“วีริศ” ลงพื้นที่นิคมฯสระแก้ว ถกดึงนักลงทุนในพื้นที่ บูรณาการความร่วมมือ พัฒนาเศรษฐกิจ-อุตสาหกรรม

“วีริศ” ลงพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมสระแก้ว หารือผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว นายด่านอรัญประเทศ เพื่อดึงนักลงทุนในพื้นที่ พร้อมหาแนวทางการบูรณาการความร่วมมือ ให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมร่วมกันอย่างยั่งยืน

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยถึงการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของนิคมอุตสาหกรรมสระแก้ว อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา (20-21 ม.ค.65) ว่า ปัจจุบันนิคมอุตสาหกรรมสระแก้ว อยู่ระหว่างการขอปรับเปลี่ยนการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA : Environmental Impact Assessment) โดยเพิ่มหัวข้อประเภทโรงงานอุตสาหกรรมที่มีระบบการระบายออกทางปล่อง (Stack) เข้ามาประกอบกิจการในนิคมอุตสาหกรรมได้ ซึ่งอุตสาหกรรมในลักษณะเช่นนี้ ได้แก่ อุตสาหกรรมแปรรูป ผลผลิตทางการเกษตร เป็นต้น ประกอบกับเป็นการสนับสนุนให้เกิดระบบเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (BCG Economy) ซึ่งสามารถสร้างโอกาสทางการแข่งขันให้กับนักลงทุน และเพิ่มประสิทธิภาพให้กับผู้ผลิตเดิม เช่น เกษตรกร และชุมชน ให้เป็นผู้ประกอบการที่สามารถผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงได้

นอกจากนี้ กนอ.ยังมีโอกาสได้เข้าพบผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว ผู้แทนจากหน่วยงานราชการต่างๆ ผู้แทนภาคเอกชน และท้องถิ่น เพื่อหารือถึงแนวทางการบูรณาการความร่วมมือ ให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมร่วมกันอย่างยั่งยืน ตลอดจนสร้างความสัมพันธ์ระหว่าง กนอ.กับหน่วยงานต่างๆ ในจังหวัดสระแก้ว รวมถึงกลุ่มอุตสาหกรรมที่นักลงทุนในพื้นที่ให้ความสนใจ และแนวทางการประชาสัมพันธ์การค้าการลงทุนในพื้นที่อีกด้วย

สำหรับนิคมอุตสาหกรรมสระแก้ว มีพื้นที่ในโครงการ 660.5673 ไร่ ประกอบด้วย พื้นที่ระบบสาธารณูปโภค และสิ่งอำนวยความสะดวก 227.82 ไร่ พื้นที่ที่ก่อเกิดรายได้ (พื้นที่ให้เช่า)  432.74 ไร่ ทั้งนี้ พื้นที่ให้เช่ามีการจัดแบ่งพื้นที่ออกเป็น เขตประกอบการทั่วไป 242 ไร่ เขตประกอบการโลจิสติกส์ 89 ไร่ เขตประกอบการเสรี 60 ไร่ และเขตพาณิชยกรรม 41 ไร่ ปัจจุบันมีผู้ทำสัญญาเช่าที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมสระแก้ว จำนวน 6 ราย รวมพื้นที่ 29.36 ไร่ แบ่งเป็น การประกอบกิจการในเขตประกอบการเสรี จำนวน 5 ราย ประกอบกิจการนำเข้าส่งออกเสื้อผ้ามือสอง และประกอบกิจการเขตอุตสาหกรรมทั่วไปจำนวน 1 ราย ประกอบกิจการผลิตไส้กรองสระว่ายนํ้า ซึ่งอยู่ระหว่างการยื่นขออนุญาตก่อสร้าง โดยเหลือพื้นที่ให้เช่า 263.36 ไร่

“กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายของนิคมฯ สระแก้ว ได้แก่ โลจิสติกส์และศูนย์กระจายสินค้า สินค้าเกษตรแปรรูป สิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม พลาสติก อัญมณีและเครื่องประดับ ยานยนต์ เครื่องจักรและชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ กิจการบริการอื่นๆ ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงกิจการเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว ซึ่งเราได้ติดตามผลการดำเนินงาน ปัญหาและอุปสรรคต่างๆ อย่างใกล้ชิด รวมถึงจัดให้มีมาตรการส่งเสริมการลงทุนในนิคมฯ สระแก้ว เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในพื้นที่เพิ่มเติมในอนาคต” นายวีริศ กล่าว

แสดงความเห็น