ศบค.เร่งระดมฉีดวัคซีน 4 จังหวัดชายแดนใต้-จังหวัดนำร่องท่องเที่ยว

ศบค.เร่งระดมฉีดวัคซีน 4 จังหวัดชายแดนใต้-จังหวัดนำร่องท่องเที่ยว ขณะศบค.ชุดเล็ก เข้มการเปิดประเทศ หยุดยาว 4 วัน เน้นมาตรการป้องกันสูงสุดแบบครอบจักรวาล

พญ.สุมนี วัชรสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค ในฐานะผู้ช่วยรองโฆษก ศบค. กล่าวถึงข้อมูลการฉีดวัคซีนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้พบว่า มี จ.ยะลา เพียงจังหวัดเดียวที่ฉีดวัคซีนให้ประชาชนทั่วไปเกินร้อยละ 50 ของประชากรในจังหวัด ขณะที่การฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มผู้สูงอายุ มี จ.ยะลา สงขลา นราธิวาส ที่ฉีดเกินร้อยละ 50 แล้ว โดยหลังจากนี้กระทรวงสาธารณสุขจะเร่งส่งวัคซีนเข้าไปเพื่อให้เร่งฉีดวัคซีนประชาชน ขณะที่ในส่วนพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว 15 จังหวัด หรือถ้ารวมกับจังหวัดนำร่องระยะแรก 2 จังหวัด คือ ภูเก็ต และพังงา ก็จะเป็น 17 จังหวัด ที่จะเปิดนำร่องท่องเที่ยวระยะที่หนึ่งในวันที่ 1 พ.ย.นี้ ซึ่งทางส่วนกลางได้ส่งวัคซีนสนับสนุนไปเพิ่มเติมในจังหวัดนำร่อง กลุ่มนี้แล้ว 7 แสนโดส จึงขอให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่นำร่องท่องเที่ยวหรือสีฟ้านั้นได้เข้ามารับการฉีดวัคซีนให้มากๆ ทั้งนี้ มีการฉีดครอบคลุมประชากรทั่วไปเกินร้อยละ 50 จำนวน 12 จังหวัด ได้แก่ กทม. สมุทรปราการ กระบี่ พังงา ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ชลบุรี ระนอง เชียงใหม่ ระยอง ตราด โดยเหลือเพียง 3 จังหวัดที่ยังฉีดวัคซีนได้น้อยกว่า 50% ได้แก่ เลย หนองคาย อุดรธานี ส่วนการฉีดวัคซีนให้ผู้สูงอายุในจังหวัดนำร่องท่องเที่ยว มี 10 จังหวัดที่ฉีดเกิน 50% แล้ว ได้แก่ สมุทรปราการ ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี เชียงใหม่ เลย บุรีรัมย์ หนองคาย อุดรธานี ระยอง ตราด และมี 5 จังหวัดที่ฉีดเกิน 70% ได้แก่ กทม. กระบี่ พังงา ชลบุรี ระนอง ซึ่งหลังจากนี้จะเร่งส่งวัคซีนไปในพื้นที่นำร่องดังกล่าว

พญ.สุมนี กล่าวว่า ที่ประชุม ศบค.ชุดเล็ก ได้ประชุมเรื่องการเปิดประเทศ เพื่อที่จะปรึกษาวางแผนแนวทางการเปิดประเทศจากหน่วยงานต่างๆ โดยได้ข้อสรุปเบื้องต้น ดังนี้ ขอพิจารณาหลักในการเปิดประเทศประกอบด้วย 3 ปัจจัยสำคัญ คือ 1.ปัจจัยมาตรการทางสาธารณสุข 2. ปัจจัยที่เกี่ยวเนื่องกับภาคเศรษฐกิจ โดยแยกเป็น 2 เรื่อง คือเรื่องแรกการท่องเที่ยว เรื่องสองคือการมาทำธุรกิจในประเทศไทย 3. ปัจจัยพิจารณาในเรื่องของประเทศนั้นจะต้องมี ความสอดคล้องมาตรการ ระหว่างประเทศให้เข้ากับประเทศไทยได้ เช่น การเข้าออกประเทศ

