รมว.ยุติธรรม เป็นประธานสักขีพยานเซ็น MOU 2 ฉบับ แก้ไขบำบัดฟื้นฟูยาเสพติดเด็ก-ช่วยเหลือฝึกอาชีพ

รมว.ยุติธรรม เป็นประธานสักขีพยานเซ็น MOU 2 ฉบับ กรมพินิจฯ-กรมคุมประพฤติ-ศาลเยาวชน-นิติวิทยาศาสตร์ แก้ไขบำบัดฟื้นฟูยาเสพติดเด็ก-ติดตามช่วยเหลือฝึกอาชีพในสถานประกอบการ หวังช่วยกลับตัวเป็นคนดีมีงานทำอยู่ในสังคมได้

ที่กระทรวงยุติธรรม นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานสักขีพยาน พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วย การตรวจพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์เพื่อแก้ไขบำบัดพื้นฟูเด็กและเยาวชน ระหว่างศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กรมคุมประพฤติและสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และโครงการติดตามแนะนำ ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนเข้าฝึกประสบการณ์ทักษะอาชีพในสถานประกอบการ ระหว่างศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง กับ กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน โดยมี ว่าที่ร.ต.ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ เลขานุการ รมว.ยุติธรรม น.ส.ณัฐธ์ภัสส์ ยงใจยุทธ ผู้ช่วยรมว.ยุติธรรม นายธนวัชร นิติกาญจนา ที่ปรึกษา รมว.ยุติธรรม นายวัลลภ นาคบัว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม นายประกอบ ลีนะเปสนันท์ อธิบดีผู้พิพากษาภาค 7 ช่วยทำงานชั่วคราวในตำแหน่งอธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน นายวิตถวัลย์ สุนทรขจิต อธิบดีกรมคุมประพฤติ พ.ต.อ.ทรงศักดิ์ รักศักดิ์สกุล ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และคณะผู้บริหารร่วมงาน

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ทั้ง 2 ข้อตกลงมีความเกี่ยวข้องและยึดโยงถึงสภาพปัญหายาเสพติดในปัจจุบัน เป็นปัญหาที่รัฐบาลให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยถือเป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วน กระบวนการยุติธรรมแต่เดิมมุ่งเน้นการลงโทษผู้กระทำความผิดเป็นหลัก แต่ปัจจุบันเราเน้นการช่วยเหลือ บำบัดรักษา แก้ไขปัญหา ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ผิดพลาด เพื่อให้สามารถเข้าถึงสังคมได้ในวงกว้าง ที่ผ่านมานั้น กระทรวงยุติธรรมได้เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนารูปแบบการติดตามเด็กและเยาวชนที่ผ่านกระบวนการบำบัดยาเสพติดเพื่อป้องกันการกลับไปเสพช้ำ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และกรมพินิจฯ จึงได้ร่วมกันวิจัยและพัฒนาระบบป้องกันการเสพติดซ้ำของเด็กและเยาวชนโดยการตรวจสารเสพติดในเส้นผม ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2561 และเสร็จเมื่อเดือน ม.ค. 2563 ข้อสรุปจากงานวิจัยดังกล่าว ชี้ให้เห็นข้อปรับปรุงที่จะช่วยในการพัฒนากลไกการติดตามเด็กและเยาวชน ภายหลังปล่อยตัวของกรมพินิจฯ ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง หรือหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อไม่ให้เด็กกลับเข้าสู่การกระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติด

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ในส่วนโครงการติดตาม แนะนำช่วยเหลือเด็กและเยาวชนเข้าฝึกประสบการณ์ทักษะอาชีพในสถานประกอบการ ระหว่างศาลเยาวชนฯ กับกรมพินิจฯ มุ่งหวังให้เด็กและเยาวชน มีโอกาสประกอบอาชีพตามความถนัดหรือความสนใจของตน เป็นการเตรียมความพร้อมด้านทักษะการประกอบอาชีพที่เหมาะสม สร้างการติดตาม และการช่วยเหลือในระหว่างที่เด็กและเยาวชนฝึกประสบการณ์ในสถานประกอบการ แต่ทั้งนี้ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการที่มีต่อเด็กและเยาวชนก็ถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เกิดการให้โอกาสที่ยั่งยืน และลดการตีตราจากสังคม เราจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างความเชื่อมั่นและร่วมกันส่งเสริมให้เกิดระบบการช่วยเหลือและติดตามกับเด็กและเยาวชนที่เข้าฝึกประสบการณ์ในสถานประกอบการของตน

นายประกอบ กล่าวว่า ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง เป็นหน่วยงานอำนวยความยุติธรรม มุ่งเน้นการฝึกอบรม สั่งสอนและสงเคราะห์เด็กและเยาวชนให้กลับตนเป็นคนดียิ่งกว่าการลงโทษเพื่อเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในวันข้างหน้า เพื่อให้กระบวนการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ การลงนามบันทึกข้อตกลงในวันนี้ เพื่อสร้างโอกาสให้เด็กและเยาวชนมีอาชีพตามความถนัด รวมทั้งบำบัดฟื้นฟูเด็กและเยาวชน เพื่อให้ปฏิบัติตนอยู่ในกรอบ ไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด ปรับเปลี่ยนพฤตินิสัยให้สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างปกติสุข นับเป็นข้อตกลงความร่วมมือที่ดี 

แสดงความเห็น