบสวนของแต่ละสถานี ทำให้การยื่นคำขอ ผมได้เน้นย้ำให้กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และสำนักงานยุติธรรมจังหวัดทุกแห่ง ปฏิบัติงานเชิงรุก และประสานความร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ติดตามผู้เสียหายหรือเหยื่อให้มายื่นคำขอให้ได้มากที่สุด งบประมาณที่เรามีในการช่วยเหลือประชาชน 400 ล้านบาทต้องใช้ให้หมดห้ามเหลือ เราต้องนำบริการของ กระทรวงยุติธรรม ไปถึงมือประชาชน โดยไม่ต้องรอให้ประชาชนมายื่นคำขอ เราพร้อมช่วยเหลือประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อให้เข้าถึงความยุติธรรมด้วยความสะดวก รวดเร็ว และไม่เสียค่าใช้จ่ายด้วยหัวใจแห่งการบริการ” นายสมศักดิ์ กล่าว

แสดงความเห็น