เร่งเครื่องแก้กม.ลูก ประตูยุบสภาฯ เปิดกลางปี65!

คาดหมายกันว่าช่วงไม่เกินกลางเดือนธันวาคมนี้ ทางสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) -พรรคร่วมรัฐบาล-พรรคร่วมฝ่ายค้าน

แต่ละฝ่าย จะเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 และร่างพ.ร.บ.พรรคการเมืองพ.ศ. 2560 ให้ที่ประชุมร่วมรัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบในวาระแรก เพื่อนำไปสู่การตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญร่วมกันของรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลูกทั้งสองฉบับ ฯ และเสร็จจากชั้นกรรมาธิการ ก็จะมีการส่งร่างที่พิจารณาแล้วเสร็จ กลับมาให้ที่ประชุมร่วมรัฐสภาโหวตในวาระสอง พิจารณาเรียงรายมาตราและตามด้วยการโหวตในวาระสาม เพื่อลงมติให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบต่อไป

ภายใต้กรอบเวลาคือรัฐสภามีเวลาในการพิจารณาตั้งแต่วาระแรกจนถึงวาระสามคือไม่เกิน 180 วันหรือไม่เกิน 6 เดือนนับแต่รัฐสภาเริ่มพิจารณาร่างฯ ทั้งสองฉบับในวาระแรก

ด้วยจำนวนเสียงสนับสนุนจากฝ่ายส.ส.รัฐบาล-ฝ่ายค้านทั้ง เพื่อไทย-พลังประชารัฐ-ประชาธิปัตย์ บวกกับฝ่าย “สมาชิกวุฒิสภา-ส.ว.” เอง ก็ไม่ได้มีท่าทีคัดค้านไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขกฎหมายลูกทั้งสองฉบับอยู่แล้ว เพราะเป็นความจำเป็นที่ต้องมีการแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2564 ที่มีการโปรดเกล้าฯและประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อช่วงค่ำวันอาทิตย์ที่ 21 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

ดังนั้น ยังไง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายทั้งสองฉบับ จะผ่านฉลุย ไม่มีโดนคว่ำแน่นอน

ขณะเดียวกัน ในเส้นทางการแก้ไขกฎหมายลูกทั้งสองฉบับ ที่รัฐสภามีระยะเวลาในการพิจารณาประมาณไม่เกินหกเดือนหลังเริ่มพิจารณาวาระแรก รวมถึงไทม์ไลน์ขั้นตอนต่างๆ เช่น การส่งร่างฯ ที่รัฐสภาโหวตเห็นชอบไปฟังความคิดเห็นจากองค์กรต่างๆ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ -สำนักงานกกต. รวมเบ็ดเสร็จคาดกันว่า หากรัฐสภาเริ่มพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลูกทั้งสองฉบับในช่วงเดือนธันวาคม และบวกเวลาเข้าไปอีก 6 เดือน ก็คือไปถึงช่วงมิถุนายนหรือไม่เกินกรกฎาคม 2565 อันนี้กรณี รัฐสภาใช้เวลาเต็มที่ ไม่มีการเร่งเครื่องทำให้จบเร็วขึ้น ถ้าใช้เวลาไปตามกรอบข้างต้น  ก็เท่ากับว่า กระบวนการทั้งหมดจนถึงขั้นการนำร่างฯขึ้นทูลเกล้าฯ ถ้าทุกอย่างผ่านไปด้วยดี ก็น่าจะเสร็จในช่วงกลางปีหน้าพอดี

สิ่งที่แวดวงการเมือง กำลังจับตาก็คือ เมื่อการแก้ไขกฎหมายลูกเสร็จเรียบร้อย มีการประกาศใช้อย่างเป็นทางการอย่างช้าสุด ช่วงกลางปี2565 เมื่อถึงตอนนั้น

ความเป็นไปได้ในการยุบสภาฯ จะเกิดขึ้นได้หรือไม่ ?

หลังที่ผ่านมา พลเอกประยุทธ์ นายกรัฐมนตรียืนกรานหลายรอบ ทั้งในการให้สัมภาษณ์กับสื่อ-การพูดในที่ประชุมครม.หลายครั้งกับแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลว่ารัฐบาลจะอยู่ครบเทอม ไม่มีการยุบสภาฯ แน่นอน

เรื่อง “เงื่อนไข-โอกาส-ความเป็นไปได้ในการยุบสภาฯกลางปีหน้า” ก่อนหน้านี้ แวดวงการเมือง วิเคราะห์และพูดกันมาหลายรอบแล้ว

โดยพบว่า แกนนำพรรคการเมืองทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้าน ต่างมองว่ามีโอกาสเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะหากมีการแก้ไขกฎหมายลูกสองฉบับเสร็จกลางปีหน้า ถึงช่วงนั้น ก็เท่ากับ สภาฯอยู่มาเกินสามปีแล้ว อีกทั้งก็ใกล้จะถึงช่วงอายุรัฐบาลครบสามปีในเดือนสิงหาคมปีหน้าเช่นกัน และช่วงดังกล่าว การจัดทำร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 น่าจะแล้วเสร็จเกือบหมดแล้ว

ทุกอย่างจึงถือว่ามีความเป็นไปได้หากนายกฯจะยุบสภาฯ เพื่อจัดเลือกตั้งภายใต้กติกาเลือกตั้งบัตรสองใบ

