รมว.ยุติธรรม ส่ง สยจ. ช่วยเยียวยาเด็กถูกพ่อทำร้ายที่สุพรรณฯ-สาวเอนฯ ถูกรุมโทรม

รมว.ยุติธรรม ส่ง สยจ. ช่วยเยียวยาเด็กถูกพ่อทำร้ายที่สุพรรณฯ-สาวเอนฯ ถูกรุมโทรมที่ชลบุรี กำชับหน่วยงานทำงานเชิงรุก แจงผู้ต้องหา 2 คดีปลดกำไล EM ไปแล้ว ยันระบบคุมประพฤติเข้มข้น ซัดพวกบัวใต้ตมทำสังคมระแวง ขออย่าเหมารวม 

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงกรณีพ่อทำร้ายลูก​ที่ จ.สุพรรณบุรีว่า เบื้องต้นได้รับรายงานว่า​ ทราบชื่อผู้​ต้องหาคือ นายเมธี​ ศรีสุวรรณ​ ซึ่งได้รับการพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษจากเรือนจำอำเภอ​ธัญบุรี​ ได้รับการปล่อยตัวเพื่อคุมความประพฤติ ที่สำนักงานคุมประพฤติ​กรุงเทพ​ ​เมื่อวันที่ ​2 ​เม.ย. ​2564​ และได้ขอโอนรายงานตัวไปที่ สำนักงานคุมประพฤติจังหวัดสุพรรณบุรี​ ซึ่งมีภรรยา​เป็นผู้อุปการะในเขตอำเภอบางปลาม้า จากนั้นได้รับอภัยโทษ​ เมื่อวันที่ ​16​ ก.ย. และพนักงานคุมประพฤติได้ปลดกำไล EM เมื่อวันที่ 22 ​ก.ย. โดยตนได้สั่งให้สำนักงาน​ยุติธรรม​จังหวัด​สุพรรณบุรี​ ช่วยเหลือผู้เสียหายแล้ว​ กรณีเด็กถูกทำร้ายบาดเจ็บสาหัส จากการกระทำความผิดอาญาของผู้อื่น มีสิทธิได้รับการเยียวยา ตามพ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทน และค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 โดยจะได้รับการพิจารณาช่วยเหลือ ดังนี้ ค่ารักษาพยาบาล ไม่เกิน 40,000 บาท ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายและจิตใจ 20,000 บาท และค่าตอบแทนความเสียหายอื่น 50,000 บาท ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด 

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ส่วนอีกกรณีคือ สาวเอนเตอร์เทน ได้แจ้งความ ถูกคนร้ายล่อลวงไปรุมโทรมภายในบ้านพักแห่งหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ อ.สัตหีบ โดยนายชาญณรงค์ หิรัญ เจ้าของบ้านและหนึ่งในผู้ต้องหา อยู่ระหว่างการพักโทษในคดียาเสพติด โดยเบื้องต้นได้ตรวจสอบแล้วพบว่า นายชาญณรงค์ได้รับการปลดกำไล EM ไปแล้ว 

สำนักงานยุติธรรมจังหวัดชลบุรีดำเนินการให้ความช่วยเหลือ ประสานไปยังผู้เสียหายเพื่อแจ้งสิทธิการให้ความช่วยเหลือตาม พ.ร.บ.ค่าตอบแทนฯ โดยจะได้รับค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการรักษาพยาบาล 40,000 บาท ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกายและจิตใจ 20,000 บาท ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ ฯ ตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของจังหวัดชลบุรี วันละ 336 บาท ตามระยะเวลาที่ผู้เสียหายไม่สามารถประกอบอาชีพได้ไม่เกิน 1 ปี และค่าตอบแทนความเสียหายอื่นไม่เกิน 50,000 บาท ทั้งนี้ การพิจารณาจ่ายค่าตอบแทนผู้เสียหายในคดีอาญา เป็นดุลพินิจของคณะอนุกรรมการฯ ประจำจังหวัด โดย ตนได้กำชับให้ทั้งสำนักงานยุติธรรมจังหวัดและกรมคุมประพฤติ ดำเนินการเชิงรุกแล้ว แต่เราทำได้แค่ตามหน้าที่ จะไปก้าวล่วงเรื่องของคดีไม่ได้ 

“ผมไม่อยากให้สังคมตระหนกกับกลุ่มผู้พักโทษด้วยเหตุพิเศษ อย่าไปเหมารวม คนที่ได้รับการพักโทษจะมีแค่เปอร์เซ็นเดียว ซึ่งเป็นส่วนที่น้อยมาก คือพวกบัวใต้ตม แม้จะได้รับโอกาสแล้วแต่ก็มักจะไม่สำนึกกลับไปทำผิดซ้ำอีก ทำให้ผู้ที่ได้รับการพักโทษหรือสวมกำไล EM มีภาพลักษณ์ที่ไม่ดีกับสังคม แต่คนที่ออกไปส่วนใหญ่จะกลับตัวเป็นคนดี ไม่กลับไปกระทำผิดซ้ำอีก และตนขอชี้แจงว่าระบบการคุมประพฤติด้วยกำไล EM มีความปลอดภัย ติดตามได้แม่นยำและเคร่งครัด มีอาสาสมัครคุมประพฤติในพื้นที่ช่วยติดตาม ซึ่งหากกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎหมาย JSOC สำเร็จ การคุมประพฤติของกลุ่มผู้ต้องขังกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวังจะมีความเข้มข้นมากขึ้นอีก เพื่อลดการกลับมากระทำผิดซ้ำ และสร้างความปลอดภัยให้สังคมมากขึ้นกว่าเดิม” นายสมศักดิ์ กล่าว 

แสดงความเห็น