รอยปริร้าวใน ปชป. ระวังซ้ำรอยเดิม เลือดไหลออก

“จุรินทร์ ลักษณะวิศิษฐ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์” และแกนนำพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ยังคงเดินหน้าเปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคปชป.อย่างต่อเนื่องแบบรายสัปดาห์ ภายใต้คอนเซ็ปต์ 

“เลือดใหม่ไหลเข้า เลือดเก่าไหลกลับ”

โดยมีการเปิดตัวสลับรายภาค-รายจังหวัดอย่างถี่ยิบในช่วงนี้ 

กระนั้นก็ตามที ระหว่างที่แกนนำพรรคปชป. ออกตัวเร็วในการวางแผนเตรียมพร้อมเลือกตั้ง  ที่พบว่าหลายจังหวัดถึงขั้นมีการคัดเลือก-วางตัวผู้สมัคร ส.ส.เขตกันแล้ว อย่างเช่นที่ “ภาคใต้” 

ทว่าในการออกตัวเร็วของพรรคปชป.ดังกล่าว กลับปรากฏว่า ดันมาเกิดปัญหาขึ้นภายในพื้นที่และภายในพรรคเกี่ยวกับการคัดเลือกตัวผู้ลงสมัคร ส.ส.เขต จนคนในพรรคมีความระหองระแหงกัน จากความไม่ลงตัวในการวางตัวผู้สมัคร ส.ส.เขตในบางจังหวัด อย่างเช่นที่พังงา-พัทลุง จนกลายเป็นเรื่องเป็นราว ปรากฏออกมานอกพรรค

โดยเฉพาะที่ “พัทลุง” เพราะแกนนำพรรค “นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีตรองหัวหน้าพรรคภาคใต้ และอดีต ส.ส.พัทลุง 8 สมัย” ที่จะไม่ลงสมัครส.ส.เขตรอบหน้า แต่ยังต้องการมีบทบาทในการคัดเลือกคนลงสมัครส.ส.แทนตนเอง แต่ปรากฏว่า โดนคนในพรรคและนักการเมืองในพื้นที่พัทลุงด้วยกันเอง วางแผนจะดันคนของฝ่ายตัวเองลงเสียบแทน โดยไม่ถามความเห็น นิพิฏฐ์ จนทำให้ นิพิฏฐ์ ออกมาโวยวายว่า ทำแบบนี้เหมือนกับเป็นการไม่ให้เกียรติกัน

เรื่องนี้ทำเอาการเมืองในปชป.ร้อนแรงอย่างมาก เพราะ นิพิฏฐ์ ถือว่าเป็นนักการเมืองอาวุโสของปชป. การแสดงความไม่พอใจดังกล่าวออกมาสู่สาธารณชน จึงย่อมไม่เป็นผลดีกับปชป.แน่นอน  ร้อนแรงถึงขั้นมีข่าวว่า แกนนำพรรคอย่าง ชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ ต้องโทรเคลียร์กับนิพิฏฐ์ และนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย รองหัวหน้าพรรคภาคใต้ ให้จบปัญหาดังกล่าว อย่าให้บานปลาย ซึ่งถึงตอนนี้ ก็มีกระแสข่าวว่า ยังเคลียร์กันไม่ลงตัว และคงต้องรอให้ มีการปิดห้องคุยกันอย่างจริงจังของวงประชุมทีมภาคใต้ของปชป.หลังเปิดสภาฯ 1 พ.ย.  ต่อไป 

ที่น่าสนใจก็คือ เวลานี้แม้ดูภายนอก พรรคปชป.จะมีความเป็นเอกภาพกันดี ในยุค จุรินทร์ เป็นหัวหน้าพรรค เฉลิมชัย ศรีอ่อน เป็นเลขาธิการพรรค แต่ลึกๆ แล้ว ภายในพรรคยังมีการแบ่งขั้ว แบ่งกลุ่มกันอยู่ โดยเฉพาะกลุ่มสายที่ไม่พอใจ การบริหารงานของกลุ่มจุรินทร์ ในเรื่องการบริหารงานการเมืองภายในพรรคปชป. ในบางเรื่อง

