Home News การเมือง วิลาศ จ่อร้อง...

วิลาศ จ่อร้อง ป.ป.ช. 30 เรื่อง งานพิรุธสร้างสภาฯ ชี้ส่วนของภูมิสถาปัตย์ พบแก้แบบก่อนอนุมัติ

วิลาศ จ่อร้อง ป.ป.ช. 30 เรื่อง งานพิรุธสร้างสภาฯ ชี้ส่วนของภูมิสถาปัตย์ พบแก้ไขแบบก่อนอนุมัติ แฉมีอีก 184 รายการ เตรียมลงนามแก้ไขเปลี่ยนแปลงแบบ

นายวิลาศ จันทรพิทักษ์ อดีต ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ แถลงที่รัฐสภา ต่อกรณีที่ได้ยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และเตรียมยื่นให้ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ให้ตรวจสอบโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ประเด็นไม้ปูพื้น และการทาสีห้องทำงานของสมาชิกรัฐสภา ทั้งนี้ตามที่ ว่าที่เรือตรี ยุทธนา สำเภาเงิน ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย ในฐานะโฆษกประจำสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร  ระบุว่าได้มีการตรวจสอบประเภทของไม้ที่นำมาก่อสร้าง และเป็นไม้ตะเคียนทองตามแบบที่กำหนด แต่ตนมีข้อมูลซึ่งผ่านการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้จังหวัด และช่างไม้ พบข้อสงสัยว่าไม่ใช่ไม้ตะเคียนทอง หรือหากจะเป็นไม้ตะเคียนทอง อาจไม่ใช่ทั้งหมด ผสม ไม้ตะเคียนหิน ไม้ตะเคียนหย่อง เพราะประเทศไทยปิดป่าตั้งแต่ปี 2532 ไม้ตะเคียนทอง อาจเหลือไม่มากและอาจจะนำเข้ามาจากต่างประเทศ อีกทั้งพบว่าความยาวของไม้ที่ใช้นั้นไม่ตรงตามแบบที่กำหนดให้มีความยาว 3 เมตร แม้มีข้อยกเว้นให้ใช้ความยาวน้อยกว่าเมื่อมีจำเป็น แต่ต้องไม่ต่ำกว่า 2 เมตร ทั้งนี้จากการตรวจสอบว่ามีความยาว 1 – 1.5 เมตร

นายวิลาศ แถลงถึงค่าความชื้อของไม้ที่สัญญากำหนดไม่เกิน 16% หากเกินกว่านี้ไม้จะบวมและทำให้มีร่องห่าง เกินกว่า 2 มิลลิเมตร โดยปัจจุบันพบว่าร่องไม้ห่างถึง 8 มิลลิเมตร และมีความแก้ไขแบบ เพื่อขยายร่องห่างของไม้  โดยใช้วิธีให้ผู้ออกแบบแสดงความเห็น ว่าการก่อสร้างที่ไม่ตรงตามแบบ  คือ 8 มิลลิเมตรยอมรับได้ อีกทั้งพบการจ่ายเงินงวดแล้วด้วย  ทั้งนี้ตนขอตั้งข้อสังเกตด้วยว่า การแก้ไขเปลี่ยนแปลงแบบก่อสร้างนั้นสามารถทำได้ เพราะสัญญาข้อ 19 ระบุไว้ แต่ที่ผ่านมาพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงแบบ จากผู้รับเหมา ก่อนที่จะขออนุญาตหรือเสนอแบบใหม่ให้ผู้ว่าจ้างอนุมัติ

นายวิลาศ กล่าวด้วยว่า สำหรับประเด็นการตรวจสอบกรณีงานก่อสร้างนั้นพบว่างานก่อสร้างทั้งโครงการมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงแบบแล้วทั้งสิ้น 209 รายการ และเตรียมลงนามเพื่อให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงแบบอีก 184 รายการ โดยคาดว่าจะเป็นเรื่องใหญ่เพราะเลขาธิการสภาฯ ต้องลงนามคู่กับผู้รับเหมาก่อสร้าง นอกจากนั้นแล้วในการตรวจสอบจากเรื่องที่ข้าราชการร้องเรียน ยังพบสิ่งที่ไม่ตรงแบบอีกหลายรายการ เช่นในรายการของภูมิสถาปัตย์ เสาไฟฟ้าส่องสว่างภายในพื้นที่ พบว่ามีการทำผิดแบบประมาณ 97 ต้น โดยสัญญาระบุว่าต้องเป็นเหล็กล่อแท่งเดียว แต่พบว่าการก่อสร้างนำแผ่นเหล็กม้วนและเชื่อมต่อกัน , หลอดไฟฟ้าส่องสว่าง 3.4 หมื่นหลอด พบว่านำยี่ห้อหลอดไฟที่ไม่ระบุในแบบมาติดตั้ง และเป็นรูปแบบเดียวกันทั้งหมดทั้งที่ตามสัญญาต้องมีรูปแบบของหลอดไฟ 46 แบบ , ดินที่นำมาถมเพื่อสร้างถนนโดยรอบอาคารรัฐสภา ตามสัญญาระบุว่าต้องไม่มีเศษซากอื่นๆ ปะปน และต้องผ่านการร่อน แต่สิ่งที่พบคือมีเศษซากวัสดุอื่นปะปน เช่น ยางรถยนต์ และไม่ร่อน ซึ่งส่อจะทำให้ถนนทรุดได้ในอนาคต เป็นต้น

นายวิลาศ แถลงด้วยว่าวันนี้ (13 ธ.ค.) ตนได้ทำหนังสือถึงนางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาฯ ต่อกรณีที่พบว่ามีผู้รับเหมาช่วงในโครงการ ทั้งที่ในสัญญาห้ามมีผู้รับเหมาช่วง  และ กรณีที่พบว่ากระจกตั้งแต่ชั้น 4 ของรัฐสภา ชนิดใสพิเศษ มีกระจกแตกรวม 24 แผ่น ทั้งนี้กระจกใสพิเศษนั้นต้องสั่งจากต่างประเทศ เพราะเมืองไทยไม่มีจำหน่าย  ดังนั้นขอให้เปิดเผยรายละเอียดการสั่งนำเข้า และ มี มาตรฐาน มอก. ด้วยหรือไม่ อย่างไรก็ดีขณะนี้ตนทำหนังสือเพื่อแจ้งทราบไปยังนางพรเพชร แล้ว 16 ฉบับและคาดว่าจะมีมากถึง 20 ฉบับเพื่อแจ้งการตรวจสอบที่ผิดปกติ นอกจากนั้นในการส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบงานก่อสร้างรัฐสภา จะมีเรื่องร้องถึง 30 เรื่อง ทั้งนี้ในการตรวจสอบดังกล่าวตนตอบไม่ได้ว่าคนที่รับผิดชอบของสภาฯ เอื้อให้ผู้รับเหมาหรือไม่

Exit mobile version