การประชุมวุฒิสภา ที่มีนายศุภชัย สมเจริญ รองประธานวุฒิสภา คนที่สอง ทำหน้าที่ประธานที่ประชุม ได้พิจารณาความคืบหน้า ในการติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ และการจัดทำและดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 270 ด้านเศรษฐกิจ ประเด็นโครงสร้างพื้นฐานระบบโลจิสติกส์ และดิจิทัล , ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมีตัวแทนส.ว. ที่เป็นกมธ.คมนาคม วุฒิสภา อภิปราย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประเด็นที่ส.ว.อภิปรายนั้นได้เร่งรัดให้รัฐบาลออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หลายฉบับ อาทิ ร่างพ.ร.บ.ขนส่งทางราง, ร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมพาณิชย์นาวี , ร่างพ.ร.บ.เปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ, ร่างพ.ร.บ.กำจัดซากอิเล็กทรอนิกส์, ร่างปรับปรุง พ.ร.บ.ส่งเสริมรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 เพื่อให้ครอบคลุมกับอากาศ ขยะ, ร่างประมวลกฎหมายสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
โดย พล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ ส.ว. ฐานะประธานกมธ.คมนาคม วุฒิสภา อภิปรายถึงความล่าช้าของการจัดหาผู้เดินรถไฟฟ้าสายสีส้ม ส่วนตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ที่พบว่าใช้เวลา 2 ปี ไม่สามารถดำเนินการจัดประมูลเพื่อหาผู้เดินรถได้ เนื่องจากมีความขัดแย้งและการยกเลิกทีโออาร์ ทั้งนี้หากไม่สามารถหาผู้เดินรถได้ทันเวลา จะมีผลกระทบต่อประชาชนที่ใช้บริการ และทำให้โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ถึง มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่ดำเนินการแล้วเสร็จก่อนไม่มีรถวิ่งให้บริการ ทั้งนี้ได้เรียกร้องให้รัฐบาลเร่งผลักดันร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ขนส่งทางราง พ.ศ… เพื่อให้อำนาจกรมขนส่งทางราง ดำเนินการแก้ไขปัญหาจราจรในพื้นที่
“มีเสียงคัดค้านจากสหภาพการรถไฟฟ้าและองค์การขนส่งรถไฟฟ้าแห่งประเทศไทย เพราะต้องการให้กรมขนส่งทางรางมีหน้าที่กำกับดูแลอย่างเดียวหรือไม่ อีกทั้งหน่วยงานต่างๆ มีหน้าที่ของตัวเอง ดังนั้นเมื่อออกกฎหมายที่ทับซ้อนอำนาจหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถือเป็นความละเอียดอ่อนที่ต้องรับฟังดังนั้นความชัดเจนเรื่องดังกล่าวต้องเร่งพิจารณาแก้ไข” พล.อ.ยอดยุทธ อภิปราย
ขณะที่ พล.ร.อ.ชุมนุม อาจวงษ์ ส.ว.ฐานะกมธ.คมนาคม อภิปรายต่อระบบโลจิสติกส์ ว่า ขอให้กระทรวงคมนาคม รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแจ้งไปยังรัฐบาลให้เร่งรัดนำร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมพาณิชย์นาวี พ.ศ… เข้าสู่สภา เพื่อให้ประกาศใช้ได้ทันอายุของรัฐบาลปัจจุบัน เนื่องจากร่างกฎหมายดังกล่าวจะทำให้โครงสร้างและกลไกกระบวนการพัฒนาขนส่งทางทะเล สามารถแข่งขันและขยายตัว รวมถึงสร้างรายได้ให้ประเทศได้ ทั้งนี้ร่างกฎหมายดังกล่าวดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2560 โดยทางกมธ.ฯ ได้ติดตาม เร่งรัดเพื่อให้ประกาศใช้ให้ได้ในปี 2565
“เหตุผลที่ร่างกฎหมายดังกล่าวล่าช้า เพราะเปลี่ยนแปลงเจ้าหน้าที่บริหารหน่วยงานทำให้การพิจารณาวนเวียน และต้องเริ่มใหม่ ทั้งที่บริบทของการเปลี่ยนแปลงผู้นำองค์กรต้องสนับสนุนชัดเจนไม่นำปัญหาจากการปฏิบัติงานเป็นอุปสรรคในการปฏิรูป และในช่วงสถานการณ์โควิด และราคาน้ำมันสูงขึ้นหากไม่เร่งรัดออกกฎหมายภายในปี 2565 จะทำให้ไทยเสียโอกาสจากการใช้ประโยชน์จากการลงทุนทางงบประมาณจำนวนมหาศาลของโครงสร้างพื้นฐานและระบบอำนวยความสะดวก ไม่สามารถฟื้นฟูประเทศหลังโควิด-19 และไม่สามารถเพิ่มขีดความสามารถแข่งขัน จะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงทางเศรฐกิจ” พล.ร.อ.ชุมนุม อภิปราย
ผู้สื่อข่าวรายงานงานในการพิจารณาวาระดังกล่าว เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจงว่า ร่างพ.ร.บ.ชนส่งทางราง ทราบว่า คณะะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติแล้ว เมื่อ 17 กุมภาพันธ์ และส่งให้คณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) แล้วโดยวิปรัฐบาลจะประชุมวันนี้ (21 กุมภาพันธ์) ดังนั้นคาดว่าจะเสนอให้รัฐสภาภายในสมัยประชุมนี้
ขณะที่ร่างกฎหมายว่าด้วยสิ่งแวดล้อม เช่น ร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา, ร่างพ.ร.บ.การจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ… อยู่ระหว่างการรับฟังความเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย และคณะกรมการพัฒนากฎหมายกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, ร่างพ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ… อยู่ระหว่างการพิจารณาของหน่วยงาน, ร่างพ.ร.บ.ความหลากหลายทางชีวภาพ พ.ศ… เตรียมเสนอให้ ครม. พิจารณา วันที่ 22 กุมภาพันธ์