การปฏิวัติดาวเทียมครั้งใหม่ พลิกโฉมอุตสาหกรรมโทรคมนาคม

บทความโดย : พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย รองประธานกรรมาธิการการสื่อสาร การโทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สภาผู้แทนราษฎร และอดีตประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.)

ปัจจุบันผู้คนอาจได้เริ่มเห็นการปฏิวัติดาวเทียมครั้งใหม่จากบริษัทด้านเทคโนโลยีอวกาศ อย่างเช่น SpaceX และ OneWeb ภายในปี 2021 โดยกิจการอวกาศใหม่ (new space) จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกผันในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมด้วย โดยเฉพาะตลาดอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ เนื่องจากในปี 2019 สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) ได้ประมาณการว่าอัตราการเข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ตต่อจำนวนประชากรโลกอยู่ที่ 51.4% โดยมีช่องว่างทางดิจิทัลหรือความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล (Digital divide) ระหว่างเมืองและชนบทกำลังเพิ่มขึ้น ประชากรร้อยละ 37 ของผู้อาศัยในเขตชนบทสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่บ้านได้ ในขณะที่ประชากรประมาณร้อยละ72 ของผู้อาศัยในเขตเมืองสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่บ้านได้ ซึ่งมีสัดส่วนมากกว่าประชากรที่อาศัยในพื้นที่ชนบทเกือบสองเท่า ดังนั้นหนึ่งในเป้าหมายของผู้ให้บริการบรอดแบนด์ผ่านดาวเทียมก็คือเพื่อลดช่องว่างทางดิจิทัลของผู้อาศัยในเขตเมืองและเขตชนบท แต่เนื่องจากจะต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก ทั้งทางด้านอุปกรณ์และโครงสร้างพื้นฐาน

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีโครงการดาวเทียมวงโคจรต่ำ หรือ LEO มากกว่า 10 โครงการ ซึ่งโครงการที่มีข้อได้เปรียบและถือได้ว่าเป็น first-mover ก็คือ Starlink ของ SpaceX เนื่องจากมีดาวเทียมที่ใช้งานอยู่มากกว่า 1,500 ดวง Starlink จึงเป็นเครือข่ายที่ใหญ่ที่สุดในวงโคจรต่ำ (LEO) Elon Musk ได้ทวีตข้อความล่าสุดว่าในขณะนี้ Starlink ได้จัดส่ง terminals ไปกว่า 100,000 เครื่องให้กับผู้ใช้ใน 14 ประเทศ โดยมีการยื่นขอใบอนุญาตในหลายประเทศ ซึ่งยังไม่ได้เริ่มให้บริการเชิงพาณิชย์อย่างเต็มรูปแบบ บริการบรอดแบนด์ผ่านดาวเทียมของ Starlink สามารถมอบประสบการณ์ที่เทียบเท่ากับบริการอินเทอร์เน็ตแบบคงที่ (fixed-based internet service) โดยรายงานล่าสุดของ Ookla ระบุว่าในไตรมาสที่ 2 ของปี 2021 Starlink เป็นผู้ให้บริการบรอดแบนด์ผ่านดาวเทียมเพียงรายเดียวในสหรัฐอเมริกา ที่มีความหน่วงเวลา 45 ms และความเร็วในการดาวน์โหลดเฉลี่ย 97.23 Mbps (เทียบกับ 14 ms และ 115 Mbps ของบรอดแบนด์แบบคงที่) นอกจากนี้ Starlink ยังมีความเร็วเฉลี่ยในการดาวน์โหลดมากกว่าบรอดแบนด์คงที่ในหลายๆ ประเทศ อย่างเช่น แคนาดา เยอรมนี นิวซีแลนด์ และสหราชอาณาจักร

สถิติทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่า Starlink มีบริการบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตที่แข็งแกร่ง เมื่อมีดาวเทียม Starlink ขึ้นสู่วงโคจรมากขึ้น โอกาสที่จะเกิด downtime ก็จะลดลงอย่างมาก และยังสามารถปรับปรุงความหน่วงเวลาและความเร็วอีกด้วย และ Elon Musk เชื่อมั่นว่าความเร็วของ Starlink จะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าหรือประมาณ 300 Mbps ภายในสิ้นปี 2021 นี้ จากความเร็วเฉลี่ยในปัจจุบันที่ 50 – 150 Mbps

ผู้ประกอบการอีกหลายรายกำลังเตรียมที่จะเปิดตัวโครงการกลุ่มดาวเทียมใหม่ (constellation projects) นอกเหนือจาก Starlink ของ SpaceX ได้แก่ OneWeb, Kuiper ของ Amazon และ Lightspeed ของ Telesat โดยคู่แข่งหลักๆ ของ Starlink ในแง่ของขนาด เป้าหมาย และตลาดเป้าหมายก็คือ Kuiper ของ Amazon  โดยบริการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมของ Starlink ซึ่งมีกำหนดเปิดให้บริการในเชิงพาณิชย์ตั้งแต่เดือนกันยายน 2021