ต้องไม่ลืมว่า สมัย “รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” เป็นนายกฯ ก็มีการแก้ไขรธน.พ.ศ. 2550 ที่เสนอแก้ไขรายมาตรา ในเรื่องเปลี่ยนระบบการเลือกตั้งจากเดิมที่ตอนเลือกตั้งปี 2550 ในส่วนของส.ส.เขตนั้น มีการใช้ระบบ “เขตใหญ่เรียงเบอร์-400 คน” ก็มีการแก้ไขเป็น “วันแมนวันโหวต-เลือกตั้งเขตละคน รวม400 คน” รวมถึงแก้ระบบเลือกตั้งที่ใช้แบบสัดส่วนแบ่งตามโซนจังหวัด-รายภาค จำนวน 80 คน ก็แก้กลับไปเป็นระบบบัญชีรายชื่อ 100 คน

และเมื่อมีการแก้ไขเสร็จ มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไข และแก้ไขกฎหมายลูกตามมาจนเสร็จครบทุกขั้นตอน  ก็ทำให้ อภิสิทธิ์ ยุบสภาฯก่อนครบวาระ  เพื่อให้มีการเลือกตั้งในระบบใหม่ เพราะสภาฯชุดดังกล่าว มาจากระบบเลือกตั้งแบบเดิม

จึงมีการประเมินกันว่าหลังจากนี้ เมื่อการแก้ไขกฎหมายลูกทั้งสองฉบับแล้วเสร็จ  ฝ่ายค้านและม็อบนอกรัฐสภา รวมถึงกลุ่มต่างๆ จะออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ บิ๊กตู่ ยุบสภาฯ เพื่อจัดเลือกตั้งในระบบใหม่ แน่นอน  ซึ่งถ้าฝ่ายค้านและม็อบ เคลื่อนไหวเรียกร้องในประเด็นนี้ ถือว่ามีน้ำหนักพอสมควร อาจทำให้ม็อบกลับมาคึกคักได้อีกครั้ง  จนอาจทำให้ บิ๊กตู่ ต้องคิดหนัก หากจะลากสภาฯ ต่อไปจนครบสี่ปี ถึงเดือนมีนาคม 2566

ส่วนเรื่องที่ว่า พลเอกประยุทธ์ ยุบสภาฯไม่ได้เพราะรัฐบาลต้องเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม กลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) ประจำปี 2565

เรื่องนี้ มองในความเป็นจริงแล้ว ไฮไลท์สำคัญจริงๆ ของการจัดประชุมเอเปคดังกล่าว จะเกิดขึ้นช่วง พฤศจิกายน 2565 ที่เป็นการประชุมระดับผู้นำ (APEC Economic Leaders’ Meeting – AELM) โดยใช้เวลาแค่ 7 วันเท่านั้น

มีการมองกันว่า หากนายกฯจะยุบสภาฯกลางปี แล้วมีการจัดเลือกตั้ง-มีการตั้งรัฐบาลใหม่หลังเลือกตั้ง ยังไง ก็เสร็จทันได้รัฐบาลชุดใหม่ ก่อนประชุมผู้นำเอเปคแน่นอน

และถ้าหากมีการเร่งแก้ไขกฎหมายลูกเสร็จ โดยที่ทุกอย่างเสร็จก่อนจะถึงการยื่นญัตติเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลสมัยหน้า ฯ ปี 2565 มันก็อาจเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้ นายกฯอาจเริ่มคิดถึงความเป็นไปได้ในการยุบสภาฯ ก็ได้

ถ้าไปถึงช่วงดังกล่าว โดยที่พลเอกประยุทธ์ ยังไม่สามารถเคลียร์ปัญหาในพลังประชารัฐ กับกลุ่ม ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐได้ เพื่อที่ นายกฯจะได้ไม่ต้องไปง้อ เอาอกเอาใจ พวก ส.ส.-นักการเมืองในพลังประชารัฐและพรรครัฐบาล เพื่อขอเสียงโหวตไว้วางใจ เพื่อไม่ให้ตกม้าตายกลางสภาฯ เหมือนกับที่นายกฯ เคยเกือบโดนมาแล้วตอนซักฟอกรอบล่าสุด แต่ดีที่พลิกสถานการณ์ทัน แต่บิ๊กตู่ ก็เสียฟอร์มไปเยอะที่ต้องไปง้อนักการเมือง ซึ่งเป็นบุคลิกที่ฝืนกับตัวเอง  ทำให้ พลเอกประยุทธ์ คงไม่ยอมให้เกิดเหตุแบบนั้นขึ้นอีกแล้ว หากไม่มั่นใจในเสียงสนับสนุนจากส.ส.รัฐบาลก่อนถึงศึกซักฟอกปีหน้า

ด้วยเงื่อนไขการเมืองข้างต้น แม้ต่อให้ ตอนนี้ พลเอกประยุทธ์ จะยืนกรานหนักแน่น อยู่ครบเทอม-ไม่ยุบสภาฯ แต่หากวันข้างหน้า สถานการณ์เปลี่ยน การเมืองพลิก

ถ้าพลเอกประยุทธ์ เห็นว่ายุบสภาฯดีกว่าลากยาวไปให้ครบเทอม ความเป็นไปได้ที่ จะมีการยุบสภาฯ กลางปีหน้า ก็ใช่ว่าจะเกิดขึ้นไม่ได้เสียทีเดียว ถึงต่อให้ พลเอกประยุทธ์ ยืนยันเสียงแข็งไม่ยุบ ก็ตามเถอะ 

แสดงความเห็น