“เศรษฐพงค์” ชี้ ทุกภาคส่วนต้องปรับตัว รับมือเทคโนโลยี 5G ภาครัฐต้องปลดล็อกให้เกิดธุรกิจใหม่

“เศรษฐพงค์” ชี้ ทุกภาคส่วนต้องปรับตัว-เปลี่ยนบทบาทรับมือเทคโนโลยี 5G ภาครัฐต้องปลดล็อกให้เกิดธุรกิจใหม่ได้ง่ายเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แนะให้โอกาสคนรุ่นใหม่สร้างธุรกิจผ่าน Start Up เป็นพื้นฐานอนาคตของประเทศไทย

พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กมธ.ดีอีเอส) กล่าวในงาน Redefine Businesses with 5G Forum 2021 ในหัวข้อ “ขับเคลื่อน 5G ในไทยอย่างยั่งยืน” ว่า การขับเคลื่อนระบบ 5G ในประเทศไทย ให้ส่งผลอย่างยั่งยืนนั้น จะต้องมาดูในหลายๆมิติ ซึ่งเราต้องมีความเข้าใจระบบ 5G ก่อน ข้อมูลที่รวดเร็วขึ้นการสื่อสารที่ดีขึ้นไม่ใช่สิ่งสำคัญแล้ว เพราะระบบสื่อสารได้เปลี่ยนมุมมองใหม่ เข้าสู่โลกแห่งการวิเคราะห์ เมื่อการวิเคราะห์มีความซับซ้อนมากขึ้น มีความฉลาดมากขึ้น จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วแบบที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน เช่น ในองค์กรต่างๆ การทำงานของผู้คน การใช้ชีวิตจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิงในทศวรรษนี้ 5G ไม่ใช่แค่การบวกเพิ่มจาก 4G ขึ้นมาอีก 1G เท่านั้น เนื่องจาก 5G ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของเซ็นเซอร์นับพันล้านชิ้นทั่วโลกสามารถเชื่อมต่อกันได้ ทำให้ระบบอัตโนมัติเกิดขึ้น ปัญญาประดิษฐ์หรือ AI จะเข้ามาช่วยวิเคราะห์ในการคาดการณ์อนาคตมากขึ้น ดังนั้นระบบ 5G จึงไม่เหมือนระบบ 3G หรือ 4G

พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าวอีกว่า สำหรับโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของระบบ 5G ในขณะนี้ผู้ประกอบการระบบโทรคมนาคม ก็ไม่ใช่แค่ผู้ที่สร้างระบบสื่อสารให้ประชาชนเพียงอย่างเดียวแล้ว แต่ได้เปลี่ยนบทบาทไป ถ้าจะขับเคลื่อนอย่างมีประสิทธิภาพและสัมพันธ์กับการพัฒนาประเทศนั้น ผู้ให้บริการจะต้องเป็นผู้ให้คำปรึกษา มีการเชื่อมโยงองค์กรไปยังองค์กรอัตโนมัติได้ และให้คำปรึกษาในการเปลี่ยนผ่านให้กับองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ผู้ที่ผลิตอุปกรณ์ก็ต้องเปลี่ยนบทบาทเช่นกัน ในการเข้ามาช่วยผู้ให้บริการ สามารถมีอุปกรณ์และเทคโนโลยีที่ทันสมัย สอดคล้องกับโลกในอนาคตด้วย รวมทั้งสถานที่ทำงานก็จะเปลี่ยนแปลงไปด้วย ดังนั้น ในส่วนนี้ทั้งหมดจะต้องมีการพูดคุยกันและเป็นผู้ให้คำปรึกษาทั้งภาครัฐและเอกชนที่จะทำดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสบความสำเร็จ สำหรับ กสทช. และกระทรวงดิจิทัล ต้องพยายามที่จะไม่กำหนดกฎเกณฑ์ที่บังคับจนเกินไปจนทำให้ไม่สามารถขับเคลื่อนเทคโนโลยีได้  สิ่งนี้สำคัญอย่างยิ่ง การกำกับดูแลต้องเอื้ออำนวยต่อการพัฒนาประเทศ พัฒนาระบบเศรษฐกิจ ทำให้ระบบทั้งภาคธุรกิจและภาครัฐประสานสอดคล้องกันไปได้ เดินไปข้างหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ

พ.อ.เศรษฐพงค์ ยังกล่าวอีกว่า 5G ต้องอาศัยระบบคลาว ซึ่งประเทศไทยมีความโชคดี ที่ที่ตั้งของเราเหมาะสมและเอื้อต่อการพัฒนา ดังนั้น EEC จะต้องมีการขับเคลื่อนอย่างมีประสิทธิภาพจากกระทรวง และมีการส่งเสริมสนับสนุนที่เหมาะสมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นภาครัฐและเอกชนต้องร่วมมือกันสร้างแหล่งรวมผู้เชี่ยวชาญ เพื่อทำให้ระบบนิเวศน์สอดคล้องใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะสามารถช่วยพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ๆให้กับประเทศ  คนรุ่นใหม่จะเข้ามามีบทบาทในการเข้ามาช่วยเราคิดธุรกิจใหม่ๆ ดังนั้นภาครัฐจะต้องให้ความมั่นใจว่าเด็กๆและคนรุ่นใหม่เหล่านี้ จะสามารถสร้างธุรกิจผ่าน Start Up ใช้ระบบ 5G ได้ง่ายและมีประสิทธิภาพ ตลอดจนสนับสนุนส่งเสริมเรื่องกองทุนต่างๆ

“ไม่ว่าเทคโนโลยีจะก้าวไปอย่างรวดเร็วอย่างไรก็ตาม หากภาครัฐไม่สามารถปลดล็อกให้ภาคเอกชนเกิดการรวมตัวกันหรือทำให้เกิดการลงทุนได้อย่างง่าย หรือมีอุปสรรคมากเกินไปจนไม่สามารถลดกำแพงเหล่านั้นลงได้ ก็จะไม่ประสบความสำเร็จในการขับเคลื่อน 5G อย่างยั่งยืนในประเทศไทย ผมหวังว่าทุกท่านในอนาคตอันใกล้นี้ จะเข้ามาร่วมมือกันในรูปแบบของสภาหรือองค์กรเพื่อที่จะช่วยกันคิดต่อไปว่าเราจะก้าวต่อไปได้อย่างไร” พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าว

แสดงความเห็น