อย่างเช่น จนถึงตอนนี้ ปชป.ก็ยังไม่มีการปรับครม.ภายในพรรค ทั้งที่ผ่านมาร่วมสองปีแล้ว ส่วนการปรับล่าสุด ที่ส่งชื่อ สินิตย์ เลิศไกร ส.ส. สุราษฎร์ธานี  ไปเป็น รมช.พาณิชย์ ก็ไม่ใช่การปรับเปลี่ยนอะไร เป็นแค่การตั้งไปแทน ถาวร เสนเนียม ที่หลุดจากตำแหน่งรมช.คมนาคม เพราะโดนศาลตัดสินจำคุกคดีกปปส.เท่านั้น แต่ในส่วนของรัฐมนตรีของปชป.เวลานี้ ยังไม่มีการปรับเปลี่ยนปรับออกใดๆ จึงทำให้บางคนในปชป. ที่รอลุ้นหวังจะได้เป็นรมต.บ้าง เลยมีข่าวว่า ชักเริ่มอึดอัดขึ้นมาบ้างแล้ว เพราะมองว่าควรมีการปรับเปลี่ยนให้คนอื่นได้เข้าไปเป็นรมต.บ้าง แต่ก็ไม่มีสัญญาณใดๆ ออกมาจากจุรินทร์ ที่จะให้ปรับครม.ภายในพรรคปชป.  

ขณะที่เรื่องการเตรียมพร้อมส่งคนลงเลือกตั้ง ก็มีข่าวว่า คนในปชป. ก็มองว่า การดำเนินการต่างๆ ทาง “กลุ่มจุรินทร์” ไม่ปล่อยให้คนในพรรคปชป.สายอื่นๆ ได้มีส่วนร่วมเท่าที่ควรในการคัดเลือกผู้ลงสมัคร  โดยเฉพาะพื้นที่เป้าหมายอย่าง ภาคใต้ ที่มีคนต้องการลงสมัครในนามปชป.เยอะ  เพียงแต่เนื่องจากตอนนี้ สัญญาณเลือกตั้งยังไม่ชัด จึงทำให้ปัญหาดังกล่าวยังไม่ปริออกมานอกพรรคมากนัก 

เว้นแต่บางพื้นที่ซึ่งเริ่มมีปัญหา ถึงค่อยมีข่าวออกมาอย่างเช่นที่พัทลุง-พังงา แต่จริงๆ แล้วก็ยังมีอีกหลายแห่งที่เริ่มจะเกิดปัญหาใกล้เคียงกัน 

เช่นที่ “สงขลา” ข่าวว่าให้จับตาดูให้ดี อาจได้เห็นการ “งัดข้อ” กันอีกครั้งระหว่าง “กลุ่มนิพนธ์ บุญญามณี มท.2-รองหัวหน้าพรรคภาคใต้” ที่ถือเป็นมือทำงานการเมืองคนสนิทของจุรินทร์ ที่จะงัดกับ “กลุ่มถาวร เสนเนียม อดีตรมช.คมนาคม -ส.ส.สงขลา”

หลังมีกระแสข่าวว่า เริ่มเห็นเค้าลางความไม่ลงรอยกันของสองกลุ่มดังกล่าว ที่งัดข้อกันมานานแล้วในพรรคปชป. แต่จะกลับมางัดหนักขึ้นเมื่อถึงช่วงที่พรรคปชป.ต้องเคาะตัวผู้สมัครส.ส.เขต สงขลาทั้งหมด 

ท่ามกลางกระแสข่าว ฝ่ายกลุ่มถาวร ต้องการให้ คนของฝ่ายตัวเองที่เคยเป็นเจ้าของพื้นที่เดิมอย่างเช่น “เจือ ราชสีห์ อดีตส.ส.ปชป.เขต1 จ.สงขลา” ควรต้องกลับมาได้ลงสมัครส.ส.เขตอีกครั้ง หลังเลือกตั้งรอบที่แล้วปี 2562  ต้องหลีกทางให้ สรรเพชร บุญญามณี ลูกชายของนิพนธ์ แต่ปรากฏว่า สรรเพชร กลับสอบตกแพ้ให้กับพลังประชารัฐ 

จึงทำให้กลุ่มถาวร จะใช้เหตุผลนี้มาขวาง ไม่ให้นิพนธ์ ดันลูกชายลงสมัครรอบหน้าอีกครั้ง  ซึ่งก็มีข่าวว่า ฝ่ายนิพนธ์ ก็อาจไม่ยอมง่ายๆ รวมถึง อาจเป็นไปได้ที่ กลุ่มของ นิพนธ์ คงต้องการเซ็ตทีมของตัวเอง ส่งคนลงสมัครส.ส.สงขลา เกือบทุกเขต ยกเว้นเขตของ ถาวร  ซึ่งฝ่าย กลุ่มถาวร ก็คงไม่ยอมเช่นกัน  

นี้แค่ที่สงขลา จังหวัดเดียว ก็แสดงให้เห็นถึง แรงกระเพื่อมภายในปชป.ที่พร้อมจะระเบิดออกมานอกพรรคปชป.แน่นอน หากถึงตอนช่วงใกล้เลือกตั้ง โดยข่าวหลายกระแสบอกว่า ปัญหาเรื่องการเตรียมส่งคนลงเลือกตั้ง ก็เริ่มจะมีให้เห็นในอีกบางจังหวัดเช่น “นครศรีธรรมราช” ซึ่งก็เป็นจังหวัดที่คนในปชป. มีการแบ่งกลุ่มแบ่งขั้วกันเองแบบที่สงขลาเช่นกัน   