พญ.สุมนี กล่าวว่า ข้อพิจารณาหลักทั้ง 3 ข้อ จะเป็นหลักในการพิจารณาเปิดประเทศและรูปแบบในการพิจารณาเข้าประเทศนั้นแบ่งเป็น 3 รูปแบบใหญ่ คือ 1. การเข้ามาในสถานที่กับการที่รัฐกำหนดให้ เหมือนที่เคยกำหนดมาแต่เดิมอยู่แล้ว ซึ่งไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือชาวต่างชาติที่ได้รับวัคซีนไม่ครบ แล้วเข้ามาในประเทศเราก็ต้องเข้าสู่มาตรการกักกัน ไม่ว่าจะเป็น 7,10,14 วัน แล้วแต่กรณี 2.แบบแซนด์บ็อกซ์ หรือแบบพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว เพิ่งจะเกิดขึ้นในระยะที่หนึ่ง ใน 17 จังหวัดด้วย 3. แบบไม่กักตัว ซึ่งแบบที่ 2 และ 3 นั้น จะต้องมีเงื่อนไขคือต้องได้รับวัคซีนครบทั้งสองเข็มเป็นหลัก

พญ.สุมนี กล่าวว่า ส่วนคุณสมบัติของผู้ที่จะเดินทางเข้าประเทศไทยที่เคยมีการชี้แจงไว้แล้วจะต้องเป็นผู้ที่นอกจากฉีดวัคซีนครบแล้ว ต้องได้รับการตรวจ RT-PCR จากประเทศต้นทาง ว่าไม่ได้รับเชื้อ 72 ชั่วโมง ควรมีการทำประกันสุขภาพอย่างน้อย 50,000 เหรียญสหรัฐ และเมื่อมาถึงประเทศไทยแล้วจะต้องมีการตรวจ RT-PCR ซ้ำ ในวันแรกที่มาถึงทันที และเมื่อผลการตรวจเป็นลบจึงจะเดินทางต่อไปได้

พญ.สุมนี กล่าวว่า การประชุมเตรียมการเปิดประเทศจะมีการประชุมอย่างต่อเนื่อง เพราะจะต้องมีการวางแผนอย่างรอบคอบ มีความประณีตที่จะเปิดประเทศ โดยเป้าหมายหลักคือถึงแม้ว่าเปิดประเทศไปแล้ว ประชาชนไทยจะต้องมีความปลอดภัยและที่สำคัญระบบสาธารณสุขของไทยสามารถรองรับเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงหรือต้องใช้แผนเผชิญ เมื่อเกิดเหตุ หรือสถานการณ์ไม่คาดคิดไม่คาดฝันเกิดขึ้น และจะมีการรายงานผลการประชุม ศบค.ชุดเล็กเป็นระยะ

พญ.สุมนี กล่าวว่า ช่วงวันหยุด 4 วันนี้ เชื่อว่าจะมี ประชาชนเดินทางข้ามจังหวัดเนื่องจากวันหยุดยาว อย่างไรก็ตาม ในการทำกิจการกิจกรรมใดขอให้ยังคงเข้มมาตรการส่วนบุคคลเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นการสวมหน้ากากผ้า หน้ากากอนามัยอยู่ตลอดเวลา ใช้แอลกอฮอล์เจลในการล้างมือ เว้นระยะห่าง เน้นมาตรการป้องกันสูงสุดแบบครอบจักรวาล ถือเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นอย่างมาก เพราะนอกเหนือจากการได้รับวัคซีนครบแล้ว มาตรการส่วนบุคคลจะทำให้เราลดการติดโรคโควิด-19 และลดการแพร่โรคไปให้คนอื่นได้ด้วย

แสดงความเห็น