สภาฯ ไม่รับหลักการร่างกฎหมายภาคประชาชน

ผู้สื่อข่าวรายงานถึงการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ว่า ที่ประชุม ได้พิจารณาเรื่องด่วน ซึ่งเป็นร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ที่ คณะรัฐมนตรี (ครม.) เสนอ จำนวน 2 ฉบับ คือ ร่าง พ.ร.บ.สถาปนิก (ฉบับที่…) พ.ศ…. และ ร่าง พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่…) พ.ศ… โดยที่ประชุมได้ลงมติรับหลักการเสียงเอกฉันท์ ทั้ง 2 ฉบับ

โดย ร่างพ.ร.บ.สถาปนิก (ฉบับที่..) พ.ศ… ที่ประชุมออกเสียงรับหลักการ 332 เสียง  และร่าง พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่…) พ.ศ… รับหลักการ 312 เสียง ทั้งนี้ที่ประชุม ได้ตั้งกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ ขึ้นเพื่อพิจารณาร่างกฎหมายแต่ละฉบับด้วย

จากนั้นได้พิจารณา ร่าง พ.ร.บ. สหกรณ์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….  ซึ่ง พล.ท.วีระ วงศ์สรรค์ กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 11,808 คนเป็นผู้เสนอ โดยนายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาฯ คนที่สอง ซึ่งทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม แจ้งว่า ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ในการประชุมคราวที่แล้ว ผู้เสนอได้นำเสนอและมีผู้อภิปรายครบถ้วนแล้ว แต่ยังไม่ได้ลงมติ จึงได้เลื่อนการลงมติในการประชุมวันที่ 8 ธ.ค. โดยผลการออกเสียง พบว่าเสียงข้างมาก 235 เสียงไม่รับหลักการ ต่อ 86 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง ถือเป็นร่างกฎหมายของภาคประชาชนฉบับแรกที่สภาฯชุดที่ 25 ปีที่3 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง ลงมติไม่รับหลักการ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าก่อนการพิจารณาเรื่องด่วนดังกล่าว นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย ได้สอบถามถึงความชัดเจนต่อการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ. ยกเลิกประกาศและคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติและคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย พ.ศ. ….  ที่ภาคประชาชนเข้าชื่อเสนอ​ ซึ่งเป็นวาระในเรื่องค้างพิจารณาลำดับที่ 4 พร้อมตั้งข้อสังเกตว่ารัฐบาลเสนอร่างกฎหมายให้สภาฯ พิจารณาในวาระเรื่องด่วน ทำให้ร่างกฎหมายประชาชนมีความไม่แน่นอนว่าจะได้รับพิจารณาเมื่อใด

ทำให้นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ฐานะประธานที่ประชุมขณะนั้น กล่าวว่า ตนเห็นด้วย แต่กรณีการพิจารณาร่างกฎหมายใดนั้นต้องเป็นไปตามระเบียบวาระ อีกทั้งขึ้นอยู่กับการอภิปรายของส.ส. ดังนั้นขอให้ผู้ควบคุมเสียงทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านหารือกันในเรื่องดังกล่าวให้มีความชัดเจนอีกครั้ง

แสดงความเห็น