ในขณะที่โครงการต่างๆ กำลังมีการพัฒนาบรอดแบนด์ผ่านดาวเทียมอย่างต่อเนื่อง แต่ Starlink ก็ยังคงเป็นผู้นำเนื่องจากสามารถเข้าถึงผู้ใช้ปลายทางได้อย่างรวดเร็วที่สุด โดยการเข้าถึงผู้บริโภคโดยตรง และยังสามารถนำคู่แข่งของ Amazon อย่างเช่น Microsoft และ Google มาสู่การเชื่อมต่อบริการคลาวด์ของตนเอง ไปยังอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมของ Starlink ได้ หนึ่งในอุปสรรคที่สำคัญที่สุดสำหรับผู้ให้บริการดาวเทียมในปัจจุบัน คือต้นทุนการผลิตที่สูง เช่น ต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับอุปกรณ์ภาคพื้นดิน (user terminals) ซึ่งมีผลกระทบอย่างมากต่อราคาค่าบริการบรอดแบนด์

ดังนั้นการลดต้นทุนการผลิตเพื่อเพิ่มความสามารถในการจ่ายของผู้ใช้บริการจึงเป็นหนึ่งในวิธีที่เหมาะสม โดย SpaceX ได้รายงานว่า Starlink ผลิต user terminals แต่ละเครื่องในราคาประมาณ 1,500 เหรียญสหรัฐฯ แต่เรียกเก็บเงิน 499 เหรียญสหรัฐฯ ต่อเครื่องเท่านั้น เพื่อให้บริการที่มีราคาไม่แพง แต่ราคา 499 เหรียญสหรัฐฯ นั้นยังสูงเกินไปสำหรับประชากรในชนบทในประเทศกำลังพัฒนา เช่น อินเดีย ดังนั้น SpaceX จึงได้ตั้งเป้าหมายที่จะลดต้นทุนของ user terminals ให้มีต้นทุนประมาณ 250 – 300 เหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2565 เพื่อให้สามารถเข้าถึงตลาดผู้บริโภคที่อ่อนไหวต่อราคาได้กว้างขวางมากขึ้น 

การบริการโทรศัพท์ด้วยเสียงผ่านดาวเทียมจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมโทรคมนาคมอย่างพลิกโฉม เมื่อเริ่มมีกลุ่มดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรจำนวนมากขึ้น ทำให้บทบาทของผู้ให้บริการดาวเทียมขยายตัวกลายไปเป็นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงด้วย โดย Starlink ก็เป็นหนึ่งในผู้ให้บริการที่กำลังจะเป็นเช่นนั้น ซึ่ง Starlink ได้ยื่นเรื่องต่อ FCC เพื่อให้ตัวเองเป็นผู้ให้บริการโทรคมนาคมที่มีสิทธิ์ในการให้บริการโทรศัพท์ด้วยเสียง ซึ่งเป็นภัยคุกคามที่สำคัญสำหรับบริษัทโทรคมนาคม และเมื่อเร็ว ๆ นี้ ยังมีกระแสข่าวว่า Apple ผู้จำหน่ายสมาร์ทโฟนชั้นนำ จะนำคุณสมบัติการสนับสนุนการเชื่อมต่อดาวเทียม LEO มาใช้กับ iPhone รุ่นใหม่ล่าสุด ซึ่งจะช่วยให้ผู้ใช้สามารถโทรออกได้โดยไม่ต้องใช้สัญญาณจากเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ แต่ใช้สัญญาณผ่านดาวเทียมแทน ซึ่งคุณลักษณะดังกล่าวจะมีความสำคัญสำหรับผู้ให้บริการดาวเทียมอย่างมาก เนื่องจากผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือชั้นนำรายอื่นๆ ก็อาจจะต้องนำคุณลักษณะนี้มาไว้ในสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ๆ ของตนเองอย่างแน่นอน 

Starlink ผู้ประกอบการรายใหญ่ จะยังคงครองตลาดบรอดแบนด์ผ่านดาวเทียมต่อไป เนื่องจากได้รับเงินอุดหนุน 886 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จาก FCC เพื่อให้บริการบรอดแบนด์ผ่านดาวเทียมในพื้นที่ชนบทในสหรัฐอเมริกา ซึ่งทำให้ Starlink มีอิทธิพลที่จะสามารถบังคับผู้ให้บริการดาวเทียมของคู่แข่งในการควบรวมหรือร่วมมือกัน จากการสัมภาษณ์ CEO ของ SES และประธานบริษัท Viasat ที่ต่างระบุในทำนองเดียวกันว่าได้มีการหารือเกิดขึ้นในการควบรวมกิจการ ส่วน OneWeb ได้ร่วมมือกับผู้ให้บริการดาวเทียมอย่างเช่น Hughes และ Eutelsat ในขณะที่ OneWeb เองก็มีการเจรจากับ Telesat และ Nelco ของ Tata Group ด้วย

อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะเป็นการควบรวมกิจการหรือความร่วมมือระหว่างบริษัทต่างก็เป็นวิธีการเพื่อให้แน่ใจว่าบริษัทสามารถเข้าถึงเงินทุนได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการรักษาธุรกิจของผู้ให้บริการในอุตสาหกรรมบรอดแบนด์ผ่านดาวเทียมให้อยู่รอดต่อไปได้

แสดงความเห็น