ดังนั้น ที่เห็นกันตอนนี้ว่า ภายในปชป. มีปัญหาขัดแย้งกันเรื่องการเตรียมส่งคนลงเลือกตั้งที่ พัทลุงหรือที่พังงา จริง ๆแล้ว ข่าวว่า มีมากกว่านี้ เพียงแต่ จะปรากฏชัดให้เห็นในช่วงมีสัญญาณการเลือกตั้งที่ชัดเจนมากกว่านี้ 

เค้าลางความไม่ลงรอยกันของคนในพรรคปชป. ที่เริ่มปะทุออกมาดังกล่าว ทำให้ คนในพรรคเริ่มออกมาแสดงความเห็นถึงเรื่องทิศทางพรรคปชป.หลังจากนี้มากขึ้น จนทำให้ถูกมองว่า เหมือนกับต้องการกระทบชิ่งไปถึงกลุ่มจุรินทร์ ใช่หรือไม่     ไม่ว่าจะเป็น “กนก วงษ์ตระหง่าน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์” ที่ออกมาสนับสนุนนิพิฎฐ์ หรือ “พนิต วิกิตเศรษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์” ที่เรียกร้อง ให้พรรคปชป. เร่งปรับตัวเลิกจมปลักการเมืองเก่าเพื่อหยุดเลือดไหลบุคลากรดีตีจากพรรค 

โดยความเคลื่อนไหวที่ปรากฏออกมา แม้คนในปชป.จะไม่ได้สื่อสารหรือบอกอะไรตรงๆ แต่ทางการเมือง ก็อ่านออกได้ไม่ยากว่า ในปชป.มีปัญหาภายในแน่นอน เพียงแต่ด้วยความเป็นพรรคที่มีระบบระเบียบแน่นอน ปัญหาส่วนใหญ่จะคุยกันในพรรคแล้วก็จบ เสียงโวยวายนอกพรรค แม้อาจมีบ้าง แต่จะไม่ดังเหมือนพรรคอื่นๆ 

ผนวกกับช่วงหลัง แกนนำปชป. ใช้วิธีว่าพอมีปัญหาภายในพรรค ก็จะให้แกนนำลงมาเคลียร์ให้ปัญหานั้น จบหรือได้รับการคลี่คลายโดยเร็ว ไม่ต้องการให้ยืดเยื้อ มีปัญหาค้างคาใจ เพราะแกนนำพรรคปชป.ก็ไม่ต้องการให้เกิดปัญหา “เลือดไหลออก” แบบที่ผ่านมาอีกแล้ว เพราะตั้งแต่หลังเลือกตั้ง ก็มีเลือดไหลออกจากพรรคปชป. ไปหลายคน 

ไม่ว่าจะเป็นอาทิ กรณ์ จาติกวณิช อดีตรมว.คลังที่ออกไปตั้งพรรคกล้า พร้อมกับ อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีตส.ส.กทม. -นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ที่ออกไปอยู่กับพรรครวมพลังประชาชาติไทยอยู่ช่วงหนึ่ง ก่อนออกมาตั้งพรรคไทยภักดีในปัจจุบัน -พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค อดีตรมว.ยุติธรรม ที่ลาออกไปทำงานกับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในตำแหน่งที่ปรึกษานายกฯและปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ รวมถึง อนุชา บูรพชัยศรี อดีต ส.ส.กทม.ปชป.ที่ลาออกไปเป็นเลขานุการรมว.ศึกษาธิการก่อนจะขยับเป็นโฆษกรัฐบาลและรองเลขาธิการนายกฯในปัจจุบัน -วิฑูรย์ นามบุตร อดีตรองหัวหน้าพรรคปชป.ภาคอีสาน เป็นต้น 

รอยปริร้าวที่เริ่มปรากฏในการวางแผนเตรียมส่งคนลงเลือกตั้งของปชป.ข้างต้น แม้อาจจะยังไม่ได้รุนแรงถึงขั้นแตกหักอะไร แต่แกนนำปชป.คงระมัดระวังกันมากขึ้น เพื่อไม่ให้สถานการณ์ภายในพรรคบานปลาย เพราะไม่เช่นนั้น ปรากฏการณ์ เลือดไหลออกจากปชป. อาจมีให้เห็นอีกครั้งหลังจากนี้ก็เป็นไปได้ 

แสดงความเห็น